‘ยอดการค้าเวียดนาม-อียู’ พุ่ง 14.8% ปี 64

การค้าระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 14.8% ในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 63.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในปี 2564 เวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป มูลค่ากว่า 45.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.5% โดยสาเหตุที่การค้าเพิ่มขึ้น มาจากความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) นอกจากนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจเวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากข้อตกลง EVFTA พร้อมกับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnameu-trade-increases-148-percent-in-2021/220286.vnp

งบประมาณย่อย 64-65 ค้าชายแดนเมียนมา ดิ่งลง 966 ล้านเหรียญดอลลาร์หรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดจากด่านชายแดน 18 แห่งมีมูลค่าเกิน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงงบประมาณย่อย 64-65 ลดลง 966 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ 2.409 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ถึง 24 ธ.ค.ของปีงบประมาณ 64-65 แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าเป็น 427.7 ล้านดอลลาร์ โดยด่านเมียวดีติดอันดับชายแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด 581.36 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ ตามมาด้วยด่านทิกิที่ 402.06 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทางทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าการผลิต และอื่นๆ ในขณะที่การนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/total-border-trade-value-decreases-by-us966-mln-this-mini-budget-period/#article-title

‘เวียดนาม’ ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต

รายงานที่เผยแพร่โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่าเวียดนามเป็นหนึ่งใน 13 ตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต และด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น เวียดนามจึงมีความได้เปรียบอย่างมากจากการส่งออก ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการสำรวจบริษัทระดับโลก พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ 41% ได้ดำเนินงานในเวียดนามแล้วหรือวางแผนที่จะลงทุนในเวียดนามอีก 10 ปีข้างหน้า โดยสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 26% และ 19% ของการส่งออกรวมทั้งสิ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าส่งออก อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าการเกษตรและอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ตามรายงานของ Công thương (อุตสาหกรรมและการค้า) เผยว่าการที่เวียดนามมีจำนวนแรงงานที่มาก และความสัมพันธ์ห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ตลอดจนนโยบายที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกและเป็นแหล่งดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-among-markets-driving-future-trade-growth/216466.vnp

 

19 พ.ย. 64 ค้าชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ แตะ 3.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ณ วันที่ 19 พ.ย.64 ของปีงบประมาณย่อยปี 2564-2565 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมาร์และบังกลาเทศอยู่ที่ 3.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 5.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออก 3.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการค้าชายแดนส่วนใหญ่ผ่านจุดผ่านแดนเมืองซิตต์เวย์และเมืองมองตอ โดยสินค้าที่ซื้อขายระหว่างสองประเทศ ได้แก่ ไม้ไผ่ ขิง ถั่วลิสง กุ้งทะเลและปลา พรุน กระเทียม ข้าว ถั่วเขียว ผ้าห่ม ลูกอม แยมลูกพลัม รองเท้า อาหารแช่แข็ง สารเคมี หนัง ผลิตภัณฑ์จากปอกระเจา ยาสูบ พลาสติก ไม้ เสื้อถัก และเครื่องดื่ม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bangladesh-border-trade-hits-3-88-mln-as-of-19-nov/

‘เวียดนาม-อาร์เจนตินา’ จับมือส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างศักยภาพและการส่งเสริมการค้าระหว่างเวียดนาม-อาร์เจนตินา” เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นาย Duong Quoc Thanh เอกอัครราชทูตเวียดนาม กล่าวที่ประชุมว่าความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด นับตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ปัจจัยทางการค้าถือเป็นจุดที่ทำให้ทั้งสองประเทศได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน โดยในปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตเวียดนาม มองว่าการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศ ยังคงมุ่งเน้นไปที่สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อาหารเลี้ยงสัตว์และเภสัชภัณฑ์จากอาร์เจนตินา ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาดสำหรับธุรกิจของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10821802-vietnam-argentina-boost-trade-cooperation.html

 

‘เวียดนาม-ญี่ปุ่น’ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและอุตสาหกรรม

