รัฐสภายุโรปอนุมัติมติให้สัตยาบันข้อตกลง EVFTA และ EVIPA

จากที่ประชุมสภายุโรป (EP) เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVIPA) สำหรับข้อตกลง EVIPA มีมติในการประชุมด้วยเสียงข้างมาก 407 ต่อ 188 เสียง และงดออกเสียง 53 เสียง ขณะที่ ข้อตกลง EVFTA มีมติการประชุมด้วยเสียง 401, 192 และ 40 ตามลำดับ ทั้งนี้ ข้อตกลง EVFTA คาดว่าจะผลักดันการส่งออกของเวียดนามและการกระจายสินค้าไปขายในหลายๆตลาด ซึ่งผลจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันทีร้อยละ 65 ของสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายในระยะเวลา 10 ปี ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโปรจะลดภาษีทันทีร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายในระยะเวลา 7 ปี นอกจากนี้ จากการวิจัยของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (MPI) ระบุว่าข้กตกลงทั้งสองฝ่ายจะช่วยให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.6 และแนวโน้มการส่งออกของเวียดนามไปสภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 42.7 ในปี 2568 ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 29.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแนวโน้มการส่งออกของสหภาพยุโรปไปเวียดนามจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 29 ในปี 2578

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/ep-ratifies-evfta-evipa-409974.vov

เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

โดย Soison Lohsuwannakul I วิจัยกรุงศรี Research Intelligence

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เป็นความตกลงแรกของเวียดนามที่เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า อีกทั้งยังครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ที่สำคัญจะช่วยให้เวียดนามเพิ่มแต้มต่อและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลข้างเคียงเชิงลบ โดยสินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU อาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและ EU มากขึ้นในระยะนับจากนี้

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 ทางการเวียดนามและสหภาพยุโรป (The European Union: EU) ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU- Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)/1 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ความตกลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020

สำหรับความตกลง EVFTA ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ (1) ความตกลง EVFTA มีระดับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกือบ 100% สูงสุดในบรรดาความตกลงที่เวียดนามลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว/2 (2) เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU/3 และ (3) เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง/4 กับ EU ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเชิงปริมาณ (ในลักษณะของการลดอัตราภาษีนำเข้าหรือการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ) ยังรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้า EU จะลดภาษีให้เวียดนามในสัดส่วนสินค้าที่มากกว่าและกรอบเวลาที่สั้นกว่าเวียดนาม ดังนี้
  2. EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  3. เวียดนาม จะยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU เป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 98.3 ภายในระยะเวลา 11 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  4. การเปิดเสรีด้านบริการ ภายใต้ EVFTA เวียดนามมีการเปิดเสรีในระดับสูงกว่าที่ตกลงไว้กับ WTO และสูงกว่าความตกลงอาเซียน
  5. การเปิดเสรีการลงทุน: ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามเปิดเสรีในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
  6. การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต เวียดนามและ EU เปิดเสรีการลงทุนเกือบทุกสาขา
  7. สำหรับการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาบริการ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการ และสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต
  8. การเปิดเสรีด้านอื่น ๆ : ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามมีอยู่ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานและสัญญาของรัฐได้ อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public contracts) เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานของรัฐได้ ภายใต้ความตกลง EVFTA นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาของรัฐ ที่อยู่ภายใต้อำนาจระดับกระทรวงของเวียดนาม

การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ภายใต้ EVFTA จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อเวียดนามในระยะยาว

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ความตกลง EVFTA พบว่า มีนัยสำคัญต่อการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่

  1. การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA เอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น
  2. การเปิดกว้างด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยนักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานของรัฐและเข้าร่วมโครงการลงทุนของภาครัฐได้เป็นครั้งแรก ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการสรรหาผู้รับงานที่หลากหลาย
  3. ความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ จะส่งผลเกื้อหนุนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลง EVFTA ยังมีประเด็นครอบคลุมถึงการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การลดการผูกขาดของรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ

EVFTA อาจส่งผลเชิงลบต่อไทย จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU

  • ผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะส่งผลสุทธิทางลบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไปเวียดนามและ EU

ผลจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการย้ายฐานการลงทุน (Investment relocation) ที่เกิดขึ้นจากความตกลง EVFTA จะทำให้ประเทศอื่นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบ

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 จากการสูญเสียความได้เปรียบทางภาษี

ในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับต้นๆ ของเวียดนาม เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านภาษีจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเมื่อเวียดนามเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA อัตราภาษีนำเข้าที่เวียดนามเก็บจากสินค้า EU จะลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 0 เวียดนามจึงมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก EU ทดแทนสินค้าจากไทย

