ราคายางพาราเมียนมา พุ่งแตะ 1,300 จัตต่อปอนด์

ราคายางพาราในรัฐมอญ พุ่งแตะ 1,300 จัตต่อปอนด์ โดยที่ผ่านมาราคาเคยพุ่งไปถึง 1,600 จัตต่อปอนด์ ในเดือนกันยายน ปี 2565  เป็นผลมาจากความต้องการยางพาราและผลผลิตจากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งผลให้ราคายางในตลาดเมียนมามีความผันผวน ซึ่งจากข้อมูลปี 2561-2562 เมียนมามีพื้นที่เพาะปลูกยางพารา 1.628 ล้านเอเคอร์ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง ภาคตะนาวศรี ภาคพะโค และภาคย่างกุ้ง มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมดส่งออกไปยังจีน ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้จากการส่งออกยางมากกว่า 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-price-hits-k1300-per-pound-in-domestic-market/

Ruili Airlines ดีเดย์ 21 ม.ค.66 เปิดเที่ยวบินตรงมัณฑะเลย์-มังซี

สายการบินหยุยลี่ แอร์ไลน์ (Ruili Airlines) ของประเทศจีน เตรียมเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังเมืองมังชี (Mangshi) ในวันที่ 21 มกราคม และจะให้บริการเที่ยวบิน 3 วันต่อสัปดาห์ ได้แก่ วันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ ซึ่งที่ผ่านมา Ruili Airlines ได้ระงับเที่ยวบินชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ เที่ยวบินตรงของ Ruili Airlines จะออกจากเมืองมังชี เวลา 17.00 น. ไปถึงเมืองมัณฑะเลย์เวลา 18.10 น. และจะออกจากเมืองมัณฑะเลย์เวลา 19:10 น. ไปถึงเมืองมังชี เวลา 20:10 น.

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mandalay-mangshi-direct-flight-to-be-resumed-on-21-jan/

Q4 ปี 65 ค้าชายแดนเมียนมา-บังคลาเทศ ทะลุ! 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของหอการค้ารัฐยะไข่ ของเมียนมา เผย ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2565 มูลค่าการส่งออกของเมียนมาผ่านชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ อยู่ที่ 5.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยชายแดนซิตเวย์และหม่องดอ ซึ่งเป็นการส่งออกสินค้าประมงเป็นหลัก เช่น ปลายี่สกเทศ ปลาตะลุมพุกฮิลซา และปลากะตัก ส่วนสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค มีการส่งออกบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เมียนมาได้ส่งออก ข้าวพันธุ์ Emata จำนวน 2,500 ตัน ไปยังบังกลาเทศผ่านท่าเรือซิตเวย์ อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-5-mln-worth-of-exports-in-q4-2022/#article-title

9 เดือนของปีงบฯ 65-66 ส่งออกเมียนมา พุ่ง! 14%

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2565-2566 (วันที่ 1 เมษายนถึง 6 มกราคม 2566) เมียนมามีมูลค่าการส่งออก 1.275 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2564-2565) ที่มีมูลค่า 1.115 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการที่จีนผ่อนปรนคลายกฎระเบียบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้การส่งออกในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณนี้โดยเฉพาะในด่านชายแดนอย่าง  Mang Wein และ Kyinsankyawt ที่ได้เปิดทำการค้าขายอีกครั้งหลังจากถูกปิดมาเกือบ 3 ปี นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ป่าไม้และปศุสัตว์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP ที่ถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศได้กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ และนำเข้ามูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์  โดยประเทศผู้นำเข้าสินค้าหลักของเมียนมา  ได้แก่ จีน ไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-up-by-14-over-past-nine-months/#article-title

ค้าชายแดนเมียนมา-จีนอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในการซื้อขาย

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ประกาศให้การซื้อ-ขาย แถบชายแดนเมียนมา-จีน ใช้สกุลเงินหงวนได้นอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรอย่าง วพัลส์ ข้าวโพด และงา ส่วนผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปู และปลาไหล ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ระหว่างวันที่ 1 ถึง 3 มกราคม 2566 การซื้อขายแถบชายแดนเมียนมา-จีน มีรถบรรทุกสินค้าส่งออกจำนวน 541 คันและรถบรรทุกนำเข้าจำนวน 114 คัน โดยมีสินค้าส่งออก ได้แก่ ปู งา แตงโม ข้าว ปลายข้าว ปลาไหล และ อ้อย ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ยานพาหนะและเครื่องจักรกลหนัก โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร แอปเปิล ส้ม เครื่องครัว อะไหล่รถจักรยานยนต์ วัตถุดิบพลาสติก หลอดไฟฟ้า หลอดไฟ และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-allows-yuan-dollar-payments/#article-title