‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า พ.ค.-มิ.ย. สูญเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก (WB) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ปัญหาไฟฟ้าดับในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก สูญเสียเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม รวมถึงยังส่งผลกระทบไปในวงกว้างต่อกิจกรรมทางด้านพลังงานเกิดหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภาคพลังงานของเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและการเข้าถึงไฟฟ้าของคนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาไฟฟ้าดับในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้เปิดเผยช่องโหว่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/may-june-power-shortages-cost-vietnam-us-1-4-billion-world-bank-2177190.html/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีทิศทางดีดตัวฟื้นขึ้นในปี 2567

นางดอร์สาติ มาดานิ (Dorsati Madani) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (WB) กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มดีดตัวฟื้นขึ้นมาในปี 2567 และปี 2568 และระบุว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐฯ ยุโรปและจีน ต่างได้รับผลกระทบเชิงลบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการส่งออกและนำเข้าที่หดตัวลง ตลอดจนมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ นาย Nguyen Anh Duong ผู้อํานวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจภายใต้สถาบันกลางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) มองว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการจัดการนโยบาย และการรักษาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-growth-projected-to-rebound-from-2024/266184.vnp

‘เมียนมา-เวียดนาม’ ตั้งเป้าขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

นาย U Kyaw Soe Win เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศเวียดนาม หารือกับนาย Chu Cong Phung ประธานสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-เมียนมา ร่วมกันหารือในประเด็นของการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ และภาคส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม ประธานสมาคมฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายการลงทุนและการค้าในเมียนมา รวมถึงยังหารือในด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ และเล่าถึงความยากลำบากของธุรกิจเวียดนามในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-viet-nam-aim-to-increase-collaborations-in-trade-and-investment-sectors/#article-title

‘ครั้งแรก’ บริษัทอินโดนีเซียส่งออกชาอู่หลงไปยังเวียดนาม

บริษัท PT Perkebunan Nusantara (PTPN) ของอินโดนีเซีย และกลุ่มบริษัท PT Suntory Garuda Beverage เปิดเผยว่าธุรกิจทำการส่งออกชาอู่หลง (Oolong tea) ไปยังเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สำหรับเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม (RTD) ทั่วตลาดเอเชีย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเริ่มต้นการส่งออกในปี 2564 และผ่านขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ รวมถึงการทดลอง การประเมินและการตรวจสอบชาอู่หลงที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท PTPN ที่ได้รับการรับรองจากระบบมาตรฐานแห่งชาติ (SNI) และผ่านการประเมินปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชด้วยสารออกฤทธิ์ที่จำเป็น 268 รายการ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/indonesian-firms-export-first-batch-of-oolong-tea-to-vietnam-post1038334.vov

ผลสำรวจชี้ ‘ธุรกิจเยอรมนี’ เล็งขยายการลงทุนในเวียดนาม

คณะผู้แทนอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของเยอรมันในเมียนมา (AHK) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเยอรมนี พบว่าธุรกิจเยอรมนีส่วนใหญ่ 91% กำลังวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่ 40% มีแผนที่จะจ้างพนักงานมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการ อาทิเช่น ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอิทธิผลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง รวมไปถึงได้รับแรงหนุนมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และนโยบาย “China Plus One” ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการไหลเข้าของเงินลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/most-of-surveyed-german-firms-plan-expansion-in-vietnam/265966.vnp

‘ทูน่าเวียดนาม’ ส่งออกไปยังอิตาลีพุ่ง เหตุแรงจูงใจด้านภาษี

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังตลาดอิตาลีในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 12 เท่า เนื่องจากได้รับอัตราภาษีพิเศษที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ประเมินว่าอิตาลีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่าไปยังอิตาลี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกเนื้อปลาทูน่าแช่แข็งหรือเนื้อปลาแบบฟินเล รหัสศุลกากร HS0304 ไปยังตลาดอิตาลี เพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-tuna-exports-to-italy-skyrocket-due-to-tax-incentives-post1038172.vov

‘เวียดนาม’ โตทุ่มตลาด เตรียมจ่อเก็บภาษีน้ำตาลจากไทย

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเป็นครั้งแรกที่กระทรวงฯ ทำการทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนน้ำตาลจากไทย โดยได้ออก Decision No. 1989/QD-BCT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 – 15 มิถุนายน 2569 ทั้งนี้ ผลการบังคับจะมีผลต่อบริษัทไทยบางแห่ง ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ 4 แห่ง ตามมาด้วยบริษัท ซีซาร์นิโคว, บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทในเครืออีก 5 แห่ง ด้วยเหตุนี้ จากการพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด พบว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาด เรียกเก็บขั้นต่ำ อยู่ที่ 25.73% และอัตราสูงสุดที่ 32.75% นอกจากนี้ ภาษีต่อต้านการอุดหนุน อยู่ที่ 4.65%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-to-impose-anti-dumping-duty-on-sugar-imports-from-thailand/