ญี่ปุ่นทุ่มงบ 700 ล้านดอลลาร์ พัฒนาถนนสาย “National Road 5”

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานกัมพูชาร่วมมือกับกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) มุ่งเป้าปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5 จากเปรกดำถึงเมืองปอยเปต ระยะทางรวม 366 กิโลเมตร โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 709.35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินกว่า 600 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเส้นทางดังกล่าว จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ตลอดชายแดนกัมพูชา-ไทย ไปจนถึงชายแดนเวียดนาม ตามรายงานคาดว่าค่าใช้จ่ายในโซนภาคเหนือจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 156.43 ล้านดอลลาร์ ทอดยาวจากพระตะบองถึงศรีโสภณ ในขณะที่ภาคใต้คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนมูลค่า 246.36 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมตั้งแต่เปรกดำถึง Thlea Ma’am และภาคกลางเน้นที่การปรับปรุงสภาพของถนนที่มีอยู่ตั้งแต่ Thlea Ma’am ถึงพระตะบอง และศรีโสภณถึงเมืองปอยเปต ที่มูลค่าประมาณ 306.57 ล้านดอลลาร์ โดยโครงการนี้คาดว่าจะเพิ่มความสะดวกในการสัญจรและปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้กับกัมพูชาไปยังชายแดน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีรถยนต์สันจรบนเส้นทางสายดังกล่าวมากกว่า 7 ล้านคัน เพิ่มขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบกับปี 2010

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501370866/japan-provided-over-700m-to-upgrade-national-road-5/

ภาคประกันภัยกัมพูชา รายงานการจัดเก็บเบี้ย ณ ส.ค. แตะ 31 ล้านดอลลาร์

ภาคประกันภัยกัมพูชารายงานการจัดเก็บเบี้ยประกันภัยในช่วงเดือนสิงหาคมมูลค่ารวมกว่า 31.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยรวมของตลาดประกันภัยทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 12.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ตามรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยของกัมพูชา สำหรับในรายงานยังได้ระบุเสริมว่าสำหรับเบี้ยประกันชีวิตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17.3 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 2.43 ในขณะที่เบี้ยประกันรายย่อยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40.2 ซึ่งปัจจุบันภายในกัมพูชามีบริษัทประกันทั่วไป 18 ราย บริษัทประกันชีวิต 14 ราย บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 ราย บริษัทรับประกันภัยต่อ 1 ราย นายหน้าประกันภัย 20 ราย และตัวแทนองค์กร 34 ราย สำหรับเบี้ยประกันภัยขั้นต้นของกัมพูชามีมูลค่ารวมประมาณ 332 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดประกันภัยในกัมพูชา ซึ่งภาคประกันภัยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369987/insurance-sector-logs-31-million-premium-in-august/

CGCC จับมือร่วมกับกสิกรไทย หนุน MSMEs กัมพูชา

บรรษัทประกันสินเชื่อแห่งกัมพูชา (CGCC) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพนมเปญ ได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) โดยในพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงาน CGCC นำโดย Ros Seileva รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน ร่วมกับ Wong Keet Loong ประธาน CGCC และ นาย Cherdkiat Atthakor เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา รวมถึง นาย Suwat Techawatanawana รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งความร่วมมือกับ CGCC จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขยายขอบเขตการเข้าถึงผู้ประกอบการในกัมพูชาที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงขีดความสามารถด้านบริการของธนาคารอีกด้วย ในฐานะที่เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ด้าน CGCC มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและพัฒนา MSME ภายในประเทศ โดยมีภารกิจหลักในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ MSME ผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFI) สำหรับการค้ำประกัน ณ เดือนกรกฎาคม 2023 CGCC ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วมูลค่ากว่า 139.5 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ธุรกิจ 1,648 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369986/cgcc-kasikornbank-join-hands-to-support-msmes/

GDCE เตรียมดำเนินกลยุทธ์ใหม่ สำหรับการปฏิรูประบบศุลกากรกัมพูชา ในช่วงปี 2024

กรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) มีแผนที่จะเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการปฏิรูประบบศุลกากรให้มีความทันสมัย สำหรับแผนในช่วงปี 2024-2028 หลังจากดำเนินแผนยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019-2023 โดยแผนยุทธศาสตร์ใหม่ได้รับการเปิดเผยในระหว่างการประชุมปรึกษาหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ GDCE และหุ้นส่วนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา เช่น สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ก.ย.) โดยมี Kun Nhem ผู้อำนวยการ GDCE เป็นประธาน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 6 ประการ ซึ่งรวมถึงประสิทธิผลของการรวบรวมรายได้ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร การปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้ กิจการและกฎระเบียบด้านกฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ และสุดท้ายคือเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369454/gdce-to-embark-on-new-strategy-for-customs-reform-in-early-2024/

