‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวพันธุ์ชเวโป ปอว์ ซาน ดันราคาตลาดข้าวพุ่ง

ศูนย์ค้าข้าววาดัน (Wahdan) เปิดเผยข้อมูลวันที่ 17 ก.ค. 2566 ว่าราคาข้าวพันธุ์ชเวโป ปอว์ ซาน (Shwebo Pawsan) หรือข้าวไข่มุกของเมียนมา ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นแตะ 112,000 จ๊าดต่อกระสอบ ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวพันธุ์อื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อาทิเช่น ราคาพันธุ์ข้าวปอว์ ซาน อยู่ที่ 91,000 – 96,000 จ๊าดต่อกระสอบ และราคาข้าวสารใหม่ อยู่ที่ 89,000 จ๊าดต่อกระสอบ เป็นต้น ทั้งนี้ สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ประกาศที่จะร่วมมือกับโรงสีข้าว ผู้ค้าข้าวและธุรกิจต่างๆ ในการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวและการควบคุมตลาดข้าวให้มีราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังทำการตรวจสอบผู้ผลิตข่าวเท็จ ข่าวปลอมและข่าวลือที่นำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/

‘เมียนมา’ ส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ทะลุ 4 แสนตัน

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses) ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 424,187 ตัน คิดเป็นมูลค่า 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือน 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.2566 เมียนมาทำการซื้อขายถั่วและถั่วพัลส์ผ่านทางเรือ ประมาณ 369,237 ตัน และผ่านทางชายแดน 54,950 ตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ระบุว่าการส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ของเมียนมาปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ถั่วและถั่วพัลส์นับเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ในเมียนมา รองจากข้าว โดยมีสัดส่วน 33% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/

‘เมียนมา’ เผย พ.ค. ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 69,373 คน

กระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมของเมียนมา เปิดเผยว่าในเดือนพฤษภาคม 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 69,373 คน เพิ่มขึ้นราว 14,115 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางผ่านทางถนน คิดเป็นสัดส่วน 66.6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองลงมาทางอากาศ (33.34%) และทางทะเล (0.05%) นอกจากนี้ จากข้อมูลในปี 2565 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศเมียนมา อยู่ที่ 233,487 คน

ที่มา : https://english.news.cn/20230715/b7847a6d93c2441798bf3eaadf522f58/c.html

วิกฤตเมียนมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดขึ้น 2 วันในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศมีวาระการประชุมเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์, ปัญหาเมียนมา และจะตามมาด้วยการหารือร่วมกับตัวแทนจากจีน, สหรัฐอเมริกาวอชิงตัน และชาติมหาอำนาจอื่นๆ

ที่มา : https://www.thaipost.net/abroad-news/412234/

ค้าชายแดน ‘เมียนมา-จีน’ ไตรมาสแรก พุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าชายแดนเมียนมาและจีน อยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขของการค้าชายแดนข้างต้น เพิ่มขึ้นจาก 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 388.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ ทั้งนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับจีนผ่านด่านชายแดนมูเซะ (Muse), ชีงชเวห่อ, กัมปะติ และ เชียงตุง เป็นต้น โดยเฉพาะด่านชายแดนเมืองมูเซะ เป็นด่านชายแดนสำคัญของเมียนมาที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 657.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย จีน บังกลาเทศและอินเดีย สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเภทเกษตรกรรม ปศุสัตว์และป่าไม้ ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเมียนมาจะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-bags-nearly-us1-billion-in-q1/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าเกษตร ไตรมาสแรกปี 66 โกย 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 862.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 1,091.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษร สัตว์และอาหารทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวมากกว่า 2.26 ล้านตันในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd862m-from-agricultural-exports-in-q1/

‘เมียนมา’ เผยไตรมาสแรก ปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ เกิน 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ทำรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ (Pulse) ประมาณ 333.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 424,187.70 ตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 โดยส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางทะเล 284.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางชายแดน  48.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาได้ส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จีนและยุโรป อีกทั้ง ตลาดอินเดียมีความต้องการถั่วเขียวผิวดำเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมา 250,000 ตัน และ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อโควต้าประจำปีของอินเดียที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-export-earnings-in-pulses-surpass-over-us330-mln-in-q1/#article-title

“เมียนมา” เผยตลาดถั่วเขียวนิ่ง เหตุจากอุปสงค์ทั่วโลกซบเซา

หอการค้าและอุตสาหกรรมเขตย่างกุ้ง เปิดเผยว่าราคาถั่วเขียว (Green Gram) ตกต่ำลงมาก ตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่อ่อนแอลง โดยราคาถั่วเขียวของภาคกลาง แตะระดับสูงสุดที่ 2.092 ล้านจ๊าตต่อตันในช่วงกลางเดือน พ.ค. อย่างไรก็ตาม ราคาถั่วเขียวในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1.765 ล้านจ๊าตต่อตัน แสดงให้เห็นว่าราคาถั่วเขียวลดลงราว 300,000 จ๊าตต่อตัน เพียงแค่ 1 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. จีนเริ่มมีการดำเนินนโยบายภาษี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดถั่วเขียวและทำให้ราคาถั่วเขียวปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าเมียนมาเตรียมความพร้อมที่จะส่งออกถั่วเขียวไปยังสหภาพยุโรปในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เมียนมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งมากขึ้นในตลาดโลก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/green-gram-market-calms-down-on-sluggish-global-demand/#article-title

“เมียนมา” เผยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศของเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึง 23 มิ.ย. ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าสำเร็จรูปจากอุตสาหกรรม ขณะที่เมียนมาส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ลดลงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-totals-7-37-bln-in-past-three-months/#article-title

“เมียนมา” ชี้ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศหดตัว เหตุนำเข้าจากต่างประเทศพุ่ง

จากข้อมูลของตลาดน้ำมันปาล์มในย่างกุ้ง เปิดเผยว่าได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 20,000 ตัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงตลาดย่างกุ้งลดลงอย่างมาก และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์ม พบว่าราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากความยากลำบากในการซื้อน้ำมันปาล์มเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งบอกว่าราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 8,200 จ๊าตต่อวิสซ์ ทั้งนี้ จากเหตุที่น้ำมันปาล์มในตลาดมีราคาสูง ทางหน่วยงานได้หารือและเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ เมียนมาจะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/demand-for-palm-oil-decreases-due-to-large-foreign-palm-oil-imports/#article-title