‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเวียดนามกลายเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมไปถึงประชากรของเวียดนามกว่า 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี

ทั้งนี้ เธียร์รี่ เมอร์เม็ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท SOA กล่าวว่าบริษัทมองหาโอกาสทางการธุรกิจในเวียดนามและอาเซียน เนื่องมาจากเวียดนามแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และเม็ดเงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.5% อีกทั้ง ตัวชี้วัดที่สำคัญที่มีความได้เปรียบของเวียดนาม คือ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ เหตุจากการที่บริษัท VinFast เพิ่งกลายมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเมื่อพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด พบว่าตามหลังเพียงแค่เทสลา (Tesla) และโตโยต้า (Toyota)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-powerful-magnet-for-foreign-direct-investment-post129700.html

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อกัมพูชา ค้ำประกัน SME แตะ 140 ล้านดอลลาร์

ณ เดือนกรกฎาคมปีนี้ สถาบันค้ำประกันสินเชื่อแห่งกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวมกว่า 139.5 ล้านดอลลาร์แก่ภาคธุรกิจต่างๆ สำหรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน การลงทุน และการขยายธุรกิจ โดยมีการค้ำประกันสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจกว่า 1,648 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSME) 1,510 แห่ง และธุรกิจขนาดใหญ่ 138 แห่ง ที่ได้รับการค้ำประกันเงินกู้ ภายใต้โครงการของ CGCC มีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ (PFIs) กว่า 30 แห่ง ในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่สนใจเข้าร่วม โดยหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจนเข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลทำให้ธุรกิจ SME กลับมาเเติบโตอีกครั้ง ด้าน Mey Vann รัฐมนตรีต่างประเทศของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผู้ประกอบการและปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินในกัมพูชาเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346090/credit-guarantees-to-smes-reach-nearly-140-million/

จับตา SME เริ่มขาดสภาพคล่องสูงหลังแรงซื้อทั้งในและ ตปท.ดิ่งหนัก

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่รายได้กลับสวนทางลดต่ำลงเนื่องจากแรงซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศปี 2566 ภาพรวมต่างชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องหามาตรการมาช่วยเหลือในการให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยปัจจุบันภาคการผลิตและส่งออกของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และธุรกิจส่วนใหญ่มี SMEs อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากที่ต้องยอมรับว่าภาคส่งออกของไทยครึ่งปีแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและแม้แต่การค้าชายแดนเองก็ปรับตัวลดลงจึงกระทบต่อ SMEs ภาพรวมที่บางส่วนต้องปรับลดกำลังการผลิตลงตามคำสั่งซื้อที่ลดต่ำ และหากปัญหานี้ยังคงมีมากขึ้นอาจต้องปิดตัวลงซึ่ง ส.อ.ท.กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000074361

“เวียดนาม” เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ ม.ค.-เม.ย. ลดลงฮวบ!

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือน เม.ย. 2566 พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 16,000 แห่ง และทุนจดทะเบียนรวม 154,600 พันล้านดอง เพิ่มขึ้น 12.3% และ 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ตามลำดับ ทำให้จำนวนรวมในช่วงเดิอน ม.ค.-เม.ย. 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 49,900 แห่ง และตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม อยู่ที่ 465,000 พันล้านดอง โดยในแง่ของจำนวนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% แต่ทุนจดทะเบียนรวมลดลงอย่างมาก

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/registered-capital-per-enterprise-in-vietnam-declines-in-jan-apr/

เมียนมาเลื่อนชำระสินเชื่อฟื้นฟู COVID-19 ออกไปหนึ่งปี

รัฐบาลเมียนมาได้เลื่อนการจ่ายเงินสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  ของเมียนมา ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 ออกไปอีกหนึ่งปี ซึ่งสินเชื่อนี้ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในภาคปศุสัตว์ เช่น และธุรกิจฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง รวมไปถึงธุรกิจของรัฐ สำหรับสินเชื่อนี้มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลาในการชำระคืน 1 ปี  โดยมีธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อนี้ไปทั้งสิ้น 325 บริษัท มูลค่าเงินกู้รวมทั้ง7.6 พันล้านจัต ซึ่งการเลื่อนชำระเงินกู้ออกไปจะเป็นผลดีเพราะสามารถนำเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/loan-maturity-date-for-livestock-sector-extended-for-one-year/

