ก.แรงงาน เตรียมตำแหน่งงาน 8 แสนอัตรา รองรับคนตกงานช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายอธิบดีกรมการจัดหางาน สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศ และดำเนินการจัดหางานเชิงรุกโดยเตรียมตำแหน่งงานไว้ จำนวน 814,198 อัตรา แบ่งเป็น แรงงานด้านฝีมือ (แรงงานไทย)จำนวน 389,495 อัตรา ธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว จำนวน 424,703 อัตรา ในส่วนธุรกิจที่พึ่งแรงงานต่างด้าวนั้น แรงงานไทย สามารถสมัครได้เช่นกัน โดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กโทรนิกส์ ฯลฯ  นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนการจัดหางานแบบเดิมสู่รูปแบบ “นัดพบแรงงานออนไลน์” เต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6564251

ล็อคดาวน์กค.ปี64 ทรุดดัชนีเศรษฐกิจ จากรายได้หด-การจ้างงานลดต่อเนื่อง เทียบช่วง เม.ย.ปี63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.จนต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย และ การล็อกดาวน์ ตลอดจนจำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ 35.1 ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

ความเชื่อมั่นอุตฯร่วง ล็อกดาวน์ฉุดกำลังซื้อรายได้หาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.64 อยู่ที่ระดับ 78.9 ลดลงจากเดือนที่แล้วที่ระดับ 80.7 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 63 ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวลดจากที่คาดไว้อยู่ที่ระดับ 90.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ สอท. เสนอภาครัฐให้เร่งตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ เร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 ในสถานประกอบการ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ พร้อมนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้ และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/593828

ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิดสู่มาตรการเศรษฐกิจไทย

โดย วิจัยกรุงศรี I ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มีนาคม 2564) อยู่ที่ 1.8% (สิงหาคม 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิดที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้

วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดในประเทศต่างๆ พบว่า

  • มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้านเพื่อควบคุมการระบาด
  • มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

ที่มา : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Covid19-Response-Policy-2021

‘จีน-ญี่ปุ่น’ซบไทย ลงทุน‘กนอ.’9เดือนพุ่ง1.3แสนล้าน

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า (Warehouse) ที่เติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้นักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกาเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จนถึงปัจจุบันมีการลงทุนแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนรวม 9 เดือนปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 138.27% เมื่อเทียบกับปี 2563 ( 54,681.37 ล้านบาท) จากการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต โดยจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 12.12% และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/593581

สปป.ลาวพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 250 ราย

จากรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 250 รายเมื่อวันอังคาร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศไทย จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เหล่านี้ ยอดรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7,015 ราย ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นยอดที่ติดเชื้อสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกมาของสปป.ลาว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แนะนำให้ทุกคนแสดงความรับผิดชอบและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ในขณะเดียวกัน โครงการฉีดวัคซีนก็กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 16.55 ของประชากรลาวทั้งหมดได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้วและร้อยละ 14.05 ได้รับวัคซีนทั้งสองโดส สปป.ลาวถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีความคืบหน้าด้านการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผนการฉีดวัคซีนของสปป.ลาวดำเนินการได้ต่อเนื่องมาจากการช่วยเหลือจากพันธมิตรที่สำคัญทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ เป็นต้น จึงทำให้สปป.ลาวต่อสู้กับโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_250New_150.php

ธพว.อัดฉีดเงินกู้ 1.5 หมื่นล. เติมทุนเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก จึงออกมาตรการทางการเงินเสริม ด้วยแพ็กเกจสินเชื่อ “เติมทุน SMEs มีสุข ยิ้มได้”วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ภายใต้ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ได้แก่ “SMEs D เติมทุน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานถึง 10 ปี  “SMEsมีสุข” วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี ผ่อนนานถึง 10 ปี และ “SMEs ยิ้มได้” วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี ทบทวนวงเงินได้ทุกปี ช่วยเติมทุนหมุนเวียนให้เอสเอ็มอี โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ที่มา: https://www.naewna.com/business/592181

ปริมาณการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาลดลงในช่วง ม.ค.-มิ.ย.

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยลดลงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 มาอยู่ที่มูลค่า 3.982 พันล้านดอลลาร์ จาก 4.025 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปี 2020 โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยลดลงร้อยละ 33 มาอยู่ที่ประมาณ 516 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยอยู่ที่ 3.466 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2.95 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยที่ลดลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดในจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นำไปสู่ข้อจำกัดในการขนส่งข้ามพรมแดนในปัจจุบัน โดย 8 จังหวัดของกัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ได้รับคำสั่งให้ปิดชายแดนเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50905250/trade-with-thailand-slips-jan-june-over-ongoing-pandemic-concerns/

กระทรวงการคลังชี้พิจารณาช่วยซอฟต์โลนคนไทยก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยพยายามจะให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด แต่ต้องพิจารณาสายการบินของคนไทยก่อน ส่วนสายการบินต่างชาติเป็นลำดับถัดไป ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกรมท่าอากาศยาน และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการพิจารณายกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด ค่าปรับด้วย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2155081

ร้องรัฐจ่ายชดเชยว่างงานต่อ ผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนจากสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ สมาคมเพื่อสวนสัตว์ไทย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ถึงผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เสนอให้จ่ายชดเชยว่างงาน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตน ซึ่งจะได้รับทดแทนสูงสุดไม่เกิน 90 วัน หลังจากที่รัฐออกคำสั่งปิดกิจการไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย.64 และจะครบกำหนดเดือน ก.ค.นี้ ส่วนความคืบหน้ามาตรการในการบรรเทาหนี้ประชาชน และการเข้าถึงสินเชื่อของภาคเอกชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกสินเชื่อวงเงินรวม 90,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือแล้ว สำหรับการพักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกําหนดชําระอย่างน้อย 2 เดือน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/other/2150172