การขอสินเชื่อของผู้บริโภคภายในประเทศกัมพูชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

การขอสินเชื่อผู้บริโภคภายในประเทศลดลงกว่าร้อยละ 50 ในไตรมาสที่สองของปีเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในไตรมาสแรกตามข้อมูลล่าสุดของ Credit Bureau of Cambodia (CBC) โดย CBC เป็นผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตโซลูชัน การวิเคราะห์และบริการรายงานเครดิตชั้นนำให้กับธนาคาร สถาบันการเงินรายย่อย บริษัทให้กู้ยืม ผู้ให้บริการสินเชื่อ และผู้บริโภคในกัมพูชา ซึ่งกล่าวว่าในไตรมาสที่สองของปีนี้ทั่วประเทศมีสัดส่วนการยื่นขอกู้สำหรับหนี้สินส่วนบุคคลลดลงถึงร้อยละ 50 บัตรเครดิตลดลงถึงร้อยละ 43 และการขอสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยลดลงกว่าร้อยละ 51 โดยหนี้สินส่วนบุคคลภายในประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 8.73 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีอัตราส่วนของการชำระคืนล่าช้า 30 วันหลังจากวันครบกำหนด ณ เดือนมิถุนายน 2020 อยู่ที่ร้อยละ 2.64 เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 โดย ณ วันที่ 30 ส.ค. ลูกค้า MFI ในกัมพูชามากกว่า 270,000 ราย ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างสินเชื่อ ซึ่งเกือบ 260,000 ราย คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 94 ได้รับอนุญาตให้ปรับโครงสร้างสินเชื่อด้วยจำนวนเงินกู้รวมมากกว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50764871/consumer-credit-applications-fall-by-a-significant-margin/

บริษัทต่างชาติตั้งสายการผลิตใหม่ในกัมพูชา ส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังกัมพูชามากขึ้นหลังจากบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งประกาศตั้งสายการผลิตใหม่ รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานใหม่มากกว่า 1,000 ตำแหน่งในจังหวัดกัมปงสปือ โดย GCH International Trade Co Ltd กล่าวว่าจะทำการลงทุนประมาณ 3.2 ล้านดอลลาร์ ในสายการผลิตกระเป๋าใหม่เพื่อผลิตสิ่งของประเภทต่างๆ รวมถึง Jin Xinsheng (Cambodia) Co Ltd ได้ประกาศว่ากำลังจะลงทุนอีกประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ ในโครงการใหม่ซึ่งจะผลิตกระดาษ แผ่นรองหมอนอิง และคาร์ดิแกน ตั้งอยู่ที่ National Road 4 ในพนมเปญ และคาดว่าจะสร้างงานประมาณ 198 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงหลั่งไหลเข้าสู่การตั้งสายการผลิตใหม่ในกัมพูชา แต่จำนวนงานที่สร้างขึ้นนั้นยังไม่สอดคล้องกับอัตราการจ้างงานที่สูญเสียไปก่อนหน้านี้ โดยการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้โรงงานมากกว่า 400 แห่ง ต้องระงับการผลิตซึ่งส่งผลให้จำเป็นต้องปลดคนงานออกบางส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50764902/new-manufacturing-firms-provide-much-needed-jobs/

มูลค่าการค้าเมียนมาสูงขึ้นแม้ COVID-19 ระบาด

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผย ณ เดือนสิงหาคม 63 หนึ่งเดือนก่อนปิดปีงบประมาณ 62-63 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีการระบาดของ COVID-19 การส่งออกแตะที่ 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้าประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าสำเร็จรูปและสินค้าสำหรับการ ผลิต ตามด้วยผลิตผลทางการเกษตรทรัพยากรและแร่ธาตุที่ขุดได้ การนำเข้าประกอบด้วยสินค้าทุน เช่น อุปกรณ์ ยานพาหนะและเครื่องจักร ตลอดจนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ได้แก่ จีน ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เกาหลี และเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้ การค้าชายแดนได้รับผลกระทบ เช่น การค้าที่ท่าขี้เหล็กของรัฐฉานชายแดนระหว่างเมียนมาและไทยเพิ่งปิดไปส่วนไทยอนุญาตให้รถจากเมียนมาเพียง 6 คันเข้าอำเภอแม่สายของไทยได้ การค้าระหว่างเมียนมาและจีนยังต้องหยุดชะงักหลังจากชายแดนหลุ่ยลี่ (Ruili) ถูกปิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 63 หลังตรวจพบ COVID-19 หลุ่ยลี่เป็นจุดผ่านแดนสำคัญระหว่างจีนและเมียนมาใกล้กับมูเซของรัฐฉาน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-trade-volumes-rise-despite-covid-19.html

