เวียดนามเผย ม.ค. ยอดส่งออกผักและผลไม้ ลดลง 7.6%

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เผยว่าในเดือนมกราคม เวียดนามส่งออกผักและผลไม้อยู่ที่ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไม่สามารถคาดการณ์ถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว ชี้ว่าประเทศจีนยังเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว ด้วยสัดส่วน 56.3% ของส่วนแบ่งตลาดรวม ถึงแม้ว่ายอดการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดจีน จะลดลง 25.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ระดับ 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาตลาดสหรัฐฯ (168.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.3% โดยประเทศจีน สหรัฐฯและออสเตรเลียเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในตลาดเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำถึงบริษัทในท้องถิ่นว่าควรจะยกระดับคุณภาพของสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎระเบียบและทำให้แน่ใจว่าถูกต้องตามกฎด้านอาหารและความปลอดภัย

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fruit-and-vegetable-exports-decline-by-76-in-january-836248.vov

จุรินทร์ สกัดพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ตรุษจีน

จุรินทร์ สั่ง พาณิชย์ทุกจังหวัด ตรวจสอบราคาสินค้า ช่วงตรุษจีน ห้ามไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าช่วงนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด ออกตรวจตลาดทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบ โดยกำชับมิให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วง หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฏหมายอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการกระทรวงพาณิชย์ จัดพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชนอย่างต่อเนื่อง ล็อตที่9 ซึ่งเริ่มลดราคาสินค้า ค่าบริการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมระยะเวลา 1 เดือน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ที่จะนำสินค้า บริการ ค่าขนส่งเข้าร่วมลดราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดค่าครองชีพ ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ ร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1 แสนร้านค้าและมีสินค้าเข้าร่วมกว่า 1 ล้านรายการที่ร่วม “ปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด ทำให้ประชาชนใช้ช่องทางการสั่งซื้อสินค้า อาหาร เครื่องอุปโภค โดยใช้บริการขนส่งแบบเดลิเวอรี่ ตนจึงได้กำชับให้พาณิชย์ทุกจังหวัดดุแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้ง สำรวจราคาสินค้า ตรวจการปิดป้ายแสดงราคาสินค้า รวมไปถึง การปิดป้ายราคารับซื้อพืชผลทางการเกษตรด้วย”

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-609832

ไตรศุลี กำชับตรุษจีนอย่าขายของแพง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.พ.เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชน ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน ซึ่งการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้ ประเมินว่า ประชาชนจะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยตรวจสอบทั้งราคาและการโฆษณาเกินจริง ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงป้องกันมิจฉาชีพ โฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน จึงให้ประชาชน ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนเลือกซื้อสินค้า หากพบพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1166 โดย ในวันตรุษจีน วันที่ 12 ก.พ.นี้ รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ชิญชวนประชาชนจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยสามารถซื้อสินค้าและบริการผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการหมุดเวียนของเม็ดเงิน กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย.

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/823919

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

เอกชนหวั่นรัฐประหารเมียนมาดันแรงงานทะลักเข้าไทย

เอกชนหวั่นแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทย ซ้ำเติมโควิด-19 ยิ่งกระทบศก. ชี้อีกมุมการค้าไทยได้ประโยชน์ ตื่นรัฐประหาร แห่ตุนสินค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากพลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมาว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานเมียนมา อาจไหลทะลักเข้ามาในไทย จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้ประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากประชาชนอาจตื่นตะหนกกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย โดยด่านพรมแดนของ จ.เชียงราย มีทั้งหมด 6 ด่าน สร้างรายได้รวมประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการนำเข้า–ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยกับลาว โดยจะติดตามสถานการณ์ภายในของเมียนมาอย่างใกล้ชิดต่อไป นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบการทำรัฐประหารเมียนมา จะส่งผลต่อไทยบ้างเล็กน้อยเนื่องจากการค้าและการส่งออกไทยไปยังเมียนมาในปัจจุบันมีไม่มากแล้ว เพราะส่วนใหญ่เมียนมาได้ผลิตในประเทศเองไม่เหมือนเมื่อก่อน โดยสิ่งที่จะกระทบคงจะเป็นด้านพลังงาน เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจไทยแห่งหนึ่งได้เข้าลงทุนในเมียนมา หากยืดเยื้ออาจกระทบต่อการต่อสัมปทานในระยะข้างหน้าได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/822756

