พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

รถไฟสปป.ลาว-จีนจะเริ่มทดลองใช้ในเดือนหน้า

โครงการรถไฟสปป.ลาว-จีนจะนำตู้รถไฟ รถไฟไฟฟ้าแบบหลายหน่วย (EMU) และอุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาเพื่อดำเนินการทดลองรถไฟครั้งแรกในเดือนตุลาคม แผนดังกล่าวถูกนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการรถไฟลาว-จีน ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นที่เวียงจันทน์การก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีนจากจุดผ่านแดนบ่อเต็นในภาคเหนือของลาวที่ติดกับจีน ไปยังธนาแลงในเวียงจันทน์เสร็จสมบูรณ์ร้อยละ 93.82 คาดว่าทางรถไฟจะแล้วเสร็จตามแผนและจะเปิดให้ใช้สาธารณะได้ในวันที่ 2 ธันวาคม ทางรถไฟที่เชื่อมต่อเวียงจันทน์กับชายแดนจีน ลัดเลาะผ่านจังหวัดเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซ และหลวงน้ำทา และผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง ระยะทางรวม 197.83 กม. มีมูลค่า 5.986 พันล้านดอลลาร์ (37.4 พันล้านหยวน) การรถไฟลาว-จีนเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน และแผนของรัฐบาลสปป.ลาวในการเปลี่ยนสปป.ลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นทางเชื่อมทางบกภายในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Trains157.php

รถไฟขบวนแรกสปป.ลาว-จีน จะทดสอบเดินขบวนในเดือน ส.ค.

การดำเนินการทดลองรถไฟสปป.ลาว-จีนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ก่อนที่ทางรถไฟจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้ อีกทั้งการก่อสร้างสถานีตามเส้นทางรถไฟทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนและตุลาคม โดยมีสถานีโดยสาร 10 แห่งในเวียงจันทน์, โพนหง, วังเวียง, กาซี, หลวงพระบาง, งา, ไซ, นามอร์, นาเตย และบ่อเต็น นอกจากนี้ยังมีสถานีขนส่งสินค้า 22 สถานีสำหรับการขนถ่ายสินค้า โครงการสร้างทางรถไฟมูลค่า 5.986 พันล้านดอลลาร์ (37.4 พันล้านหยวน) เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน และแผนของรัฐบาลสปป.ลาวในการเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นทางเชื่อมทางบกภายในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_First_120.php

‘การรถไฟเวียดนาม’ ประสบปัญหา เหตุผู้โดยสารน้อยลง

การรถไฟแห่งเวียดนาม (VNR) เผยรายรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 หดตัวอย่างมาก 51.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้านการบริการโดยสารนั้น พบว่าจำนวนผู้โดยสารเหลือประมาณ 1.147 ล้านคน ลดลง 35.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำรายได้กว่า 17.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของการรถไฟแห่งเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขรายได้และความต้องการด้านการขนส่งและการเดินทาง ล้วนปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากข้อจำกัดในการเดินทางไปหลายๆ พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ส่งผลให้การรถไฟแห่งเวียดนาม ปรับลดการทำงานในเดือนพฤษภาคม โดยปัจจุบันเวียดนามเปิดขบวนรถไฟขบวนเดียว “ฮานอย-โฮจิมินห์”

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vnr-faces-difficulty-due-to-drop-in-passengers/202781.vnp

โอกาส-ความท้าทายโครงการรถไฟและทางด่วนสปป.ลาว-จีน

ถึงแม้จะมีโอกาสมากมายที่เข้ามายังสปป.ลาวผ่านโครงการลงทุนรถไฟสปป.ลาว – ​​จีนและทางด่วนเวียงจันทน์ – โบเตน แต่สปป.ลาวก็จำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาสครั้งนี้ ทางรถไฟและทางด่วนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสปป.ลาวที่จะเปลี่ยนประเทศจากการไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นแผ่นดินที่เชื่อมต่อในภูมิภาค อย่างไรก็ตามยังมีข้อควรพิจารณาที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประการแรกจำเป็นต้องสร้างถนนที่เชื่อมทางรถไฟกับแหล่งผลิตเพื่อให้ขนส่งสินค้าได้สะดวก ประการที่สองต้องบูรณาการโลจิสติกส์และบริการข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ประการที่สามการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนมากขึ้น ประการที่สี่ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาที่สปป.ลาวมากขึ้น โครงการดังกล่าวไม่เพียงแค่สร้างการพัฒนาแก่สปป.ลาวตามรายงานของซินหัว หากจีนและประเทศในอาเซียนทำการค้าโดยใช้ทางรถไฟผ่านสปป.ลาวจะได้รับประโยชน์มากขึ้นและจะสร้างมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นจากการขนส่งที่มีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Expert_2.php

การก่อสร้างสถานีรถไฟจีน-สปป.ลาวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