“เวียดนาม” เผยนับเป็นครั้งแรก จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ทะลุ 70,000 ราย

สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีจำนวน 76,233 ราย เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 70,000 ราย และธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการมีจำนวน 116,900 ราย ในขณะที่มูลค่าทุนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 882.1 ล้านล้านดอง (38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 นอกจากนี้ จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 50,909 ราย ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าส่ง ขายปลีก ซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 18,417 ราย คิดเป็น 36.2% รองลงมาคือธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 7,206 ราย และอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จำนวน 5,948 ราย ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1254327/newly-established-businesses-in-h1-exceed-70000-for-first-time.html

บริษัทเยอรมนีส่วนใหญ่ 93% ขยายกิจการธุรกิจในเวียดนาม

จากการสำรวจของสมาคมหอการค้าต่างประเทศของเยอรมนี (AHKs) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการเยอรมนีส่วนใหญ่ 93% ที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม มองว่ายังคงลงทุนในเวียดนามต่อไป สำหรับประเด็นมุมมองเศรษกิจในอนาคต ผู้ประกอบการเยอรมนีส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตไปในทิศทางที่เป็นบวกใน 12 เดือนข้างหน้า และผู้ตอบมากถึง 46% วางแผนที่จะเพิ่มการจ้างงานในปีหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการตัดสินใจที่จะทำการค้าการลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ เสียรภาพทางการเมือง ทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ นอกจากนี้ เวียดนามมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากเวียดนามมีความได้ปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/nearly-93-of-german-firms-say-will-expand-vietnam-operations/

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมหารือพัฒนาศักยภาพภาคการค้าระหว่างกัน

กัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีได้หารือร่วมกันถึงศักยภาพทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการอภิปรายเกิดขึ้นระหว่าง Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Gyuhwa Jang รองประธานสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลี (KOIMA) และคุณ Yu Lin ประธานบริษัท GADOSH Korea Co., Ltd. บริษัทนำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจในการทำธุรกิจในกัมพูชา และสนับสนุนให้ฝ่ายเกาหลีศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพอื่นๆ ของกัมพูชา เช่น ลำไยและกล้วย โดยยังแนะนำให้นักลงทุนเกาหลีลงทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069705/cambodia-korea-discuss-trade-potential/

หอการค้ากัมพูชา (CCC) จับมือ JETRO ยกระดับความร่วมมือด้านธุรกิจ

หอการค้ากัมพูชา (CCC) และองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในกัมพูชา ได้ให้คำมั่นระหว่างกันที่จะกระชับความร่วมมือในภาคธุรกิจ โดยในช่วงเดือน มกราคม-พฤศจิกายน ปีที่แล้ว การค้าระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่าแตะ 2,148 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) สองฉบับเกี่ยวกับการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือระหว่าง CCC และ JETRO กัมพูชา และระหว่าง ASEAN Business Advisory Council และ JETRO โดย CCC ได้วางแผนที่จะเปิดตัวศูนย์ประสานงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกมูลค่า 1,623 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501010092/ccc-jetro-to-take-business-cooperation-to-the-next-level/

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เล็งชงปรับลด VAT จาก 10% เหลือ 8% ในปี 65

หลังจากดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 350 ล้านล้านดอง (15 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ (VAT) เหลือ 8% ในปี 2565 (ลดลง 2% จากอัตราปัจจุบัน) เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. นายโฮ ดึก ฟอก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเวียดนาม กล่าวว่าการที่รัฐบาลดำเนินการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าภาษีเงินได้ เนื่องจากการลดภาษี VAT จะช่วยธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะผู้ที่รายงานผลกำไรเท่านั้น โดยบริษัทส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นสาขาโทรคมนาคม การธนาคารและการเงิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่และปิโตรเคมี และอื่นๆ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์และผู้ประกอบการ แสดงความกังวลว่าการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2% อาจไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและกิจกรรมทางธุรกิจได้ในปีนี้ ตลอดจนผลการบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. นับว่าเป็นการเสียโอกาสที่จะกระตุ้นการบริโภคก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษเวียดนาม (Lunar New Year)

ที่มา : https://www.nationthailand.com/international/40011214