“ไทยเบฟ” วางแผนจัดตั้งโรงงานมูลค่ากว่า 7 พันล้าน ในกัมพูชา

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการลงทุนจะเน้นวางรากฐานการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเป็นหลัก โดยใช้เงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกัมพูชาประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานขยายตลาดกัมพูชาและฐานการผลิตวิสกี้ซิงเกิ้ลมอลลต์ ขายในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น สำหรับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศ จากทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อบริษัท แต่ถึงอย่างไรจำเป็นต้องประเมินถึงแรงกดดันจากภาะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ไปจนถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของเราได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆ รักษาผลกำไรสุทธิ ส่วนแบ่งตลาดและคำนึงถึงความรับผิดชอบ ความยั่งยืนเป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี มีรายได้อยู่ที่ 216,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501371751/thaibev-plans-7-billion-baht-expansion-including-new-factory-in-cambodia/

กัมพูชาถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน

การประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (CEPSI) ครั้งที่ 24 มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมินทางตอนใต้ของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม นำโดยสภาการไฟฟ้าของจีน (CEC) ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงปากีสถาน กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Xu Guangbin ผู้อำนวยการของ CEPSI กล่าวเสริมว่าในระหว่างการประชุมจะมีเซสชันและกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสในการร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงาน ภายใต้ธีม “Low Carbon Energy Powering a Green Future” โดยเชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระยะต่อไป สำหรับบริษัทพลังงานของจีนกำลังมุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลก โดยจนถึงขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ลงทุนและสร้างโครงการพลังงานแล้ว 16 โครงการ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของการลงทุนภาคพลังงานในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367595/cambodia-is-among-10-countries-where-1-95-billion-of-the-total-foreign-investment-by-major-chinese-power-companies-went/

‘นายกฯ เวียดนาม’ ชวนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 โดยมีนายมาร์ค แนปเปอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม และจอห์น นิวฟ์เฟอร์ ประธานและซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ (SIA) เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ นักธุรกิจสหรัฐฯ ยกย่องศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ซึ่งมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีการส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจในประเทศและสถาบันฝึกอบรม อีกทั้ง นายกฯ เวียดนาม เชิญชวนให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การออกแบบ การผลิต การฝึกอบรมกำลังคนและสถาบันวิจัย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-calls-on-us-semiconductor-firms-to-invest-more-in-vietnam/268253.vnp

“เศรษฐา” ประกาศ ใส่เกียร์สูงดันเศรษฐกิจไทย ทวงคืนจุดหมายการลงทุนชั้นนำ

ณ โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรก ในรอบ 15 ปี ในขณะที่การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น รวมถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (an “Innovative, Inclusive and Integrated (3Is) Thailand”) อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1089603

คาดการลงทุนภาคการเกษตรของจีน จะช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจให้แก่กัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิจัยของจีน (Chinese Cambodian Evolution Researcher Association: CCERA) เปิดเผยว่า การลงทุนของจีนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ได้ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกัมพูชาเกิดการขยายตัว รวมถึงสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นหลายแสนคน อีกทั้งยังลดการอพยพหรือการย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่การพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปยังจีนมากขึ้น ด้วยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาต่อประเทศคู่แข่ง สำหรับเดือนที่แล้ว บริษัท Danong Agricultural Development Group ของจีน มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคเกษตรของกัมพูชา ไปยังภาคอุตสาหกรรมเกษตร 75 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 เฮกตาร์ ในจังหวัดพระตะบอง โพธิสัตว์ เสียมราฐ และกำปงธม ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 12,700 ล้านดอลลาร์ แสดงถึงความต้องการด้านการลงทุนของภาคเกษตรกรรมกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359851/chinese-investment-in-agricultural-sector-gives-fillip-to-economy/

