“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ดันไทยผงาดเครื่องมือแพทย์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้แล้วเสร็จในปีหน้า หลังอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) และมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.09% จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปีหน้า อีกทั้งโควิด-19 ได้ส่งผลให้สินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทขาดแคลน โดยได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (ปี 2564-2570) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570 สำหรับร่างแผนปฏิบัติการจะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรคและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแผนปฏิบัติการที่เริ่มปฏิบัติได้ทันที โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ 2.การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น และ 3.การส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1939100

เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยพุ่ง 100% ในเดือนสิงหาคม

จากรายงานทางสถิติเบื้องต้นของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม จำนวนนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ (CBU) พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 85.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 คัน) โดยส่วนใหญ่มาจากตลาดหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ไทย 4,743 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย 2,523 คัน และจีน 572 คัน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดของเวียดนามในเดือนนี้ ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 8,836 คัน เป็นมูลค่าที่ 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ในเดือนกรกฎาคม นำเข้ารถยนต์อยู่ที่ 4,761 คัน เป็นมูลค่าที่ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รถยนต์ที่นำเข้าจากไทยในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ซึ่งอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100 (มีเพียง 2,234 คัน ในเดือนกรกฎาคม)

ที่มา : https://customsnews.vn/automobiles-import-from-thailand-increase-by-100-in-august-15964.html

ไทย-สปป.ลาวร่วมทุนก่อตั้งบริษัทค้าเม็ดไม้ Wood Pellet แห่งแรกในสปป.ลาว

บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท บุรีรัมย์กรีนเอนเนอร์จี จำกัด (BGE) และ บริษัท สีพันโทนโบลาเวนดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท สี่แผ่นดินราช – ลาว จำกัด เพื่อเปิดตัวโครงการ wood pellet ในสปป.ลาว ทุนจดทะเบียน 1.7 ล้านบาทหรือ 500 ล้านบาทตามรายงานของ RATCH Group โครงการดังกล่าวคาดว่าโรงงานเม็ดไม้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2565 จะมีกำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี โครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 3,000 เฮกตาร์ในแขวงจำปาศักดิ์โดยมีแผนจะส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ภายใต้สัญญาระยะยาวปัจจุบันความต้องการเม็ดไม้ในภาคอุตสาหกรรมมีเพิ่มขึ้นทั่วโลกและยังใช้เม็ดไม้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกด้วย อุตสาหกรรมเม็ดไม้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากความต้องของประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วอย่างยุโรปที่มีความต้องการสูงและเป็นคู่ค้าคนสำคัญ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2020/09/23/first-wood-pellet-project-to-be-launched-in-laos/

ส่งออก ส.ค.ฟื้นติดลบแค่ 7.94% มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญในรอบ 5 เดือน

“พาณิชย์” เผยการส่งออกเดือน ส.ค. 63 ฟื้นตัวต่อเนื่อง มูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 5 เดือนอัตราการขยายตัวติดลบเหลือ 7.94% ส่วนยอดรวม 8 เดือนลบเหลือ 7.75% คาดแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นลักษณะเหมือนเครื่องหมายถูก มั่นใจทั้งปีลบไม่เกิน 2 หลัก น่าจะลบ 5% ถึงลบ 8% โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.94% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งในแง่มูลค่าที่กลับมาส่งออกเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 5 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2563 และการขยายตัวติดลบน้อยลง จากที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือน มิ.ย. 2563 ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.68% ทำให้เกินดุลการค้ามูลค่า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 8 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.75% นำเข้ามูลค่า 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.31% เกินดุลการค้ามูลค่า 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในต่างประเทศก็มีการส่งออกที่ลดลง เช่น ญี่ปุ่น ลด 16.6% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 16.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 16.5% CLMV ลด 9.3% เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะไม่ติดลบในระดับ 2 หลักอย่างที่หลายๆ ฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ น่าจะติดลบ 5% ถึงลบ 8% โดยการส่งออกลบ 5% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,145 ล้านเหรียญสหรัฐ และลบ 8% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 18,298 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000097477

