‘ฝรั่งเศส-ลาว’ เตรียมจัดประชุมเวทีเศรษฐกิจ ฉลองความสัมพันธ์ 70 ปี ทางการทูตและธุรกิจ

คณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศสในลาว เตรียมจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสและลาว ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่เวียงจันทน์และสะหวันนะเขต เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการ นักธุรกิจและนักลงทุนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศลาว โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดให้มีการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับตลาดการค้าของลาว โอกาสในการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน และเวทีการประชุมเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการทางธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในประเทศลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/19/france-laos-economic-forum-celebrates-70-years-of-diplomatic-business-ties/

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เดินหน้าแก้ไข‘ปัญหาท่าเรือทางบก’

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เริ่มดำเนินแผนงานปรับปรุงกระบวนการนำเข้าและส่งออกในท่าเรือทางบกทั่วประเทศ ทั้งการจัดการปัญหาการทุจริตและกระบวนการขนส่งข้ามแดนที่ยุ่งยาก โดยแบ่งระยะของแผนงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี 2566 มีเป้าหมายที่จะแก้ไขโครงสร้างการเก็บค่าธรรมเนียมและทบทวนระบบการจัดการงานข้ามหน่วยงาน ระยะที่ 2 ช่วงกลางปี 2567 จะทำการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องและกำหนดหลักการที่เป็นเอกภาพ และระยะยาวในช่วงสิ้นปี 2567 จะมุ่งเน้นการสร้างระบบวิธีการจัดการที่เหมาะสมและเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีการค้าต่างประเทศ
เพื่อปรับปรุงข้อตกลงการขนส่งในระดับทวิภาคีและไตรภาคีระหว่างลาว จีน และไทย

ที่มา : http://: https://laotiantimes.com/2023/10/18/laos-ministry-of-industry-and-commerce-works-to-address-land-port-issues/

เมียนมามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนเมษายน-กันยายน กว่า 4.316 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เมียนมามีรายได้มากกว่า 4.316 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตภายใต้ระบบการตัดเย็บ (CMP : Cutting Making และ Packaging)  ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน ของปีงบประมาณ 2566-2567 จากการรายงานของ ดอว์ โช เท็ต มู รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการค้า สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา กล่าวว่า ในบรรดาประเทศที่มีการลงทุนในภาคส่วนเครื่องนุ่งห่ม CMP ประเทศจีนถือเป็นอันดับที่หนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากจีนไทเป ไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปภายใต้ระบบ CMP และถูกส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศในสหภาพยุโรป (EU) อย่างไรก็ดี โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานภายใต้ระบบ CMP ตั้งอยู่ในเขตย่างกุ้ง ซึ่งประกอบด้วยโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 505 แห่ง โรงงานรองเท้า 48 แห่ง โรงงานผลิตวิกผม 8 แห่ง และโรงงานอีก 177 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระเป๋า ชุดกีฬา รองเท้ากีฬา และถุงเท้า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us4-316-bln-bagged-from-garment-exports-in-april-sept/#article-title

‘รัฐบาล สปป.ลาว’ ขอภาคเอกชนร่วมมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ผู้แทนจากรัฐบาล สปป.ลาว นายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์ และภาคธุรกิจในนครหลวงเวียงจันทน์ร่วมประชุมระดมความคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ลาวเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ สินค้ามีราคาแพง และการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยผลการประชุมสรุปว่า ควรเร่งสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการและกลไกการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าภายในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับสินค้านำเข้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ส่งเสริมกิจการด้านการท่องเที่ยวให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงรัฐบาลควรออกนโนยบายลดราคาค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน

ที่มา : https://english.news.cn/20231018/ae565798a40548bb9eedba88bc5d26a6/c.html

เมียนมามีรายได้กว่า 16,551.306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการค้าต่างประเทศ ช่วงระยะเวลามากกว่า 6 เดือนในปีงบประมาณ 2023-2024

จากวันที่ 1 เมษายน 2566 – 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเมียนมาร์มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,712.336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 7,838.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีดุลการค้าแบบขาดดุลอยู่ที่ 873.366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมาร์มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี สินค้าเพื่อการลงทุน วัตถุดิบเชิงพาณิชย์ สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (cut-make-package) โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของเมียนมาร์ตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy : NES) ปี 2020-2025 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ NES 2020-2025 ได้แก่ การผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและไฟฟ้า การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us16551-306-mln-earned-from-foreign-trade-volume-in-more-than-six-months-period-in-2023-24-fy/

กัมพูชา-ตุรกี ตั้งเป้าดันการค้าระหว่างประเทศแตะ 1 พันล้านดอลลาร์

HE SOK Chenda Sophea รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ร่วมกับ Ms. Ülkü Kocaefe เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประกาศกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-ตรุกี ให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ด้านรองนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลตุรกีที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่กัมพูชา ผ่านหน่วยงานความร่วมมือและประสานงานตุรกี (TIKA) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับนักการทูตและนักศึกษากัมพูชาต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501376155/cambodia-turkiye-aim-for-two-way-trade-goal-of-1-billion/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือน

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 35,160 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 5.9 เหลือมูลค่า 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี แคนาดา และสหราชอาณาจักร สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รองเท้า เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยาง ผลไม้ และสิ่งทอ ขณะในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และการนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501374641/cambodias-international-trade-reaches-35-billion-in-nine-months/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ารวมสูงถึง 8.09 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศจีนในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.8 ที่มูลค่ารวม 935.95 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 มาอยู่ที่มูลค่า 7.15 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสหรัฐฯ ครอบตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา ด้วยปริมาณการค้ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนามที่มูลค่าการค้าทวิภาคี 4.30 พันล้านดอลลาร์ ไทยที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม 2.58 พันล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นที่มูลค่าการค้ารวม 1.20 พันล้านดอลลาร์ ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้ภาคการค้าทวิภาคีเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359586/cambodias-trade-with-china-crosses-8-billion/

‘เวียดนาม-อิสราเอล’ ตั้งเป้าเพิ่มยอดการค้า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย เหงียน ห่ง เซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทางการค้าระหว่างสองประเทศที่จะมีผลต่อการเติบโตทางการค้าระหว่างเวียดนามและอิสราเอล และคาดว่าจะทำรายได้สูงถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-อิสราเอล (VIFTA) จะสร้างโอกาสและผลประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะด้านการค้าและการค้าลงทุน มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-israel-aim-to-boost-bilateral-trade-to-us3-billion/

‘เวียดนาม-ไทย’ จับมือยกระดับการค้าพุ่ง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม กล่าวในงาน “Thailand-Vietnam Business Forum 2023” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่าภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรทางการค้า ‘ไม่ใช่คู่แข่ง’ และกล่าวเสริมว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน โดยเฉพาะสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามในปีที่แล้ว อยู่ที่ 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.74% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/general/2630199/thailand-vietnam-seek-to-boost-trade-to-25bn