รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางพร้อมคณะนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางพร้อมคณะนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ และการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมฯ ในฐานะประธานอาเซียนและปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมฯ กับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ทั้งนี้ การประชุมจะทบทวนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา และการกำหนดทิศทางในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า รวมถึงจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความเชื่อมโยง (connectivity) เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนระหว่างกัน และในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยกระดับการประชุมสู่ระดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม) กับสาธารณัฐเกาหลี โดยที่ประชุมจะรับรองปฎิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน โดยให้ความสำคัญกับประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค และสันติภาพ ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายของไทยที่จะส่งเสริมความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศสมาชิกจะร่วมชมนิทรรศการความร่วมมือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้หัวข้อ “วิถีชีวิตในลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงประชาชน สร้างอนาคตใหม่” (Life on the Mekong: Connecting People, Creating a New Future) ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมด้วย อนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ ประกอบด้วยสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และสาธารณรัฐเกาหลี

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/mfa/3070979

หนุนอีเพย์เมนต์อาเซียน

ประธานสำนักระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าในปี 63 มีแผนสนับสนุนธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศภายในอาเซียน ภายใต้แผน 3 ปีโครงการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการให้บริการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะเริ่มเห็นการให้บริการดังกล่าวชัดเจนขึ้นช่วงกลางปี 63 ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับบริการนี้แล้ว ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารเตรียมให้บริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด หลังจากที่ผ่านมาได้เปิดใช้คิวอาร์โค้ดระหว่างไทยกับสิงคโปร์ไปแล้ว ในปีนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการเพิ่มเติมระหว่างไทยและกัมพูชา และเปิดให้บริการระหว่างไทยและสปป.ลาวในไตรมาส 1 ปี 63 ทั้งนี้ ธนาคารยังได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกลางเมียนมา ให้เป็นผู้ชำระราคาระหว่างเงินบาทและเงินจ๊าด ซึ่งธนาคารจะขยายธุรกรรมการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดระหว่างไทยกับเมียนมาต่อไป นอกจากนี้ธนาคารมีแผนขยายการให้บริการไปทั่วอาเซียนและอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะเน้นตลาดสิงคโปร์และ CLMV เป็นหลัก ตามความพร้อมและโอกาสทางธุรกิจ โดยการโอนเงินระหว่างประเทศจะเน้นประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานในไทยและต้องการส่งเงินกลับบ้าน ส่วนการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดจะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวและร้านค้าเป็นหลัก

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2562 (กรอบบ่าย)

พาณิชย์ ปั้นผู้ประกอบการโคนมไทย ใช้เอฟทีเอชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดนมในจีนและอาเซียน ยกระดับสู่ฟาร์มโคนมยุคดิจิทัล นำเข้าเทคโนโลยี Smart Farming แห่งแรกในอาเซียน

จากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 62 ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อหารือผู้ประกอบการโคนมของไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” ซึ่ง จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพนมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของไทยให้พร้อมแข่งขันได้ในยุคการค้าเพื่อขยายตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูปไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน และจีน โดยได้ไปเยี่ยมชมโรงเลี้ยงโคนมของบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมแปร และยังได้รับรายงานว่าภายใต้โครงการดังกล่าว กรมเจรจาฯ ได้จัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วมอบรมบูธแคมป์ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ตลอดสำรวจตลาด และจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าของจีน และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถจับคู่ธุรกิจ และขยายการส่งออกไปจีนและสิงคโปร์ ยังมีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่างบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด กับบริษัท Delaval Export AB ของประเทศสวีเดน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมสมัยใหม่และเป็นที่ยอมรับในยุโรป ในการบุกเบิกนำเข้าเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมแบบ smart farming ผ่านโปรแกรมการจัดการฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบเดลโปร์ (Delpro Herd Management) เข้าสู่ภาคโคนมเป็นแห่งแรกในอาเซียน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 มูลค่าการส่งออกนมและนมแปรรูปของไทยอยู่ที่ 410.7 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.9% สินค้าส่งออกหลัก คือ โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ นมและครีม โดยคู่ค้าหลักยังคงเป็นประเทศในแถบอาเซียน เช่น กัมพูชา ขยายตัว 19.4% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 26.3% และสิงคโปร์ขยายตัว 6.9% รวมทั้งฮ่องกงและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงเอฟทีเอกับไทยและได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปให้กับไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเร่งใช้ประโยชน์ให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/beco/3068625

