โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก      

  • กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
  • เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
  •  เมียนมา  เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
  • สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 23.04.2563

พัฒนาการที่สำคัญดังนี้

  • เวียดนามยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
  • เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 นายกรัฐมนตรีเวียดนามเห็นชอบให้ลดระดับกรุงฮานอยนครโฮจิมินห์ จ.บั๊กนิงห์ จ.เหิ่วซาง จากกลุ่มเมืองจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมาก เป็น ความเสี่ยงปานกลาง และผ่อนผันมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม
  • กระทรวงคมนาคมอนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ และเปิดเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างจังหวัดอื่นๆ
  • โรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยในกรุงฮานอยเตรียมจะเปิดเรียนในวันที่ 4 พ.ค. 2563 สำหรับโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมจะเปิดเรียนในวันที่ 11 พ.ค. 2563
  • รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบแผนงานที่จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีเงินได้และค่าเช่าที่ดินเป็นเงิน 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

เวียดนามเผยยอดลงทุน FDI 12.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 4 เดือนแรก

กรมส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ (FIA) กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เปิดเผยว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศไปยังเวียดนาม 12.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าว ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 และ 2560 ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกนี้ มีโครงการลงทุนจากต่างชาติ 984 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 6.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 9 สำหรับจำนวนโครงการ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 สำหรับมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 หรือมูลค่า 5.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจีน ไต้หวันและเกาหลีใต้ ตามลำดับ ในขณะที่ เมืองบักเลียวได้รับเม็ดเงินลงทุน FDI สูงสุด รองลงมาฮานอยและบิ่ญเซือง ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลของการศึกษาสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเม็ดเงินลงทุน FDI จะลดลงต่ำกว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ หากไวรัสยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/715866/viet-nams-fdi-hits-1233-billion-in-the-first-4-months.html

JETRO : เผยธุรกิจต่างชาติชื่นชมการปรับปรุงนโยบายการค้าของเวียดนาม

รองประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่าผู้ประกอบการต่างชาติชื่นชมความพยายามในการปรับปรุงนโยบายการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม อย่างใกล้ชิดกับแนวโน้มโลก จากการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) ระบุว่าเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และเข้าร่วมองค์การค้าโลก รวมถึงข้อตกลง CPTPP ขณะที่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายปฏิรูป ‘โด่ยเหมย’ ในปี 1986 ทั้งนี้ GDP ของเวียดนาม เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1986 มาอยู่ที่ 245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 นับว่าเป็นอัตราเติบโตสูงสุดในอาเซียน การเติบโตดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติและการส่งออกขยายตัว นอกจากนี้ ผลการสำรวจของเจโทรเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับการดำเนินงานของธุรกิจญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ระบุว่าธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 วางแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังเวียดนาม สำหรับความคิดเห็นดีที่สุดนั้น เป็นเรื่องของขนาดตลาดและศักยภาพในการเติบโตของตลาด พร้อมกับความมั่งคงทางสังคมและการเมือง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/jetro-vice-chairman-foreign-firms-laud-vietnams-improving-global-trade-policies/172418.vnp

เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่ม 38,000 ตัน

จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าส่วนบริการศุลกากรออนไลน์เพิ่มรายการส่งออกข้าวเพิ่มอีก 38,000 ตัน ในวันที่ 26 เม.ย. โดยปริมาณข้าวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโควตาส่งออกข้าวสำหรับเดือนเม.ย. 400,000 ตัน, เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามจำกัดการส่งออกข้าวปริมาณ 800,000 ตัน ในเดือนเม.ย.และพ.ค. เพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตในประเทศจะเพียงพอ ท่ามกลางความต้องการสูงขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ปริมาณดังกล่าวลดลงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.และ พ.ค. ในขณะเดียวกัน ปริมาณสำรองข้าวแห่งชาติเพิ่มขึ้นจาก 300,000 ตัน อยู่ที่ 700,000 ตัน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/additional-38000-tonnes-of-rice-to-be-exported/172355.vnp

เวียดนามส่งออกลิ้นจี่ชุดแรกไปยังญี่ปุ่น ในสิ้นเดือนพ.ค.