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและ EU จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 สำหรับในปีแรกที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้สัดส่วนสินค้าที่เวียดนามลดภาษีนำเข้าให้ EU ทันทีจะอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะแรก ได้แก่ โพรลิเอทิลีน, เครื่องส่งวิทยุ/โมเด็ม/แลนด์ไร้สาย, ไดโอด/อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่เพียงผลเชิงบวกที่เวียดนามจะได้รับจากการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามไปยัง EU มีความได้เปรียบด้านราคาและสินค้าจากเวียดนามยังมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของ EU มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้ผลบวกเพิ่มเติมจากความพิเศษของ EVFTA ที่เหนือกว่าความตกลงอื่น ๆ ทั้งจากการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ การลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-evfta

เวียดนามตั้งเป้ายอดส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ ยังคงตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2562 แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เพื่อให้ได้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมีอัตราการเจริญเติบโตในการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 11-12 ต่อปี โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น เช่น จีน อินเดีย และบังคลาเทศ เป็นต้น และทางสมาคมหวังว่าผู้ประกอบการจะได้รับยอดคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ เพื่อให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการ คือ การหาตลาดใหม่และการร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ EVFTA และ CPTPP เป็นต้น นอกจากนี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของสมาคมสิ่งทอเวียดนาม มองว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน นับว่าเป็นไปได้ยากที่อุตสาหกรรมสิ่งทอจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ภายในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/569282/garment-export-target-of-40-billion-a-long-shot.html#lGuhOAC3rkrrqwYh.97

เวียดนามตั้งเป้า GDP ขยายตัว 7% ในปี 2564-2568

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) คาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับทรงตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี และผลิตภาพแรงงานจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะมีผลกระทบเขิงบวกมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องมาจากมีกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ของความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า  เป็นต้น นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีจะช่วยให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-gdp-expected-to-expand-7-in-20212025-406577.vov

EVFTA ส่งผลให้บริษัทโลจิสติกส์ เผชิญกับความท้าทายและโอกาส

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อที่จะพยุงธุรกิจ เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้กระตุ้นอุปสงค์ด้านโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น โดยคุณ Thi Thu Trang, ผู้อำนวยการหอการค้าเวียดนาม ระบุว่าเมื่อผลของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA มีผลบังคับใช้ จะเปิดโอกาสแก่บริษัทบริการโลจิสติกส์ของสหภาพยุโรป ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่สามารถนำเงินทุน เทคโนโลยีใหม่ๆ และโอกาสในการร่วมมือของธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยต้นทุนโลจิสติกส์เวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21-25 ของ GDP นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศยังไม่พร้อม ส่งผลต่อความสามารถในการกระจายสินค้า และภาวการณ์แข่งขันของสินค้าเวียดนามลดลง

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/evfta-to-bring-logistics-firms-both-opportunities-and-challenges-405316.vov

FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ “การทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EU-VN FTA)” เหตุผลเพราะช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป สำหรับสินค้าเวียดนามให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 เกี่ยวกับประเด็นการเปิดตลาดสินค้า การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าทั้งสองประเทศ เป็นต้น จะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมายให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสหภาพยุโรป อีกทั้ง เวียดนามยังใช้สิทธิ GSP จะเป็นโอกาสที่เวียดนามสามารถเข้าตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่า GSP ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า (โทรศัพท์มือถือ) รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น

ที่มา : https://bangkokbanksme.com/en/fta-vietnam-eu

FTA อียู-เวียดนาม จะกระเทือนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในอียู?

สหภาพยุโรปและเวียดนาม ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (EVFTA) เมื่อปลายปี 2558 ในสาระสำคัญของความตกลง EVFTA คือ การลดภาษีสินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 99 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ซึ่งการลดภาษีสินค้าดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเวียดนามมากขึ้น แต่หากพิจารณาเฉพาะหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ในระยะสั้นถึงกลาง ไม่ได้ส่งผลให้เวียดนามได้เปรียบไทยมากนัก เพราะแม้ว่าไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าประเภทนี้ในปัจจุบัน แต่อัตราภาษีนำเข้าในอียูก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ที่ร้อยละ 0-4 ประกอบกับไทยมีฝีมือการเจียระไนอัญมณีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงทำให้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการจของตลาดโลกรวมถึงตลาดอียูอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในระยะยาว EVFTA อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะแม้ว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามไปยังอียูจะยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น หากเวียดนามได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และสินค้าอัญมณีเวียดนามก็อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดของไทยในอียูได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://infocenter.git.or.th/Content_View.aspx?id=2605&Lang=TH&mail=1