‘เวียดนาม’ โอกาสขึ้นแท่นฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลก

เหงียน ตรัง เวือง (Nguyen Thang Vuong) จากสำนักงานตลาดยุโรปและอเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าแอปเปิล (Apple) ได้ย้ายโรงงานของบริษัทไต้หวัน จำนวน 11 แห่งไปยังเวียดนามแล้ว และมองว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่ต้องการขยายเครือข่ายและตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม อาทิเช่น อินเทล (Intel) ได้อัดฉัดเม็ดเงินทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเวียดนาม ขณะที่บริษัทของเล่นระดับโลกสัญชาติเดนมาร์ก เลโก้ (LEGO) ประกาศทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานในเมืองบิ่นห์เซือง ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/great-opportunity-for-vietnam-to-be-a-global-production-base-post1044055.vov

คาดการขาดแคลนแรงงานใน สปป.ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนในประเทศ

แรงงาน สปป.ลาว เดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อแสวงหาโอกาสด้านการจ้างงานในต่างประเทศท่ามกลางค่าครองชีพในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาล สปป.ลาว ต้องพยายามหาหนทางในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้รัฐบาล สปป.ลาว ได้ประกาศความตั้งใจที่จะดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น และบรรเทาปัญหาทางการเงินของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และลดภาระหนี้ของภาคประชาชน แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาวจะส่งผลเป็นอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานภายในประเทศ สะท้อนมาจากเสียงของผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาล สปป.ลาว ยังได้อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้แก่คนงานในการหางานชั่วคราวในต่างประเทศ อย่างเช่น ในเกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุนและการสนับสนุนภาคแรงงาน นักลงทุนและรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และส่งเสริมให้แรงงานเข้าศึกษาในระดับอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อให้มีทักษะในวิชาชีพมากขึ้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/30/laos-labor-shortage-plagues-local-industries-hurts-foreign-investment-drive/

นักลงทุนเข้าลงทุนในกัมพูชาผ่าน Single Portal แตะ 8.33 พันล้านดอลลาร์

ธุรกิจมากกว่า 28,169 แห่ง เข้าจดทะเบียนในระบบธุรกิจออนไลน์ (Single Portal) ด้วยเงินลงทุนจดทะเบียนรวม 8.33 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ขณะที่ในแง่ของมูลค่าการลงทุนตามภาคส่วน ภาคการก่อสร้างมีการจดทะเบียนมากที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ 941 ล้านดอลลาร์ หลังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ไฟสแรกไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2020 และเฟสที่สองในวันที่ 15 ก.ย. 2021 โดยระยะที่สามเพิ่งเริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเน้นให้บริการออกใบอนุญาต ใบรับรอง ใบประกอบวิชาชีพ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จาก 12 กระทรวงและสถาบัน โดยการจัดตั้งระบบการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์มีส่วนช่วยในการลดขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501343475/single-portal-receives-8-33-billion-investment-capital/

ผลสำรวจชี้ ‘ธุรกิจเยอรมนี’ เล็งขยายการลงทุนในเวียดนาม

คณะผู้แทนอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของเยอรมันในเมียนมา (AHK) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเยอรมนี พบว่าธุรกิจเยอรมนีส่วนใหญ่ 91% กำลังวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่ 40% มีแผนที่จะจ้างพนักงานมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการ อาทิเช่น ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอิทธิผลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง รวมไปถึงได้รับแรงหนุนมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และนโยบาย “China Plus One” ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการไหลเข้าของเงินลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/most-of-surveyed-german-firms-plan-expansion-in-vietnam/265966.vnp

EXIM Bank พร้อมหนุนการเงิน AMATA City Lao สร้างเมืองอัจฉริยะ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด (AMATA City Lao) ผ่านการร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 150 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับซื้อที่ดินและพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย ในแขวงหลวงน้ำทาทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ด้านบริษัท AMATA City Lao ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม AMATA ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ด้วยความเล็งเห็นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนโยบายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste Discharge) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย มุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ในระยะยาว บนพื้นฐานของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกรอบแนวคิด “ALL WIN” โดยโครงการนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโลจิสติกส์และคลังสินค้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และยา ด้านการลงทุนบริษัทวางแผนที่จะใช้เงิน 500 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาที่ดินเฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 8,075 ไร่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_153_Investor_y23.php