INFOGRAPHIC : เวียดนามกลับมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ 6 เส้นทาง

เที่ยวบินระหว่างประเทศจะกลับมาเปิดภายในเดือนกันยายน 2563 หลังจากช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยกเลิกการบิน เนื่อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (COVID-19) โดยการเปิดเที่ยวบินดังกล่าว จะช่วยสร้างแรงหนุนใหม่ให้กับตลาดการบินที่ซบเซา จากการระบาดระลอก 2

เที่ยวบินต่างประเทศที่เวียดนามเปิดรับมีดังต่อไปนี้

  1. โซล  (เกาหลีใต้)
  2. โตเกียว (ญี่ปุ่น)
  3. ไทเป (ไต้หวัน, จีน)
  4. กว่างโจว (จีน)
  5. เวียงจันทน์ (สปป.ลาว)
  6. พนมเปญ (กัมพูชา)

ความถี่ : ไม่เกิน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์/เที่ยวบินละกลุ่ม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/six-intl-commercial-flights-resumed/185223.vnp

รัฐบาสปป.ลาว พยายามหาวิธีป้องกันผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ

ในการประชุมประจำเดือนของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. เจ้าหน้าที่ได้รับการกระตุ้นให้ดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัดและติดตามผู้คนที่เข้ามาในสปป.ลาวอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกสอง เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้วิเคราะห์ผลกระทบที่เป็นไปได้ของการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อสปป.ลาว กำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการอย่างเข้มแข็งเพื่อต่อต้านการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการประพฤติมิชอบทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ให้สื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยวและหน่วยงานอื่น ๆ ชี้แจงประเด็นที่เป็นความกังวลของสาธารณชน มีการผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมีการจัดเก็บรายได้มากขึ้น ได้มีการอภิปรายร่างรายงานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า กระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้รับคำแนะนำให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อสรุปรายงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 9 เดือนสำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี สมาชิกคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการแผนแม่บท 5 ปีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ปี 64-68 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการบริหารงานของรัฐและเสริมสร้างการบริหารจัดการขององค์กรเอกชน นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนในปี 63 การมีข้าราชการใหม่ในปี 64 และร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสในการจ้างงานในพื้นที่ชนบท

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_seeks_183.php

เมียนมามุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19

กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศและประธานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมาร์ (MIC) ของเมียนมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคส่วนเพื่อรับมือกับผลพวงของ COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าสามารถตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งเสริมการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรกรรมซึ่งสนับสนุนทั้งห่วงโซ่อุปทาน การผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับสุขภาพและเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล และจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (MIPP) ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวแห่งชาติระยะยาวในการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ ADB ชี้การแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตและอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การอนุมัติ FDI เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 3 สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 จาก 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการผลิต ขณะที่ GDP ของเอเชียในปีนี้คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบเกือบหกทศวรรษซึ่งอาจทำให้การลงทุนไหลเข้าเมียนมาลดลงในอนาคต โดย ADB คาดว่าการเติบโตเศรษฐกิจของเมียนมาจะเหลือเพียงร้อยละ 1.8 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณ 62-63 เทียบกับร้อยละ 4.2 ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน 63 หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัวเป็นร้อยละ 6 ในปีงบประมาณ 63-64

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/border-trade-hold-myanmar-thailand-add-restrictions.html