หวั่นโควิดรอบ 2 จำกัดขนส่งสินค้าข้ามเมียนมาเหลือ 6 คัน

นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยถึงการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดนแม่สาย จังหวัดเชียงรายลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา ทำให้ไทยต้องยึดมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีปริมาณการขนส่งสินค้าราว 1,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางประเทศเมียนมามีการจำกัดปริมาณการเดินรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าด่านดังกล่าวเหลือเพียง 6 คันต่อวัน ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในเมียนมา ทำให้ต้องควบคุมด้านความปลอดภัยในการเข้า-ออกประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/450100

เล็งขยายลดภาษีน้ำมันเครื่องบินอีก6เดือน

สรรพสามิตเปิดทางลดภาษีน้ำมันเครื่องบินเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร อีก 6 เดือน กรณีการพิจารณาขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินในประเทศให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินโลวคอสต์ว่า ล่าสุดผู้บริหารสายการบินโลวคอสต์ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการในการขยายเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวออกไป จากที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ย.2563 อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตเห็นว่าหากการปรับลดภาษีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และมีส่วนช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ สำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2563 ภาษีน้ำมันอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมลิตรละ 4.762 บาท

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/633556

เปิดเวทีรับฟังเอฟทีเอ ไทย-อียู 22ก.ย.นี้ เพิ่มโอกาสค้าขายสินค้าไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู 22 ก.ย.นี้ หลัง “ไอเอฟดี” ศึกษาเสร็จแล้ว “อรมน” ชี้ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 62.8% ถ้าได้อียูที่มีสัดส่วนการค้า 7.9% จะทำให้การค้าของไทยกับประเทศที่ทำ FTA เพิ่มเป็น 70.7% ยิ่งสร้างโอกาสค้าขาย แย้มผลศึกษา สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกได้เพียบ แต่ก็ต้องเปิดตลาดให้อียูเพิ่ม จับตาหากเจรจา ต้องรับมือกับประเด็นใหม่ๆ ด้วย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนา “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU?” ในวันที่ 22 ก.ย.2563 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งระดมความเห็นเรื่องการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนที่จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอระดับนโยบายประกอบการพิจารณาตัดสินใจการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า การทำ FTA กับอียูจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก แต่ในทางกลับกัน ไทยจะต้องเปิดตลาดให้อียู ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไทยนำเข้าสินค้าบางชนิดจากอียูเพิ่มขึ้น เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เมล็ดพืชน้ำมัน และสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังพบว่า FTA ที่อียูทำกับสิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นใหม่ๆ รวมไว้ในการจัดทำ FTA ด้วย เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน และการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องพิจารณาระดมความเห็นว่าไทยพร้อมที่จะเจรจากับอียูในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร เพราะจะมีผลต่อการนำไปสู่การปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าของไทย.

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/796498

Beef Board ทบทวนยุทธศาสตร์ 20 ปี หวังปั้นไทยเป็นผู้นำการส่งออก

นส.พ.อภัย สุทธิสังฃ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนข้อเสนอยุทธศาสตร์โคเนื้อ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมคือ การเป็นผู้นำการผลิตโคเนื้ออย่างมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยในระยะ 5 ปีแรก Beef Board ได้ทบทวนผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นการรักษาตลาดการบริโภคโคเนื้อไทย ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการกระตุ้นการเพิ่มประชากรโคเนื้อไทย และยุทธ์ศาสตร์ที่ 3 เป็นการบริหารจัดการพืชอาหารสัตว์และอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตโคเนื้อที่เพียงพอต่อการบริโภคและส่งของในภูมิภาค ในระยะ 10 ปีประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาดโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ในอาเซียน+3 ในระยะ 15 ปีประเทศไทยจะเป็นผู้นำการตลาดมูลค่าโคเนื้อด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในระยะ 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์เนื้อโคในตลาดโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกว่า 909,324 ราย ซึ่งมีโคเนื้อทั้งหมดกว่า 6,230,140 ตัว โดยประมาณการผลผลิตโคเนื้อในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 1.224 ล้านตัว เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3159845