นายเหงียน ซวน กวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เดินทางไปยังจังหวัดทางตอนเหนือ ‘บั๊กซาง’ เพื่อเตรียมส่งออก หน่วยงานท้องถิ่นกล่าวว่าทางจังหวัดได้ร่วมมือกับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ในการเลือกรหัสพื้นที่ 19 ด้วยขนาด 103 เฮกตาร์และผลผลิตประมาณ 600 ตัน รวมถึงขอให้ทางญี่ปุ่นอนุมัติรหัสดังกล่าว ซึ่งประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัด ระบุเสริมว่าทางจังหวัดพร้อมที่จะส่งออกผลไม้คุณภาพสูงและธุรกิจท้องถิ่นได้ทำสัญญาส่งออกไปยังญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในปี 2563 จังหวัดบั๊กซางมีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่ 28,000 เฮกตาร์ รวมถึงพื้นที่เก็บเกี่ยวมากกว่า 160,000 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 10,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะเดียวกัน พื้นที่ผลิตลิ้นจี่ตรงตามมาตรฐานฉลากสีเขียว ‘VietGAP’ ด้วยพื้นที่ประมาณ 15,000 เฮกตาร์และผลผลิต 110,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 และ 69 ของรวม ตามลำดับ อีกทั้ง มีพื้นที่เพาะปลูก 80 เฮกตาร์ ภายใต้มาตรฐาน ‘GlobalGAP’ ด้วยผลผลิตประมาณ 500 ตัน เพื่อเตรียมส่งออกไปยังตลาดระดับสูง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-export-first-batch-of-litchi-to-japan-in-late-may/172368.vnp

เวียดนามคาดไตรมาสแรก ยอดส่งออกกุ้งพุ่งไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมกุ้งเวียดนามในตลาดสำคัญสดใส ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดนเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) กล่าวว่า ญี่ปุ่นติด 5 อันดับแรกของตลาดส่งออกกุ้งรายใหญ่ของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ของมูลค่าส่งออกกุ้งรวม หลังจากในเดือนก.พ. ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวพุ่งขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกกุ้งอันดับ 2 ของเวียดนามในไตรมาสแรก เนื่องจากมีความต้องการอาหารจำเป็นเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมถึงกุ้งด้วย ท่ามกลางการแพร่ระบาดไวรัส ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรก เวียดนามส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 115.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน นับว่าเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาตลาดส่งออกสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกอื่นๆ กลับมีมูลค่าลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้และจีน เป็นต้น ถึงแม้ว่าไม่ทราบความชัดเจนเมื่อไรการระบาดจะสิ้นสุดลง แต่ความต้องการกุ้งทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-high-shrimp-export-growth-to-us-and-japan-in-q1/172232.vnp

ฮอนด้าเวียดนามเตรียมกลับมาผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จากวันที่ 23 เม.ย.

อนด้าเวียดนามออกมาประกาศว่าจะกลับมาผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จากวันที่ 23 เมษายนหลังจากระงับการดำเนินการมาแล้ว 22 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการกลับมาดำเนินงานต่อนั้น เนื่องมาจากเวียดนามสามารถควบคุมการระบาดได้ ด้วยไม่มีผู้ผู้ติดเชื้อรายใหม่มาแล้ว 6 วันที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ บริษัทได้ออกมาประกาศถึง 2 ครั้ง ในการระงับการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายน และครั้งที่ 2 วันที่ 15-22 เมษายน ถึงแม้ว่ายอดขายรถยนต์อยู่ที่ 1,968 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 157,984 คัน ลดลงร้อยละ 3 ทั้งนี้ ในเดือนนี้ ฮอนด้าเวียดนามส่งออกรถยนต์ 19,739 คัน ไปยังตลาดต่างๆ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/honda-vietnam-resumes-automobile-bike-production-from-april-23/172207.vnp