9 เดือน ของปีงบฯ 65-66 เมียนมาส่งออกกุ้ง พุ่ง! 12,000 ตัน ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กรมประมงของเมียนมา เผย ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน 2565-เดือนธันวาคม 2565) ของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกกุ้งไปยังต่างประเทศมากกว่า 12,355 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 10,388 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีงบประมาณก่อน โดยสินค้าประมงของเมียนมาถูกส่งออกไปยัง 45 ประเทศในทุกๆ ปี ส่วนใหญ่ส่งออกผ่านการค้าชายแดนเป็นหลัก ในธุรกิจเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่นำเข้าลูกพันธ์กุ้งจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ทั้งนี้ ภาคการเกษตรถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของเมียนมา โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และคิดเป็นร้อยละ 68 ของรายได้หลักของชุมชนในประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-us44-mln-from-export-of-over-12000-mt-of-shrimps-to-foreign-markets-in-9-months/

‘ยูโอบี’ ประมาณการ GDP เวียดนาม ปี 2566 โต 6.6%

กลุ่มธนาคารยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ (UOB) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเวียดนาม (GDP) ในปี 2566 ประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ประมาณ 6.6% ถึงแม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง และตามรายงานบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัว 5.92% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 13.67% ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม รายงานว่า GDP ของเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 8.02% จากที่เติบโตเพียง 2.58% ในปี 2564 ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญของธนาคาร กล่าวว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและบริการในปี 2565 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเวียดนาม หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://en.nhandan.vn/uob-maintains-vietnams-gdp-growth-forecast-at-66-post121526.html

สมัชชาแห่งชาติ (NA) ตั้งเป้าเศรษฐกิจ สปป.ลาว โต 4.5% ปีนี้

สมัชชาแห่งชาติ (NA) ตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 4.5 ในปี 2023 ตามที่รัฐบาล สปป.ลาว เสนอ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยภาคการเกษตรคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตที่ร้อยละ 5 คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของ GDP ภาคบริการคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.7 คิดเป็นร้อยละ 37.5 ของ GDP ในขณะที่การจัดเก็บภาษีคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของ GDP ซึ่งมูลค่าของ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 234,160 พันล้านกีบภายในสิ้นปีนี้ โดย GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1,625 ดอลลาร์ และรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ต่อหัวอยู่ที่ 1,534 ดอลลาร์ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2022 อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดกว่าที่ร้อยละ 38.46 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.75 ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ปริมาณเงินในความหมายอย่างกว้าง (M2) หรือเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten02_Na_23y.php

คาด GDP กัมพูชา ปี 2023 เติบโตต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2023 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวซึ่งคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อปี รวมถึงคาดว่ากัมพูชาจะยังคงใช้นโยบายภาครัฐแบบเกินดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางกลับเข้ามายังกัมพูชา หลังจากจีนมีกำหนดที่จะเปิดประเทศอีกครั้งในเดือน ม.ค. ซึ่งการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดการณ์ไว้จะทำให้เศรษฐกิจกัมพูชากลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501213048/gdp-increase-expected-for-2023/

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.8% ปีนี้

ธนาคารโลกรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงภาคการส่งออกก็เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลกประจำเดือนธันวาคม โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเดินทาง และรองเท้าของกัมพูชาสามารถฟื้นตัวได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Living with COVID-19” ได้กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 1.2 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198797/world-bank-says-cambodias-economy-on-recovery-path-forecast-4-8-percent-gdp-growth-for-this-year/

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ตามบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vietnam Briefing เปิดเผยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการค้าและค่าจ้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6% ของ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของอาเซียน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการทำ FTA หลายรายการสินค้า อีกทั้ง การรับรองมาตรฐานสินค้า การผลิตและสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้างและรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบมากที่สุด คือค่าจ้างแรงงานที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/three-factors-keep-vietnams-economy-humming-along-post987158.vov

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

รัฐบาลคาดเศรษฐกิจสปป.ลาว ปี 65 โต 4.4%

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่ารัฐบาลได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ ขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมอยู่ที่ 4.5% โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัว 4.5% และชะลอตัวเหลือ 4.2% ในไตรมาสที่สอง และ 3.8% ในไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนมาจากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้แล้วเป็นบางส่วน หลังจากยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และพลังงานมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten208_Economy.php

“เวียดนาม” เติบโตเร็วสุดในอาเซียน คาด GDP ปีนี้เพิ่มขึ้น 8%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ว่า Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีเวียดนาม มั่นใจว่าการเติบโตของเวียดนามจะเกินความคาดหมายในปีนี้ และยังคงรักษาตำแหน่งเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ในปี 2566  โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ย 7.3% ที่ประเมินไว้ในแบบสำรวจของ Bloomberg และขยายตัว 6.5% ในปีต่อไป ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมสภาแห่งชาติช่วงฤดูใบไม้ร่วง นายกรัฐมนตรีเวียดนามอธิบายว่าการคาดการณ์ปี 2566 นั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายและความยากลำบากมากมายที่เศรษฐกิจเผชิญท่ามกลางแนวโน้มทั่วโลกที่แย่ลง ผลการดำเนินงานของ GDP ในปีปัจจุบันจะเพิ่มความท้าทายสำหรับการเติบโตในปีหน้าด้วยฐานที่สูงขึ้น

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-gdp-20102022

“เวียดนาม” รั้งตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน ปี 2570

ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะขยายตัวอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนภายในปี 2570 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขของขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาประเทศไทย 522.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม มีมูลค่าของ GDP อยู่ที่ 439.37, 424.43, 411.98 และ 408.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2568-2570 จีดีพีของเวียดนามจะขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน +6

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-gdp-set-to-rank-third-in-asean-by-2027-2066437.html