ตลาดนัด SME ยอดซื้อขายทะลุ 30 ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการจัดงาน ตลาดนัด SME “เราช่วยไทย ไทยช่วยกัน” สร้างยอดขายกว่า 30 ล้านบาท เพิ่มโอกาส สร้างรายได้พร้อมต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่าตลาดนัด SME เราช่วยไทย ไทยช่วยกัน  ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงวันที่ 4 – 6 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 4 หมื่นคน โดยจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 600 ราย ที่นำสินค้าและบริการมาจำหน่าย สามารถทำยอดขายโดยรวมมากกว่า 30 ล้านบาท โดยเฉพาะในหมวดของอาหาร เกษตรแปรรูป สินค้าแฟชั่นจำพวกสิ่งทอ เสื้อผ้า รวมถึงบริการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของยอดขายทั้งหมดในงาน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับสูงมากถึง 86% โดยเฉพาะในด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่นำเสนอในงาน ซึ่งตลอดทั้ง 3 วัน ได้มีกิจกรรมที่เน้นเพิ่มความรู้ด้านการตลาดในยุค New Normal การปรับตัวของธุรกิจและกรณีศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก “แม้ว่าตลาดนัด SME จะเป็นงานในระดับเล็ก แต่สิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย อุดหนุนสินค้าและบริการของไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และการเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการที่นำสินค้าและบริการมาเสนอในงาน โดย SME และวิสาหกิจชุมชนต้องเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และทำการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงรูปแบบสินค้าใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเร่งให้ความช่วยเหลือสนับสนุน SME และวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าถึงแหล่งทุน และตลาดทั้งในรูปแบบ Offline และ Online ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

ที่มา: https://bit.ly/35B7FOJ

ทูตพาณิชย์ จีบนักค้าเพชรพลอย ร่วมงานบางกอกเจมส์ปีหน้า

“ทูตพาณิชย์ดูไบ” เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากกลุ่มตะวันออกกลาง ร่วมซื้อและเจรจาธุรกิจสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในงาน BGJF Special Online Edition เดือนพ.ย.นี้ และจีบเข้าร่วมงานบางกอกเจมส์ที่เลื่อนไปจัดก.พ.64 ด้วย มั่นใจดันสินค้าไทยขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น ด้านนักธุรกิจชาวอาหรับ ยันสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน พร้อมร่วมมือค้าขาย นายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ นิว จิวเวลเลอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย กรุ๊ป และ ดูไบ โกลด์ แอนด์ จิวเวลรี่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกกลาง : การเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน” โดยได้ใช้โอกาสนี้ เชิญชวนให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และนักธุรกิจในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เข้าร่วมชมงานและเจรจาธุรกิจในงาน BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition” ระหว่างวันที่ 2–4 พ.ย.2563 เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำการค้าระหว่างกันในรูปแบบ New Normal ซึ่งได้รับการตอบจากเป็นอย่างดี และมั่นใจว่าจะสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังได้เชิญชวนให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 66 ที่เลื่อนการจัดไปเป็นวันที่ 23-27 ก.พ.2564 ด้วย สำหรับตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 43% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดไปประเทศกลุ่ม MENA นายเมฮรัน มหาลาตี ประธานกรรมการบริษัท มหาลาตี จิวเวลรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะมีตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเกิดใหม่มากมาย เช่น เวียดนามและจีน แต่การทำธุรกิจกับไทยมีความง่าย และเมื่อเทียบฝีมือและคุณภาพของชิ้นงานแล้ว ไม่มีที่ไหนเอาชนะไทยได้ โดยยืนยันที่จะทำธุรกิจกับไทยต่อไป น.ส.มหา อัล ซีไบ นักออกแบบและผู้ก่อตั้งบริษัท มหา อัล ซีไบ จิวเวลรี่ กล่าวว่า ไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของโลกได้ เพราะฝีมือการดีไซน์ งานหัตถศิลป์ และคุณภาพของสินค้าไทย เป็นที่ยอมรับระดับโลกมาเสมอ โดยขอแนะนำว่าควรมีแพลตฟอร์มให้นักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับของไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถพบปะและและเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ และยังมีแผนที่จะเปิดฐานการผลิตในไทยด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/795118