เจ้าท่า ลุยปรับปรุงท่าเรือเกาะสมุย บูมเที่ยวทะเลอ่าวไทย

กรมเจ้าท่า เร่งปรับโฉมใหม่ท่าเรือเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คาดแล้วเสร็จปี 67 รองรับการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้น-ยกระดับมาตรฐานท่าเรือให้ปลอดภัย นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการตามแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ เพื่อยกระดับท่าเรือให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งท่าเทียบเรือดังกล่าว เป็นท่าเรือสำคัญที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่าเรือเกาะสมุย เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังเกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะม้า จ.สุราษฎร์ธานี ในอนาคตอาจมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่า จึงดำเนินการปรับปรุงรื้อถอนท่าเทียบเรือเดิมบางส่วน และปรับปรุงท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างท่าเทียบเรือเพื่อส่งเสริมหน้าท่าพื้นที่ 864 ตารางเมตร และเพิ่มพื้นที่สะพานทางเดิน 2,340 ตารางเมตร สร้างอาคารพักคอยรองรับผู้โดยสารเรือครุยส์ ขนาด 1,800 ตารางเมตร และอาคารพักคอยด้านหลังท่าเทียบเรือ 182.25 ตารางเมตร และงานก่อสร้างด้านอื่นๆ ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย และได้มาตรฐานความปลอดภัย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 67 ทั้งนี้ การปรับปรุงท่าเรือเกาะสมุยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจฝั่งอ่าวไทยในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/822510

มองเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ โอกาสของทุนไทย

โดย SME Social Planet I ธนาคารกรุงเทพ

ความเนื้อหอมของ ‘เวียดนาม’ ในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน จากปัจจัยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2562 จากข้อมูล World Economic Outlook, October 2019 ซึ่งเทียบได้กับราว 44 % ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามที่คาดว่าจะขยายตัวแค่ 2.91% แต่เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวนั้นกลับสวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ติดลบ และยิ่งไปกว่านั้นมีการประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 6.5-7 ในปี 2564 เลยทีเดียว

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก (GDP) มีการเติบโตถึง 2.91% ในปี 2020 เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง อาทิ

  1. มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน
  2. เวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก
  3. เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน

ไทยมองการลงทุนเวียดนามอย่างไร

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำ ทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ

นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะวีเอ็น (AMATAV) กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

เห็นได้ว่าทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันเอกชนที่เข้มแข็ง และตัวแทนเอกชนที่เป็นแนวหน้าไปลงทุนในเวียดนาม ต่างมีความเห็นที่น่าสนใจกับการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ภายใต้การที่เอเชียจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่หลังโควิด 19 รวมทั้งประเด็นการลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างชาติ และการจูงใจนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้หากสามารถปรับแผนให้โครงการ EEC ของไทย เป็นศูนย์กลางในการกระจายการลงทุนในภูมิภาคได้ ก็จะยิ่งเกิดเป็นประโยชน์คู่ขนาดของสองชาติได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/look-vietnam-economy-opportunities-thai-capital

นักลงทุนไทยเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม

สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวโอกาสทางการลงทุน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 45 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเวียดนาม นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ได้บรรยายถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามและการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 13 โดยคาดว่าจะส่งผลให้เวียดนามก้าวเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2588 ทั้งนี้ ธุรกิจไทยทุ่มเงินกว่า 12.84 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยัง 600 โครงการในเวียดนาม จำแนกออกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน, นิคมอุตสาหกรรม, เทคโนโลยีขั้นสูง, พลังงานและเกษตรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ นายสนั่น  อังอุบลกุล  ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่ามีความสนใจอย่างมากในการลงทุนไปเวียดนาม เนื่องมาจากความมีเสียรภาพทางการเมือง การประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แรงงานจำนวนมาก กำลังซื้อสูงและสภาพแวดล้อมการลงทุน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/thai-investors-keen-on-future-business-opportunities-in-vietnam-833370.vov

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยต่ำกว่าเป้าหมาย

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศกำหนดไว้ในปี 2015 ซึ่งในปี 2019 การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ 7.236 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทย โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยในปี 2020 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.148 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 49.5 ส่วนกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.089 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยประจำกัมพูชากล่าวว่า โควิด-19 ถือเป็นส่วนที่ทำให้ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศเป็นเรื่องยาก แต่นักลงทุนและนักธุรกิจไทยยังคงมั่นใจในศักยภาพการลงทุนในกัมพูชาและยังคงมีการแสวงหาโอกาสในการลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807076/thai-cambodia-2020-bilateral-trade-below-goal-by-50-percent/

สปป.ลาวคุมเข้มเฝ้าระวังชายแดนหลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เชื่อมโยงประเทศไทย

สปป.ลาวได้คุมเข้มการลักลอบเข้าเมืองหลังจากพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย  ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว สปป.ลาวกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันยาว 1,845 กิโลเมตรโดยส่วนใหญ่ปักปันแม่น้ำโขง ทำให้การลักลอบกลับมาของแรงงานสปป.ลาวที่ไปทำงานในประเทศไทยอาจทำได้ง่าย และอาจเป็นต้นตอให้เกิดการระลอกใหม่ในสปป.ลาว ณ ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อในสปป.ลาวอยู่ที่ 43 รายซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 13,687 คน สูงเป็นอันดับ 6 ของภูมิภาค

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2056823/laos-tightens-border-watch-after-virus-imports-from-thailand