ทางการกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 22%

กรมภาษีอากรกัมพูชา (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษี ณ ไตรมาส 1 ปี 2022 คิดเป็นมูลค่ารวม 1,263 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครอบคลุมร้อยละ 45 ของเป้าหมายการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 ซึ่งในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว GDT จัดเก็บภาษีได้ 750 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของรายได้ทั้งหมดที่ตั้งเป้าไว้ ในด้านของกรมศุลกากรและสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีได้มูลค่า 512 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกรมภาษีอากรยังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการตามกรอบนโยบายการคลังและมาตรการด้านการบริหารงาน ควบคู่ไปกับมาตรการสำคัญหลายประการเพื่อนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060747/tax-income-collection-rises-by-22-percent-in-q1/

Q1/2022 กรมศุลกากรกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีเกือบ 600 ล้านดอลลาร์

กรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (ACC) รายงานการเก็บภาษี ณ ไตรมาส 1 ปี 2022 ที่มูลค่า 2,428.6 พันล้านเรียล หรือเทียบเท่ากับ 597.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 23.2 ของแผนที่กำหนดไว้ประจำปี 2022 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 ลดลง 61.2 พันล้านเรียล หรือร้อยละ 2.5 ซึ่งแบ่งออกเป็นรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 943.8 พันล้านเรียล (เทียบเท่ากับร้อยละ 38.9 ของรายได้ทั้งหมด), ภาษีธุรกิจเฉพาะ 894.9 พันล้านเรียล (เทียบเท่ากับร้อยละ 36.8 ของรายได้ทั้งหมด), ภาษีศุลกากรจำนวน 436.3 พันล้าน เรียล (เทียบเท่าร้อยละ 18 ของรายได้ทั้งหมด), ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีจำนวน 100.9 พันล้านเรียล (เทียบเท่ากับร้อยละ 4.2 ของรายได้ทั้งหมด), ภาษีนำเข้า-ส่งออก และค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกจำนวน 52.8 พันล้านเรียล (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้ทั้งหมด)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501059681/customs-collected-nearly-600-million-in-revenue-in-the-first-quarter-of-this-year/

กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 512 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

กรมสรรพากรกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วง 2 เดือนแรกของปี มูลค่ารวมอยู่ที่ 512 ล้านดอลลาร์ (2,074.66 พันล้านเรียล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน ก.พ. เพียงเดือนเดียว กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีในหมวดภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18 ที่มูลค่า 190.15 พันล้านเรียล ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 252.78 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 ส่วนภาษีพิเศษเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 105.67 พันล้านเรียล หรือคิดเป็นร้อยละ 17.19 ภาษีเงินเดือนอยู่ที่ 98.42 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.17 และภาษีในการโอนอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 63.23 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้น 16.98

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042010/tax-collection-rises-22-to-512-million-in-two-months/

กัมพูชาขยายกรอบระยะเวลายกเว้นภาษีธุรกิจท่องเที่ยวไปอีก 6 เดือน

รัฐบาลกัมพูชาขยายกรอบระยะเวลาในการยกเว้นภาษี สำหรับสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวออกไปอีก 6 เดือนตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 2022 เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งทางการคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากปีนี้ หลังจากกัมพูชาได้เปิดให้นักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดแล้วสามารถเดินทางมายังกัมพูชาได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ภายในประเทศกว่า 16 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วนแล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501022398/cambodia-extends-tax-breaks-for-tourism-related-businesses-for-6-more-months/

ไทย เลิกเก็บภาษี ส่งออกข้าวโพดของเมียนมา

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 65 ถึง 31 สิงหาคมการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา ไปยังไทยผ่านชายแดนเมียวดีจะปลอดภาษี มีการส่งออกไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัน แต่ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตอนนี้มีโกดังข้าวโพดหลายแห่งในเมียวดีสามารถรองรับบรรทุกได้ถึง 500 คันต่อวัน แม้ว่าข้าวโพดจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังจีนได้แล้ว แต่ส่งออกไปยังไทยมากกว่าเนื่องจากจีนมีการเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวจีน ทั้งนี้การค้าระหว่างสองประเทศต้องหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรถบรรทุกของไทยได้รับอนุญาตให้บรรทุกสินค้าไปยังเขตการค้าและโกดังสินค้าทางฝั่งเมียนมาได้ แต่รถบรรทุกของเมียนมายังไม่ได้รับอนุญาตวิ่งผ่านด่านแม่สอด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/224982

ราคาแตงโมเมียนมาในตลาดจีน ร่วงหนัก!

