สปป.ลาว-ไทย ทุ่มงบสร้างทางด่วนเชื่อมเวียดนาม

เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว และไทย ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนระยะทาง 160 กม. จากสะหวันนะเขตตอนกลางของ สปป.ลาว ไปยังด่านชายแดนลาวบาวของเวียดนาม ด้านรองผู้ว่าการสะหวันนะเขต นาย Senesak Soulysak ได้เสนอแผนการก่อสร้างทางพิเศษต่ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และเจ้าหน้าที่ไทยฝ่ายอื่นๆ รวมถึงรายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว สนามกอล์ฟ ตลอดจนบริการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคพลังงานหมุนเวียน สำหรับทางด่วนคาดว่าจะส่งเสริมปริมาณการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสอง ในจังหวัดสะหวันนะเขต รองจากจีน

ที่มา : https://vir.com.vn/laos-thailand-mull-over-building-expressway-linking-to-vietnam-104642.html

เวียงจันทน์เร่งปรับปรุงถนนรองรับ “ASEAN Chairmanship 2024”

ทางการนครหลวงเวียงจันทน์กำลังพยายามเร่งการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพ “ASEAN Chairmanship 2024” โดยกรมได้ลงนามในสัญญา 12 ฉบับกับบริษัทภาคเอกชนในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนในนครหลวงเวียงจันทน์ จากข้อมูลของแผนกงานซ่อมแซมในเขตเมืองและชานเมือง โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 42 นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีได้แนะนำให้กรมเร่งซ่อมแซมถนนและระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ภายในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเพื่อปรับปรุงการจราจรบนท้องถนน ด้านกระทรวงโยธาธิการและขนส่งคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 11.26 ล้านดอลลาร์ ในการซ่อมแซมถนนและจัดการระบบน้ำท่วมในเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี 2024

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/17/vientiane-speeds-up-revamp-of-roads-for-asean-chairmanship-2024/

ปักกิ่งทุ่มทุนพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน

ปักกิ่งจะมอบเงินทุนสนับสนุน 300 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 41.34 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน กล่าวโดย Wang Yi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา Sun Chanthol ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกัมพูชา-จีน ซึ่งมีนาย Hor Namhong เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วม ซึ่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์, ทางด่วนพนมเปญ-บาเวต, ทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ, โครงการรถไฟกัมพูชา และโครงการคลอง Funan Techo ที่กำลังดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน โดยประธานฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา รวมถึงการสร้างถนนยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งและปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกัมพูชา ผ่านการสนับสนุนจากจีน ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342655/beijing-commits-300-million-yuan-to-develop-high-speed-rail-network/

โอกาสและความท้าทายตลาดพลังงานของกัมพูชา

โดย AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ตลาดพลังงานของกัมพูชาก็เหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกัมพูชาในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในตลาดพลังงานของกัมพูชาคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ขณะที่ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

ความท้าทายข้างต้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ก็พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างหนัก ทำให้กัมพูชาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและถูกโจมตีได้ง่ายจากราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและระดับน้ำที่มีความแปรปรวนในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนและบริษัทด้านพลังงานต่างๆ เนื่องจากความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเปิดโอกาสในตลาดนี้ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การส่งผ่านและการจ่ายไฟฟ้า อีกทั้งพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเพิ่มส่วนของพลังงานทดแทนในแผนการผสมผสานพลังงานหลายประเภทของประเทศก็นับเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชั้นเลิศ โดยในปี 2563 กัมพูชาได้เปิดทำการโรงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะที่ พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณที่ราบสูงมีศักยภาพอย่างมากด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากมายสำหรับบริษัทต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก แต่ภาคพลังงานทดแทนในกัมพูชายังคงเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น การไม่มีกรอบข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับพลังงานทดแทนนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความเติบโตของภาคธุรกิจนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงของโครงการพลังงานทดแทนและการขาดแคลนทางเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาเหมาะสมก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนและกำลังเสาะหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงกำลังพัฒนากรอบข้อบังคับที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความชัดเจนและความมั่นคงมากขึ้น

โดยสรุป ตลาดพลังงานของกัมพูชามีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพลังซึ่งจะเห็นได้จากที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมาก แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เหมาะสมและจัดหาการเข้าถึงทางเลือกของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ประสบกับความสำเร็จด้านธุรกิจขณะที่กัมพูชาเองก็บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aec-connect-opportunities-and-challenges-in-cambodias-energy-market

อ้างอิง : Exploring Cambodia’s energy market, challenges and opportunities – Khmer Times (khmertimeskh.com)