สปป.ลาว, IOM เสริมสร้างการตอบสนอง Covid-19 ที่จุดผ่านแดน

รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้เปิดตัวโครงการ“ การตอบสนองต่อความท้าทายโควิด -19 ณ จุดเข้าประเทศสปป.ลาว” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกที่สอง โครงการมีระยะเวลา 6 เดือนจะสนับสนุนการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน มีการฝึกอบรมเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเสริมสร้างความพร้อมและความพยายามในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาสื่อการสื่อสารความเสี่ยงที่เหมาะสม ในขณะที่กิจกรรมต่างๆจะดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและโครงสร้างพื้นฐาน ณ จุดแรกเข้า รัฐบาลและ IOM ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากที่เดินทางกลับทั่วภูมิภาคเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับการตอบสนองต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิผลและทันท่วงที ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการป้องกันการตรวจจับและการตอบสนองต่อการแพร่กระจายของโรค โครงการจะดำเนินการที่จุดเข้าออกระหว่างประเทศ 10 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติวัตไต, สนามบินหลวงพระบาง, สนามบินจำปาสัก, สนามบินสะหวันนะเขต, สะพานมิตรภาพลาว – ​​ไทย 1 ในเวียงจันทน์, สะพานมิตรภาพลาว – ​​ไทย 2 ในสะหวันนะเขต, มิตรภาพลาว – ​​ไทย สะพาน 3 ในคำม่วน, สะพานมิตรภาพลาว – ​​ไทย 4 ในบ่อแก้ว, ด่านพรมแดนระหว่างประเทศวังเตา – ช่องเม็ก ในจังหวัดจำปาสักและจุดผ่านแดนลาว – ​​จีน บ่อเต็น – บ่อฮาน ในแขวงหลวงน้ำทา

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry182.php

ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อการทำการเกษตรของกัมพูชา

ในปี 2020 ภาคการเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของกัมพูชาโดยคิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP สร้างการจ้างงานถึง 1 ใน 3 ของภายในประเทศกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเกิดโรคระบาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรก็มีการชะลอตัวและหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 15 ปี ในปี 2019 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อตั้งแต่ในปี 2013 ซึ่งมีเกษตรกรชาวกัมพูชาจำนวนมากเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้โน้มน้าวให้ภาคการเกษตรถือเป็นภาคสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาด ซึ่งในแง่ของผลิตภัณฑ์ข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด โดยมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP ในภาคการเกษตร ซึ่งผลกระทบของ COVID-19 ต่อผลผลิตทางการเกษตรในห่วงโซ่คุณค่าและความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากผลการวิจัยสรุปได้ว่ารายได้จากการทำฟาร์มลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่าร้อยละ 30 จาก 283 ดอลลาร์ ในเดือนมกราคมสู่ 195 ดอลลาร์ ภายในเดือนเมษายน ซึ่งหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50764323/the-effects-of-covid-19-on-farming/

พาณิชย์ถกสภาธุรกิจอียู-อาเซียน หาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“พาณิชย์” หารือสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และบริษัทชั้นนำของยุโรปที่ทำธุรกิจในอาเซียนกว่า 50 ราย ผ่านระบบทางไกล แลกเปลี่ยนมุมมองการรับมือวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของไทยเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยไทยได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนสหภาพยุโรปว่า ไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป การอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898079

เอดีบี ชี้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเอเชียหดตัวรอบเกือบ 60 ปี ฟื้นยากแบบตัว L

เอดีบี เปิดรายงาน Asian Development Outlook 2020 Update วันนี้ (15 กันยายน 2563) ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย คาดว่าจะหดตัวในปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบหกทศวรรษ หรือตั้งแต่ปี 2503 (ต้นทศวรรษ 1960s) ที่ร้อยละ 0.7 แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้าที่ร้อยละ 6.8 เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวจากหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID- 19) สาเหตุหลักของเศรษฐกิจที่หดตังลงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อในปีนี้จนถึงปีหน้า รัฐบาลในแถบนี้ได้ใช้เงินทั้งหมด 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในแถบเอเชีย ทั้งนี้ เอดีบีรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรายงาน ADO ล่าสุดในวันนี้ คาดว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 4.8 สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-521499