การเทคอนกรีตขั้นสุดท้ายของโครงสร้างหลักของสถานี Boten ซึ่งทำสัญญาโดย China Railway Construction Engineering Group แล้วเสร็จเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาแล้วขั้นตอนต่อมาจะเข้าไปสู่การติดตั้งโครงข่ายเหล็กการติดตั้งและตกแต่งระบบเครื่องกลไฟฟ้าซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564สถานี Boten ตั้งอยู่แขวงโบเตนในสปป.ลาวเป็นสถานีแรกในโครงการรถไฟความเร็วปานกลางจีน – สปป.ลาว โครงการรถไฟฟ้าจะนำความก้าวหน้ามาให้แก่สปป.ลาวจะทำให้สปป.ลาวเป็นประเทศที่เชื่อมต่อกับตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนรวมถึงการท่องเที่ยวที่โครงการจะเป็นส่วนสนับสนุนในการเดินทางที่สะดวกขึ้นอีกด้วย

ที่มา : http://www.ecns.cn/news/economy/2020-12-24/detail-ihaexsqc6150811.shtml

รัฐบาลสปป.ลาว-จีน ลงนามข้อตกลงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบรถไฟสปป.ลาว-จีน

รัฐบาลและ บริษัท การรถไฟสปป.ลาว – ​​จีน จำกัด ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟในเมืองหลวงและแขวงอุดมไซเวียงจันทน์และหลวงพระบางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ นายเสี่ยวเฉียนเหวินตัวแทนจากทางการจีนกล่าวในงานลงนามว่า              “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในพื้นที่เหล่านี้สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์การพาณิชย์และเศรษฐกิจในท้องถิ่น” ทางรถไฟสปป.ลาว – ​​จีนเป็นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์ของ China’s Belt and Road Initiative และแผนการของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนแปลงสปป.ลาวจากการไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นแผ่นดินที่เชื่อมโยงภายในภูมิภาค เมื่อเปิดให้บริการทางรถไฟจะลดต้นทุนการขนส่งผ่านทางตะวันตกเฉียงเหนือของสปป.ลาวได้ถึงร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนรัฐบาลมั่นใจว่าการรถไฟจะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและทำให้สปป.ลาวก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_lao_china_242.php

รถไฟจีน – สปป.ลาวก่อสร้างอุโมงค์ความยาว 17.5 กม. เสร็จสิ้นแล้ว

ส่วนหนึ่งของทางรถไฟจีน -สปป.ลาวซึ่งเป็นอุโมงค์ยาว 17.5 กม. แล้วเสร็จเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนหลังจากใช้ความพยายามอย่างหนักมา 4 ปี รถไฟจีน – สปป.ลาวเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่เชื่อมระหว่างสองประเทศ เมื่อเปิดการจราจรการเดินทางจะสั้นลงเหลือเพียงแปดชั่วโมงจากคุนหมิงของมณฑลยูนนานไปยังเวียงจันทน์เมืองหลวงของสปป.ลาว เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่จะนำสปป.ลาวไปสู่เมืองที่เชื่อมต่อยังประเทศมหาอำนาจอย่างจีนวึ่งเป็นตลาดที่สามที่นานาประเทสให้ความสนใจในปัจจุบัน

ที่มา : https://news.cgtn.com/news/2020-11-29/China-Laos-Railway-completes-construction-of-17-5-km-long-tunnel-VOm2zOLc4g/index.html

การวางรางรถไฟสปป.ลาว – จีน คืบหน้าไปกว่า 20%

บริษัท Laos-China Railway จำกัด ได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการระยะทาง 414.3 กม. ว่าการดำเนินงานของรากฐานจากนครเวียงจันทน์ไปยังชายแดนสปป.ลาว-​​จีนในแขวงหลวงน้ำทาเสร็จสมบูรณ์100% และการวางรางเหล็กคืบหน้าไปกว่า 21.4% ซึ่งปัจจุบันมีการเจาะอุโมงค์ 71 แห่งใน 75 อุโมงค์และการก่อสร้างสะพานรถไฟคืบหน้าไปกว่า 88% การติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงดำเนินการไปแล้ว 57.4 % อย่างไรก็ตามบางสถานียังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเนื่องจากผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 และหลายพื้นที่ยังอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยกับผู้ถือครองที่ดิน ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ 8 ของรัฐสภา (NA) ยังมีกระแสความคิดเห็นสาธารณะที่มั่นคงเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่ไม่แน่นอนในแขวงอุดมไซและนครเวียงจันทน์ ดังนั้น NA จึงแนะนำให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองแขวงยังคงทำงานร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ได้ข้อยุติที่น่าพอใจ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_china_148.php

โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีนยังคงมีการก่อสร้างในสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

แรงงานสปป.ลาวกว่า 30 คน กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟลาว-จีนที่เกือบจะแล้วเสร็จซึ่งจะเชื่อมโยงสปป.ลาวกับประเทศจีน แต่จากการระบาดCOVID-19 ทำให้นายจ้างผู้รับเหมาที่เป็นชาวจีนต้องกลับประเทศทำให้แรงงานก่อสร้างได้เงินเดือนล่าช้าพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการได้เงินเดือนที่ล่าช้า ภาคการก่อสร้างเป็นส่วนที่รัฐบาลออกคำสั่งให้จำกัดจำนวนคนงานและกำหนดให้คนงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทำให้อุตสาหกรรมบางแห่งหยุดทำงานอย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปแม้ว่าจะมีคนงานน้อยลงโครงการดังกล่าวขณะนี้เสร็จสมบูรณ์ 90% ได้รับการคาดการณ์ว่าจะทำให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนการส่งออกได้ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/railway-workers-04212020175011.html