สวิตเซอร์แลนด์พร้อมสนับสนุนส่วนความปลอดภัยเขื่อนใน สปป.ลาว

สวิตเซอร์แลนด์มอบเงินกว่า 5.2 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการจัดตั้งสถาบันด้านความปลอดภัยเขื่อนใน สปป.ลาว โดยได้บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางเขื่อนใน สปป.ลาว ระหว่าง นาย Bouathep Malaykham อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพลังงานและการจัดการความปลอดภัย ร่วมกับ นาย Jesper Lauridsen ผู้อำนวยการ Helvetas Swiss Intercooperation Laos โดยโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่สามส่วนสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิคให้แก่กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของเขื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากข้อบกพร่องในการออกแบบ การก่อสร้าง การบำรุงรักษา การเฝ้าระวัง และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นต่อมาเพื่อหวังเสริมสร้างกรอบการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและให้การสนับสนุนแผนกการจัดการพลังงานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ส่วนประเด็นสุดท้ายเพื่อหวังสนับสนุนการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางเขื่อนในการจัดตั้งสถาบันเพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเขื่อน นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นสำหรับประชากรประมาณกว่า 1.5 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน และถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแหล่งผลิตพลังงานที่ยั่งยืนให้แก่ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_148_switzerland_y23.php

ทางการ สปป.ลาว ปรับปรุงถนนหมายเลข 13 ในเขตบอลิคำไซ

ทางการ สปป.ลาว ยกระดับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 13 ทางตอนใต้ในจังหวัดบอลิคำไซ โดยงานพัฒนาในระยะแรกผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ด้านหัวหน้าโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 Mr.Sisomphanh Phimsipasom ยืนยันว่าโครงการดำเนินไปตามแผนที่ร้อยละ 97 ของงานในส่วนแรก ด้วยการดำเนินการภายใต้สัญญาสองฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกเกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมถนนระยะทาง 40 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 71 ถึงกิโลเมตรที่ 111) ด้วยมูลค่าโครงการจำนวน 17.5 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลก รวมถึงทำการขยายความกว้างของถนนจาก 9 เมตร เป็น 12 เมตร สำหรับระยะที่สองของการพัฒนาครอบคลุมระยะทางกว่า 79 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 111 ถึง กิโลเมตรที่ 190) ภายใต้การสนับสนุนทางด้านเงินกู้จำนวน 28 ล้านดอลลาร์จาก European Investment Bank

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten138_Upgrade_y23.php

“กรมธุรกิจพลังงาน” ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลัก

นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) ว่า โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือเป็นโครงการซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถขนส่งน้ำมัน ลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนืออันเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญนี้ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานจะส่งเสริมให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลักของประเทศ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV ต่อไป

ที่มา : https://www.thaimungnews.com/?p=39331

เกาหลีใต้มอบทุนสนับสนุน 4.25 ล้านดอลลาร์ ยกระดับท่าเรือลุ่มแม่น้ำโขง สปป.ลาว

สาธารณรัฐเกาหลีได้บริจาคเงินทุนกว่า 4.25 ล้านดอลลาร์ ให้กับโครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลท่าเรือแม่น้ำโขง (Port-MIS) 5 แห่ง ในประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานของท่าเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการพัฒนาแผนแม่บทสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นในการดำเนินการท่าเรือร่วมด้วย ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (KOICA) และกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว​ ในการจะจัดหาอุปกรณ์ ICT เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของท่าเรือทั้ง 5 แห่ง โครงการห้าปีจะดำเนินการจนถึงปี 2570

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_131_SKorea_y23.php

ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐในกัมพูชา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 98%

ณ วันที่ 30 มิ.ย. Sin Chanserivutha เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา ระบุว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้ในเดือน ต.ค. นี้ แล้วเสร็จแล้วร้อยละ 98 โดยสนามบินแห่งใหม่นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Siem Reap Angkor International Airport” และมีชื่อรหัสว่า VDSA (รหัส ICAO) และ SAI (รหัส IATA) ซึ่งถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งขนาดใหญ่ของกัมพูชาที่ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณกว่า 880 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 โครงการสนามบินดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชน Tayek เขต Sot Nikum ห่างจากเมืองเสียมราฐประมาณ 51 กม. และห่างจากนครวัด 40 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320870/siem-reap-new-international-airport-construction-98-complete/

สมาชิกสภาแห่งชาติขอรัฐบาล สปป.ลาว ซ่อมแซมถนนหมายเลข 13

สภาแห่งชาติ (NA) ของแขวงหลวงพระบาง ได้ขอให้รัฐบาลดำเนินการซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 ทางตอนเหนือของประเทศ เนื่องจากรถบรรทุกที่มีการบรรทุกน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถนนสายดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนระหว่างอำเภอ Kasy, Phoukhoun และ Xieng Ngeun และทางเชื่อมไปยังถนนหมายเลข 7 ที่นำไปสู่จังหวัด Xieng Kuang ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เร่งพิจารณาแนวทางฉุกเฉินในการซ่อมแซมถนน เพื่อไม่ให้การเดินทางระหว่างเวียงจันทน์และแขวงทางภาคเหนือเป็นอุปสรรค อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกเป็นการป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินขนาด จนส่งผลทำให้ถนนเสื่อมสภาพไวกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน กระทรวงกำลังมองหาสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างสถานีชั่งน้ำหนักเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_128_NAmember_y23.php