ผงะ! โรงงานอิฐในกัมพูชาใช้ขยะจากแหล่งผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังเป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ทำคนงานป่วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า The Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights หรือ LICADHO เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ระบุว่า ขยะจากแบรนด์สินค้าระดับโลกอย่างน้อย 19 แบรนด์ ซึ่งรวมทั้ง Adidas และ Walmart ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ในโรงงานอิฐหลายแห่งในกัมพูชา และส่งผลทำให้คนงานบางคนล้มป่วย ซึ่งจากการสัมภาษณ์พนักงานทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันของโรงงาน พบว่าขยะของโรงงานสิ่งทอ ทั้งผ้า พลาสติก ยางและวัสดุอื่นๆ จากแบรนด์ต่างๆ ถูกนำไปเผาตามโรงงานต่างๆ 7 แห่ง โดยโรงงานเหล่านี้นำขยะจากสิ่งทอมาเผาเพื่อประหยัดต้นทุนการซื้อเชื้อเพลิงอื่นๆ
ทั้งนี้ Adidas ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา คือขยะจากสิ่งทอทั้งหมดจะต้องถูกทำลายทิ้ง หรืออาจจะถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงานในโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ที่มีการควบคุมอย่างเต็มที่และการควบคุมคุณภาพอากาศ
GDT จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเกือบ 63 ล้านดอลลาร์
กรมสรรพากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ารวมกว่า 62.8 ล้านดอลลาร์ จากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี โดยเริ่มจัดเก็บนับตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ จากบริษัทต่างๆ เช่น Google, Facebook, YouTube, Alibaba, Microsoft และ TikTok หลังแพลตฟอร์มด้านการช้อปปิ้งออนไลน์ดังกล่าวกลายเป็นเทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของคนกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ โดยสร้างโอกาสมากมายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของคนในประเทศ สำหรับการจัดเก็บภาษีทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 85.8 ของเป้าหมายการจัดเก็บประจำปี ที่ได้กำหนดไว้มูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ จากการจัดเก็บภาษีและศุลกากร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2022
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501394733/gdt-collects-63-million-vat-on-e-commerce/
นายกฯ เร่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับอาลีบาบา หวังดันสินค้ากัมพูชาโต
ดร. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในระหว่างการไปเยือนประเทศจีนครั้งล่าสุดว่าปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับอาลีบาบาเพื่อผลักดันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาไปยังตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอาลีบาบามีลูกค้าเข้าใช้บริการนับหลายร้อยล้านรายทั่วโลก ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อขายผ่านตัวกลาง ด้านนายกฯ กล่าวเสริมถึงโอกาสในการขายสินค้าเกษตรของกัมพูชาโดยเฉพาะลำไยจากจังหวัดไพลินของกัมพูชาที่ได้เริ่มวางขายบนเว็บไซต์อาลีบาบาแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดดังกล่าว อีกทั้งทางการยังพร้อมที่จะผลักดันสินค้ากลุ่มหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก
‘เวียดนาม-กัมพูชา’ การค้าพุ่ง 5%
จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) เปิดเผยว่าการค้าระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าราว 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 2.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.9% ในขณะที่เวียดนามส่งออกไปยังกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 3.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.7% ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว กัมพูชาขาดดุลการค้าประมาณ 753.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างมาก 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
นอกจากนี้ คุณลิ้ม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศ พร้อมด้วยการขาดแคลนคลังสินค้า โรงงานแปรรูป และการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางชายแดน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงและการเติบโตของการค้า โดยเฉพาะการส่งออกของประเทศ
ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/business/vietnam-trade-up-5-on-last-year
กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศในช่วง 10 เดือนแรกของปี แตะ 4.11 ล้านคน
Mao Havannall รัฐมนตรีสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐกัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีผู้เดินทางซึ่งลงทะเบียนในระบบเดินทางทางอากาศมายังกัมพูชากว่า 4.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีสายการบินทั้งในและต่างประเทศประมาณ 32 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 41,596 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินตรงมากจาก 8 ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และมาจากจีน เกาหลีใต้ และกาตาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ
กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ลดลงเกือบ 17% หลังได้รับผลกระทบ
กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งได้รายงานการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชาไว้ที่มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 10.78 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ภาคการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญได้ระบุเสริมว่านอกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกของกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์บางรายสินค้าจาก สิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาลดลงจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เหลืออยู่ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 และลดลงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022
NBC ร่วมมือกับ AliPay ผนึกกำลังดัน KHQR ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และ Ant International ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการผลักดันรูปแบบการชำระเงินด้วยรหัส QR ข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยระหว่างเครือข่ายของ Bakong ผ่านรหัส QR ภายใต้ชื่อ KHQR ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล AliPay Connect Pte Ltd. หรือที่รู้จักในชื่อ Alipay เชื่อมกับเครือข่ายการชำระเงิน QR ทั่วโลก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 พ.ย.) ระหว่าง Chea Serey ผู้ว่าการ NBC และ Douglas Feagin รองประธานอาวุโสของ Ant Group ในระหว่างงาน Singapore Fintech Festival 2023 โดยผู้ว่าการ NBC ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อการชำระเงินของกัมพูชาเข้ากับทุกประเทศทั่วโลก ขณะที่ Alipay และ WeChat Pay ถือเป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้มีผู้บริโภคชาวจีนนิยมใช้มากที่สุดครองสัดส่วนการชำระเงินผ่านมือถือของประเทศจีนกว่าร้อยละ 92 หรือคิดเป็นจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคน
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392878/nbc-alipay-join-forces-to-allow-khqr-accept-worldwide/