กัมพูชา-อินเดีย ร่วมแสดงความยินดี สำหรับการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดีย ร่วมแสดงความยินดีต่อกัน สำหรับการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงพนมเปญและกรุงนิวเดลี ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเร็วๆ นี้  โดยคาดว่าเที่ยวบินตรงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกันในระยะถัดไป สำหรับถ้อยคำดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการพบปะระหว่าง Hun Sen ประธานวุฒิสภากัมพูชา กับ Devyani Uttam Khobragade เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ณ วังวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำหรับการประชุมครั้งนี้ Devyani Uttam Khobragade ได้แสดงความคาดหวังต่ออนาคตของความสัมพันธ์ระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ขณะเดียวกันทางการอินเดียมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501491947/cambodia-india-congratulate-the-upcoming-establishment-of-direct-flights/

กระทรวงสิ่งแวดล้อมร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ลดการใช้พลาสติกในโรงงานกัมพูชา

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพ และ Eang Sophalleth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) เรื่อง “การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ” ในช่วงวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายยินดีและพร้อมที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ ซึ่งทั้งสองกระทรวงเคยทำงานร่วมกันผ่านกลไกการตรวจสอบโรงงานเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการเหมาะสมต่อการดำเนินงานของแรงงานในสายการผลิต สำหรับการลงนามในครั้งนี้แสดงถึงความร่วมมืออย่างเป็นทางการของทั้งสองกระทรวง ในการส่งเสริมการเติบโต ประสิทธิภาพ และผลผลิต ในทางกลับกันเจตนารมณ์ของบันทึกความตกลงจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบของขยะพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ในสังคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1492077/ministry-of-environment-cooperates-with-the-ministry-of-labour-to-reduce-the-use-of-plastic-in-factories/

สินเชื่อภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาลดลงเหลือ 31% จาก 36% ใน 5 ปีก่อน

โครงสร้างสัดส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรลดลงจากร้อยละ 35.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 31 สำหรับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยภาคการเกษตรยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชาสำหรับในปี 2023 สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยสะท้อนจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ที่ได้กล่าวรายงานว่า ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว รวมถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้สัดส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 22 ของ GDP ประเทศ แม้ในปี 2013 จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของ GDP ก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ การท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ MSMEs ในด้านการผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490959/agricultural-loans-fall-to-31-from-36-in-5-years/

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้าน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้านที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของกัมพูชาจะต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ด้านดัชนีราคาบ้านพักและที่อยู่อาศัย (RPPI) ซึ่งเริ่มเปิดตัวในกลางปี 2022 เพื่อวัดราคาบ้านโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดย NBC กำลังติดตามราคาบ้านอย่างใกล้ชิด และอาจใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมราคาหากจำเป็น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2022 และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ภายในปีนี้ สำหรับมาตรการควบคุมราคาบ้านอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา รวมถึงผู้ซื้อบ้านอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยอันเนื่องจากมาตรการและราคาบ้านที่อาจชะลอตัวลงหรือลดลงในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490347/the-national-bank-of-cambodia-reviews-measures-of-housing-prices/

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ สำหรับบริษัทเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นการลงทุน

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสำหรับบริษัทเกาหลีใต้หวังดึงดูดการลงทุน ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทเกาหลีใต้ ที่สนใจเข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคการลงทุน โดยเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 7 สำหรับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเชื่อมนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ผ่านเครือข่ายความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคี (FTA) รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน อาเซียนบวกหนึ่ง, RCEP, กัมพูชา-จีน FTA, กัมพูชา-เกาหลีใต้ FTA และกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ FTA

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490362/cambodia-proposes-exclusive-special-economic-zone-for-korean-firms-to-boost-investment/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 3,763 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากมูลค่าราว 3,211 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีการส่งออกมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 2,748 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ขณะที่การส่งออกรองเท้ามีการส่งออกมูลค่ารวม 453.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และการส่งออกกระเป๋าเดินทางมีการส่งออกมูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งภาคอุตสาหกรรม GFT ถือเป็นแหล่งรายได้เงินด้านการส่งออกที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา ด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าภาค GFT จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตร้อยละ 5.8 ภายในปี 2024 สำหรับภาคอุตสาหกรรม GFT ยังเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ โดยมีโรงงานและสาขาประมาณ 1,680 แห่ง จ้างแรงงานราว 918,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501489411/cambodia-records-17-pct-rise-in-garment-footwear-travel-goods-export-in-first-four-months/

การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้น 16% ใน 4 เดือน

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจครอบคลุม (RCEP) มูลค่ากว่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.2 จากมูลค่า 2.89 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาษีศุลกากรทางด้านการค้าที่ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า กระตุ้นให้การส่งออกและนำเข้าจากกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 โดยสามอันดับแรกของประเทศที่กัมพูชาส่งออกไปยัง RCEP ได้แก่ เวียดนาม ไทย และจีน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1.25 พันล้านดอลลาร์, 958 ล้านดอลลาร์ และ 328 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่แหล่งนำเข้าของกัมพูชายังคงมาจากจีนที่มูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6.34 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีกก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501489447/cambodias-exports-to-rcep-countries-up-16-percent-in-4-months/