‘สแตนชาร์ด’ คาดส่งออกเวียดนามปี 2030 ยอดพุ่งเกิน 620 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่าเวียดนามพร้อมที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางการค้าโลก จากการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกที่จะสูงถึง 618 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 พร้อมกับเวียดนามมีศักยภาพอย่างมากที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้ในระดับโลก ทั้งนี้ จากรายงานฉบับก่อนที่เผยแพร่ในปี 2021 ได้มีการประเมินไว้ว่าตัวเลขการส่งออกของเวียดนามจะสูงถึง 535 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับล่าสุดที่ปรับตัวเลขการคาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางด้านการส่งออกของเวียดนาม ด้วยสัดส่วนราว 50% ของตัวเลขที่คาดการณ์ในปี 2030

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/standard-chartered-forecasts-vietnams-2030-export-revenue-to-reach-us620-billion/

เอดีบี ชี้ ‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ส่อผิดนัดชำระหนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ในเอเชียว่าดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และรายงานยังเปิดเผยว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ ลดลง ตั้งแต่ 1 มี.ค. จนถึง 2 มิ.ย. เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคงทางการเงิน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีสัดส่วนหนี้เสียสูงถึง 20% อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ ยังมีสัดส่วนยอดคงค้างพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 33.8% ของมูลค่าทั้งหมด

ที่มา : https://vir.com.vn/adb-highlights-default-risks-in-vietnams-property-markets-102853.html

“เวียดนาม” ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอาเซียน

คุณ Le Hoang Anh ผู้อำนวยการกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเวียดนาม เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน Google, Temasek และ Bain & Company ในปี 2565 ที่มุ่งเน้น 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 460 ล้านคน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าอาเซียนจะบรรลุอัตราการเติบโต 2 เท่าต่อปี และจะเติบโตที่ 11.43% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและแคนาดา นอกจานี้ เมื่อศึกษากรณีประเทศเวียดนาม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-fosters-cross-border-e-commerce-in-asean-2157258.html

“เมย์แบงก์” คาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน

คุณ Datuk Khairussaleh Ramli ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของเมย์แบงก์ กรุ๊ป (Maybank Group) เปิดเผยว่าในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว กลุ่มประเทศในอาเซียนกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งและมีทิศทางที่สดใส ท่ามกลางกระแสลมจากสถานการณ์ทั่วโลกที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดมากกว่า 660 ล้านคน และ GDP รวมกันทั้งสิ้นราว 3.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 อีกทั้ง กลุ่มประเทศอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม คาดว่าจะเติบโตที่ 4.2% ในปีนี้ และเกินกว่า GDP โลกที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.0%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/maybank-vietnam-among-fastest-growing-countries-in-asean-2156785.html

กัมพูชาส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนระหว่าง เวียดนาม และสปป.ลาว

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังเตรียมลงนามข้อตกลงกับธนาคารแห่งรัฐเวียดนามและธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียลของกัมพูชาในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันข้ามพรมแดน กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการ NBC ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อของเวียดนามในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำว่าความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคใช้สกุลเงินเรียลในการซื้อสินค้า/บริการในประเทศมากขึ้น ผ่านการใช้งานบนระบบ QR Code ที่เชื่อมโยงกับบัญชีในประเทศของตน ซึ่งรองผู้ว่าการฯ สังเกตว่าความต้องการในการใช้เงินสกุลเรียลเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การไหลเวียนของเงินเรียลในกัมพูชามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.6 หรือคิดเป็นประมาณ 14.1 ล้านล้านเรียล (เทียบเท่ากับ 3.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 356 ล้านเรียลในปี 1998 โดยการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกัมพูชา เนื่องจากปริมาณเงินเรียลในระบบมีการใช้อยู่ค่อนข้างน้อย จนทำให้ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ใช้นโยบายทางการเงินได้ไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันกลุ่ม ASEAN-5 ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว เพื่อจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนโดยใช้ QR Code ร่วมกันภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311878/cambodia-to-promote-cross-border-digital-payment-with-viet-nam-laos/

“เวิลด์แบงค์” คาดเงินเฟ้อเวียดนาม มีแนวโน้มลดลงเป็นเดือนที่ 4

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยลดลงจาก 2.8% ในเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 2.4% ในเดือน พ.ค. ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง 4.5% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่ 4.6% ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว การส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลง ในขณะที่การเบิกจ่ายการลงทุนยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเริ่มประสบกับภาวะไฟดับในช่วงปลายเดือน พ.ค. ซึ่งหากไม่แก้ไขอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลง ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-vietnams-cpi-inflation-trends-down-for-fourth-month-post126588.html

นิกเคอิสื่อชั้นนำญี่ปุ่น ชี้ “ท่องเที่ยวเวียดนาม” โตเร็วกว่าไทย

นายออมรี มอร์แกนสเติร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Agoda แพลตฟอร์มจัดการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ กล่าวกับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ว่าการท่องเที่ยวของเวียดนามเติบโตเร็วกว่าไทย และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ชาวเกาหลีจำนวนมากจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากบริษัทเกาหลีได้ตั้งโรงงานและเปิดดำเนินการที่เวียดนามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งชุมชนชาวต่างชาติขึ้นมา ในขณะที่จากข้อมูลของสื่อชื่อดังญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเวียดนามมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นรองจากญี่ปุ่นและไทยที่เป็นจุดหมายปลายทางในเอเชีย นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศกว่า 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.6 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวหลักของเวียดนาม รองจากจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-tourism-growing-faster-than-in-thailand-japan-nikkei-asia-2156461.html