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ นายโยชิโนบุ นิซากะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านการค้าและอุตสาหกรรม (MOU) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. รัฐมนตรีเวียดนามมองว่ามีโอกาสอีกมากจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามและญี่ปุ่น โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ด้วยการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาทำการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจของจังหวัดวากายานมะในการเข้าถึงตลาดที่มีประชากร 100 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนราว 600 ล้านคน หรือตลาดที่ใหญ่กว่า อาทิ RCEP และ CPTPP นอกจากนี้ การลงทุนของธุรกิจของจังหวัดวากายามะ จะทำให้เวียดนามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-industry-trade-ministry-japanese-prefecture-seal-cooperation-deal-907375.vov

“สิงคโปร์” รั้งอันดับ 2 ผู้นำสินค้ารายใหญ่จากเมียนมา

จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผย ปีงบประมาณ 2563-2564 สิงคโปร์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับสองของเมียนมา มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปีงบประมาณที่แล้ว มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศอยู่ที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯแบ่งเป็นการส่งออกมีมูลค่าถึง 207.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามีมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมียนมาขาดดุลการค้าประมาณ 2.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของเมียนมาในภูมิภาค รองจากไทย โดยเมียนมาส่งออกสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร รองเท้า สิ่งทอและเสื้อผ้า แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ขณะที่นำเข้าพลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค โลหะ และเคมีภัณฑ์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-ranked-myanmars-second-largest-importer-in-fy2020-2021/

ความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกัมพูชา

ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวถึง โอกาสหลังความร่วมมือระหว่างจีนและชาติอาเซียน ได้ขยายความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงศักยภาพข้าวของกัมพูชาที่มีอยู่ในตลาดจีน โดยถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกัมพูชาในการขยายปริมาณการส่งออกข้าวไปยังจีน หรือขอให้จีนขยายโควตาการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น ซึ่งผลผลิตข้าวของกัมพูชามีความได้เปรียบทั้งในด้านคุณภาพและราคา โดยความร่วมมือทวิภาคีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทำให้การค้าข้ามพรมแดนมีความสะดวกยิ่งขึ้น หลังจากที่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลบังคับใช้ในไม่ช้า รวมถึงนับตั้งแต่การดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) ในปี 2010 การค้าและบริการระหว่างจีนและอาเซียนได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านการบูรณาการอย่างลึกซึ้งของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์ 7,000 รายการ ระหว่างชาติอาเซียนและจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50976990/upgraded-china-asean-partnership-amplifies-rcep-co-op/

ค้าชายแดนมูเซ ลดฮวบ 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมาและจีนผ่านชายแดนมูเซ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ของงบประมาณย่อย (ต.ค. 264 – มี.ค. 65) ดิ่งลง 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจาก 582.399 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกไปยังจีนผ่านด่านมูเซ มีมูลค่า 93.633 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทั้งส่งออกและน้ำเข้าหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยจีนปิดด่านชายแดน ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 จากการระบาดของ COVID-19 ในเมียนมา ส่งผลให้คนงานด่านชายแดนมูเซ ราว 400,000-600,000 คน ต้องตกงาน นอกจากนี้ ผู้ค้ายังได้รับผลกระทบจากการระงับการค้า ทำให้รายได้จากภาษีหยุดชะงัก ทั้งนี้เมียนมาได้ส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ถั่วและข้าวโพด และผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปู กุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งออกก๊าซธรรมชาติไปจีนผ่านชายแดนมูเซ-รุ่ยลีอีกด้วย ส่วนการนำเข้าจะเป็นวัตถุดิบ CMP เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/muse-border-trade-down-by-us487-mln-as-of-11-nov/

“รมว.ต่างประเทศยูเค” เยือนไทย ยกระดับสัมพันธ์การค้า-เพิ่มบทบาทในอาเซียน

นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร จะเดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะหารือเรื่องการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งการขับเคลื่อนการลงทุนและความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งปัจจุบัน สหราชอาณาจักรและประเทศไทยมีมูลค่าการค้า ระหว่างกันอยู่ราว 4,700 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท และมีธุรกิจอังกฤษกว่า 5,000 บริษัทที่มีการส่งออกมายังประเทศไทย โดยจะร่วมหารือกับภาคธุรกิจทั้งไทยและอังกฤษ ในประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลงทุนอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/970783