FDI เมียนมาโตช้าสุดในอาเซียน

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเมียนมาล่าช้าสุดในอาเซียนตามรายงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รายงานการลงทุนของอาเซียนปี 62 มีการลงทุนไหลสูงเป็นประวัติการณ์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนยกเว้นเมียนมาที่ลดลง โดยในปี 61 ลดลง 11% คิดเป็น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการลดลง 48% ของการลงทุนในอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ส่วนใหญ่การลงทุนมาจากบริษัทสิงคโปร์และบริษัทในเครือของจีนหรือฮ่องกง ในปี61 การลงทุนภายในอาเซียนมากกว่า 48% จะเป็นอินโดนีเซีย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ FDI หลั่งไหลเข้ามาใน CLMV เพิ่ม 4% เป็น 23 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้วคิดเป็น 15% ในอาเซียน เวียดนามเป็นผู้นำในการดึงดูดเงินลงทุนกว่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐในกลุ่มประเทศ CLMV การไหลเข้าสูงจะเป็นของกัมพูชาและเวียตนามทำให้การลงทุนแข็งแกร่งขึ้น FDI ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 155 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 61 จากที่ 147 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 60 เพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยขยายตัวจาก 9.6% ในปี 60 เป็น 11.5% ในปี 61 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 66% เข้าสู่ภาคบริการ (การเงิน ค้าส่งและค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์) ทำให้เป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน FDI ในเมียนมาส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการเก็บรักษา ข้อมูลและการสื่อสาร

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-lags-asean-sees-record-fdi.html

บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด คว้ารางวัล ASEAN Business Awards (ABA) 2019 (อาเซียน บิสิเนส อวอร์ดส 2019) อีกก้าวของความสำเร็จ

บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าลำลองแบรนด์แกมโบล (GAMBOL) และ คาเนีย (cania) แบรนด์รองเท้าชั้นนำของไทย เข้ารับรางวัล ASEAN Business Awards (ABA) 2019 ประเภท ASEAN Winner : Rubber-Based (หมวด ธุรกิจเกี่ยวกับยาง) ในงานประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มอบรางวัล ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีคู่ขนานสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน(ASEAN Summit) ที่จัดขึ้น เป็นประจำทุกปี เกณฑ์การตัดสินรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs สำหรับคณะกรรมการตัดสิน ABA (Panel of Judges) นั้น ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศละ 1 ท่าน รางวัลนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2550 โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อยกย่องเชิดชูธุรกิจที่มีความโดดเด่นในอาเซียน และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในการวางรากฐานและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/prg/3065610

ดุสิตโพล เผยปชช. 60.67 % มองถกอาเซียนได้ประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจ

วันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การประชุมอาเซียนครั้งที่ 35” ในสายตาประชาชน” จากประชาชนทั่วประเทศ 1,159 คน พบว่าประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้ คือร้อยละ 60.67 การลงนามความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ประชาชนประทับใจ/พอใจ การประชุมครั้งนี้มากที่สุด, ร้อยละ 46.98 จัดงานสำเร็จด้วยดีเป็นเจ้าภาพที่ดี ไม่มีสถานการณ์วุ่นวาย, ร้อยละ 31.99 มีการลงนามร่วมมือกันผลักดันเรื่องสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง, ร้อยละ 28.64 ผู้แทนแต่ละประเทศมาร่วมงาน ช่วยสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาคอาเซียน เป็นสิ่งที่ประชาชน “เป็นห่วง/กังวล” จากการประชุมครั้งนี้, ร้อยละ 49.12 ไม่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุม, ร้อยละ 29.24 ประเทศไทยอาจเสียเปรียบในบางข้อตกลง ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร, ประชาชนได้ประโยชน์จาการประชุมครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 44.35 ได้ประโยชน์อยู่มาก เพราะประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ร้อยละ 25.80 ได้ประโยชน์มาก เพราะเป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น, ร้อยละ 19.41 ไม่ค่อยได้ประโยชน์ และร้อยละ 10.44 ไม่ได้ประโยชน์ จัดการประชุมมาแล้วหลายครั้งแต่ยังเห็นผลช้า และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_1747282

ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนด้านพลังงาน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2562 เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 ต.ค.) เป็นโอกาสการฉลองความสำเร็จครบรอบ 2 ทศวรรษ กับการผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของไทย โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมและเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านการประกวดไทยแลนด์เอนเนอร์ยี่อวอร์ด (Thailand Energy Awards) อย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยปัจจุบันมียอดส่งผลงานเข้าประกวด รวม 3,465 ผลงาน ได้รับการคัดเลือกรับรางวัลในสาขาต่างๆ จำนวน 951 รางวัล คิดเป็นสัดส่วนลดการใช้พลังงานมูลค่ากว่า 9,300 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.9 ล้านตัน

ที่มา:https://www.ryt9.com/s/tpd/3056555

ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีด้านธุรกิจครั้งแรกในอาเซียน

  กำลังเตรียมจัดงานใหญ่คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุลประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล (AWEN) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีด้านธุรกิจ Women CEOs Summit ครั้งแรกในอาเซียน ในหัวข้อ Globalization 4.0 and Beyond : Shaping the Future of Women Enterprises (การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร : กำหนดทิศทาง ธุรกิจสตรี ก้าวล้ำ…สหัสวรรษ 4.0) ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้นำสตรีด้านธุรกิจ (CEO) ของประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกกลุ่มอาเซียนด้วย รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และผู้นำด้านสังคมที่เกี่ยวข้องประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายของสตรีในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมเชิญทูตานุทูตของประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน

         ที่มา: https://www.ryt9.com/s/nnd/3055453

ภาครัฐผนึกกำลังเอกชนดันไทยขึ้นแท่นฮับการเดินเรืออาเซียน

พิธีเปิดงาน Thailand Marine & Offshore Expo 2019 เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญประเทศ โดยปัจจุบัน 90% ของปริมาณการค้า ระหว่างประเทศ อาศัยการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากสามารถบรรทุกได้ในปริมาณมาก และมีต้นทุนการขนส่งที่ราคาถูกกว่าการขนส่งด้านอื่นๆ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรม ต่อเรือและซ่อมเรือ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำ เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการผลิตและการซ่อมเรือ อาทิ สี/เคมีภัณฑ์ การหล่อโลหะ เครื่องจักร อุปกรณ์เดินเรือ และเครื่องมือสื่อสาร อุตสาหกรรมกลางน้ำ อาทิ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอีกช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ของประเทศไทย ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ พร้อมเป็นเวทีสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ ให้กับ ผู้ประกอบการในประชาคมอาเซียน ภูมิภาคเอเชีย และระดับโลก โดยการจัดงาน Oil & Gas Thailand (OGET) 2019 Thailand งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี พร้อมกับงาน Thailand Marine & Offshore Expo (TMOX) 2019 โดยมีผู้ประกอบการจากไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน เป็นโอกาสในการขยายตลาดและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการต่อเรือ การเดินเรือ ภาคการขนส่ง อุตสาหกรรมการประมงนอกชายฝั่ง อุตสาหกรรมเรือท่องเที่ยว รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่ออนาคต (New S-Curve)

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/nnd/3054120

เวียดนาม อินโดนิเซีย เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคอาเซียน

จากรายงานวิจัยของบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Google, Temsek และ new partner Bain & Company เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39 ในปี 2562 และจะมีมูลค่ากว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศอินโดนิเซียและเวียดนามมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 40 ในขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20-30 ในขณะที่ เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายในปี 2568 อยู่ที่ 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวออนไลน์ และธุรกิจ Ride-Hailing เป็นต้น รวมไปถึงเวียดนามมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 61 ล้านคน และใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชม. 12 นาที ต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน นอกจากนี้ เวียดนามก้าวขึ้นมาอันดับ 3 ของจุดหมายในการลงทุนดิจิทัลภูมิภาคนี้ ด้วยมูลค่าเงินทุนกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 และช่วงครึ่งเดือนแรกปี 2562 โดยเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ เป็น 1 ใน 7 เมืองเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา :  https://vietnamnews.vn/economy/536446/viet-nam-indonesia-lead-asean-in-internet-economy-growth.html#t0jGYwAhAxtOfG7o.97