ก่อนวันที่ 8 ม.ค.65 ราคาแตงโมคุณภาพคุณภาพดี อยู่ที่ 7 หยวนต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันลดฮวบต่ำกว่า 5 หยวนต่อกิโลกรัม  ศูนย์การค้าผลไม้ชายแดนมูเซได้ขอให้เกษตรกรรอการจัดส่งในวันที่ 10 ม.ค.65 อย่างไรก็ตาม ราคายังคงทรงตัวที่ 5 ถึง 7 หยวนต่อกิโลกรัม ความล่าช้าของรถบรรทุกทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของแตงโม ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากสวนสู่ตลาดจี นอกจากมาตรการจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แล้ว กฎระเบียบศุลกากรของจีนยังส่งผลให้เกิดความล่าช้าและด่านชายแดนจีนจะเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่จีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์และมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้จีนจำเป็นต้องปิดด่านชายแดนมูแซเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ด่านชายแดน Kyinsankyawt ระหว่างเมียนมาและจีน ได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ 8 ก.ค.64 และได้เปิดทำการค้าขายชั่วคราวอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.64 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/watermelon-prices-fall-again-in-chinese-market/

จีนยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชากว่าร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมด

จีนส่งเสริมภาคการค้าระหว่างกัมพูชา ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปในวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน อาทิเช่น วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวกำหนดไว้ว่าทั้งสองประเทศจะต้องยกเว้นการจัดเก็บภาษี หรือกำหนดภาษีการนำเข้าให้เป็นศูนย์ แก่สินค้านำเข้าจากอีกฝั่ง ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมสินค้านำเข้ากัมพูชามากกว่าร้อยละ 90 โดยทั้งสองประเทศวางแผนที่จะกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆเพิ่มเติม เช่น สนับสนุนภาคการค้า ภาคบริการ การลงทุน โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) และตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในปัจจุบันปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.9 คิดเป็นมูลค่า 10.98 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501001767/china-cambodia-to-promote-free-trade-deal-with-zero-tariff-on-more-than-90-percent-of-imports-from-cambodia/

เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1 ม.ค.2565 เปิดเสรี RCEP…. สร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนในภูมิภาค แต่ไทยยังต้องเจอการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นับเป็นการเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้ หลังเจรจามายาวนานถึงเกือบทศวรรษ ซึ่งการเปิดเสรีการค้ากับ 15 ชาติสมาชิกจะช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร โดยการเปิดตลาดยังเสริมให้ RCEP มีความน่าสนใจ

 

การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อานิสงส์ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี

 

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าระหว่าง FTA อาเซียนกับ Plus 5 หรือ RCEP 1) สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ เป็นต้น ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้พาติเคิลบอร์ด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 2) สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่ามีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับปกติร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลสดและหนังดิบของไทยก็อัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีสินค้าไปทั้งหมดตั้งแต่เปิดเสรี FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดเสรี RCEP ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

 

อานิสงส์ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ RCEP กลายเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่กว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ด้วยหลายปัจจัยบวกยิ่งทำให้ RCEP มีความพร้อมรอบด้านกลายเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในฟากฝั่งเอเชีย ดังนี้

 

กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่รวมทั้ง 15 ประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นข้อได้เปรียบที่เสริมให้ RCEP เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเข้าเป็นหนึ่งเดียว นักลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าสูงจากประเทศสมาชิกผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้สะดวกกว่า FTA อาเซียนกับ Plus 5

 

RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอย่างครบวงจรที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าไว้ด้วยกัน โดยความพิเศษอีกอย่างของ RCEP คือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้เข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน จึงมีความพร้อมในด้านการผลิตในฟากฝั่งเอเชีย

 

โดยสรุป ในเวลานี้ RCEP เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยมีมูลค่าถึง 132,704 ล้านดอลลาร์ฯ (11 เดือนแรกปี 2564) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 53.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวมีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนขยายตัวร้อยละ 18 (YoY) นำโดยการเติบโตของตลาดเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 38.8(YoY) ร้อยละ 25.9(YoY) และร้อยละ 10.4(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการเปิดเสรี RCEP ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากนัก ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 ก็อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย แต่อานิสงส์ที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนยังต้องขึ้นกับการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนใหม่กับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต่างก็ได้อานิสงส์นี้เหมือนกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/RCEP-z3298.aspx

รัฐบาลกัมพูชารายงานถึงผลการจัดเก็บภาษี ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี

ทางการรัฐบาลกัมพูชารายงานถึงรายรับของภาครัฐบาลที่สูงถึง 11,921 พันล้านเรียล (ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังรายงานว่ารายรับของรัฐบาลที่รวบรวมได้คิดเป็นกว่าร้อยละ 75 ของเป้าหมายในปีงบประมาณ 2021 ที่ได้กำหนดไว้ที่ประมาณ 15,895 พันล้านเรียล (ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์) สำหรับรายจ่ายของภาครัฐบาลได้ใช้จ่ายไป 15,552 พันล้านเรียล (ประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์) คิดเป็นร้อยละ 57 ของเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ที่ 27,285 พันล้านเรียล (6.8 พันล้านดอลลาร์) ที่ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า รายรับและรายจ่ายของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ภายใต้การควบคุมแม้ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของโครงการปฏิรูปการจัดการการเงินสาธารณะ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในความเพียงพอต่องบประมาณในการแก้ปัญหางานเร่งด่วนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50977133/government-revenue-reaches-75-percent-of-budget-bill-in-first-three-quarters/