สมาคมต่างๆ ในกัมพูชา พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับภาคแรงงาน

สมาคมต่างๆ ในภาคการผลิตสินค้ากลุ่มรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ต่างยินดีกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคแรงงานในปี 2024 โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มาตรฐานการครองชีพของภาคแรงงานปรับตัวดีขึ้น ด้านสมาคมผู้ผลิตรองเท้ากัมพูชา ได้กล่าวเสริมว่าการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำได้ดำเนินการทางเทคนิคแล้ว โดยอิงตามเกณฑ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งสนับสนุนในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 204 ดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ภายในปีหน้า และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนด เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ให้กับภาคแรงงาน และเสริมสร้างการดึงดูดการลงทุนต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากของกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1,332 แห่ง มีการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน ด้านตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด ที่มูลค่า 10.09 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369455/associations-welcome-minimum-wage-hike/

EIU มองภายในปี 2024 เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง

หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ: Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ภายในช่วงปี 2024 โดยคาดว่าบรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะมีการเติบโตในระดับสูงภายในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับ เอธิโอเปีย ยูกันดา และแทนซาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดเกิดใหม่ กล่าวโดย Tom Rafferty หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์และเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ EIU สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ในปีหน้า ซึ่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะประสบกับการชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นคาดว่าจะสิ้นสุดในปีหน้า และเศรษฐกิจของจีนถูกมองว่าอยู่ในสถานะอ่อนแอ แต่ยังคงมีเสถียรภาพ ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการส่งออก อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368936/eiu-sees-cambodia-as-one-of-the-worlds-fastest-growing-economies-in-2024/

การค้าทวิภาคี “กัมพูชา-ไทย” แตะ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,585 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยที่มูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยลดลงกว่าร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1,938 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ เป็นปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368622/cambodia-thailand-bilateral-trade-tops-2-58-billion-in-first-eight-months/

เวียดนามขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา

จีน เวียดนาม และไทย ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามูลค่ากว่า 11.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 70.8 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวมกว่า 16.3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ประเทศกัมพูชา โดยจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าลำดับแรกของกัมพูชา ด้วยมูลค่าการส่งออก 7.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.9 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 11.7 เหลือมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่สัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการนำเข้ากัมพูชา สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี GDCE ได้รายงานเสริมว่ากัมพูชาได้ทำการส่งออกสินค้ามูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ให้กับจีน เวียดนาม และไทย คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 15.7 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367609/vietnam-second-biggest-exporter-of-cambodia/

กัมพูชาถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน

การประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (CEPSI) ครั้งที่ 24 มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมินทางตอนใต้ของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม นำโดยสภาการไฟฟ้าของจีน (CEC) ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงปากีสถาน กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Xu Guangbin ผู้อำนวยการของ CEPSI กล่าวเสริมว่าในระหว่างการประชุมจะมีเซสชันและกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสในการร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงาน ภายใต้ธีม “Low Carbon Energy Powering a Green Future” โดยเชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระยะต่อไป สำหรับบริษัทพลังงานของจีนกำลังมุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลก โดยจนถึงขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ลงทุนและสร้างโครงการพลังงานแล้ว 16 โครงการ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของการลงทุนภาคพลังงานในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367595/cambodia-is-among-10-countries-where-1-95-billion-of-the-total-foreign-investment-by-major-chinese-power-companies-went/

ญี่ปุ่นพร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาเพิ่มขึ้น

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi เรียกร้องให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออกมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตญี่ปุ่นพร้อมที่จะทำการนำเข้ามากขึ้นหากสินค้ามีมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด ซึ่งกัมพูชาและญี่ปุ่นเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ได้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2022 โดยญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักของกัมพูชา ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากกัมพูชาคิดเป็นมูลค่า 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366903/japan-ready-to-buy-more-cambodian-agri-products/