‘เวียดนาม’ เผยยอดดึงดูดเม็ดเงิน FDI พุ่ง 1.1%

ตามรายงานของกระทรวงวางแผนและการลงทุน ระบุว่าเวียดนามคาดปีนี้ จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 23.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว มูลค่ากว่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐเทไปยังโครงการใหม่ เพิ่มขึ้น 11.6% และอีก 7.09 พันล้านเหรียญสหรัฐไหลเพิ่มไปยังโครงการปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 24.2% แต่ยอดเงินทุนสำหรับการควบรวมกิจการ ลดลง 40.6% ทั้งนี้ เงินทุน 12.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ (53.7% ของยอดเงินทุนรวม) ไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป รองลงมาภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 5.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ และที่เหลือไหลเข้าไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งและค้าปลีก ในขณะที่สิงคโปร์ยังคงเป็นแหล่งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 6.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/foreign-investment-up-1-1-pct-4379087.html

 

‘เวียดนาม’ เนื้อหอม คงเป็นจุดหมายปลายทางลงทุน แม้เผชิญการระบาด COVID-19

จากรายงานของสถาบันการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ เปิดเผยว่าในปี 2564 เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดและเผชิญกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทานแก่ตลาดส่งออกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ในปีนี้ โดยตัวเลขการค้ายังคงเติบโตได้ดี การค้ารวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 33.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเวียดนามจะยังคงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ราว 30 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-investment-destination-report/211468.vnp

“บางกอกโพสต์” ชี้เวียดนามเป็นพิกัดเป้าหมายทางการลงทุน หลังการระบาดโควิด-19

สำนักข่าวไทย “Bangkok Post” รายงานว่าการลงทุนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความท้าทายของนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความหวังของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตได้ดีมาจากตลาดเวียดนามที่ทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับสากล เนื่องมาจากการขยายตัวของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส โดยกลุ่มบริหารกองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 1.4% แต่เมื่อพิจารณา 3-6 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามมีทิศทางที่เป็นบวก ทั้งนี้ Bloomberg คาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP เวียดนาม สูงถึง 7% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนระยะยาว ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร 2) ผลประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ 3) การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-is-an-investment-destination-in-postpandemic-period-bangkok-post/209969.vnp

9 เดือนขอลงทุนทะลุ 5 แสนล้านบาท บีโอไอโชว์ตัวเลขต่างชาติโตกว่า 200%

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2563 เงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 432,000 ล้านบาท พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน 269,730 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาคือ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่น่าสนใจคือ มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ มี 587 โครงการ เงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_2985772

ภาคการผลิตเมียนมาดึงดูดเม็ดเงิน FDI กว่า 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณที่แล้ว

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท เผย ปีงบประมาณ 2020-2021 บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่จับตาการลงทุนในภาคการผลิตของเมียนมา โดยเพิ่มทุนประมาณ 286 ล้านเหรียญสหรัฐออกใน 27 โครงการ ซึ่งสถานประกอบการผลิตและธุรกิจที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับการจัดลำดับความสำคัญมากเป็นพิเศษ แต่ต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ลดลงอย่างมากจากความต้องการของตลาดสหภาพยุโรปส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบการตัด การผลิต และบรรจุภัณฑ์ CMP บางแห่งปิดตัวลง คนงานหลายพันคนตกงาน แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาลงหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ ปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาร์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 3.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งรวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-attracts-286-mln-last-fy/#article-title

‘บริษัทต่างขาติ’ ชี้เวียดนามยังเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนที่ดี

ตามการประชุมแบบเสมือนจริงภายใต้ชื่องาน ‘ลงทุนเวียดนาม ชนะและความท้าทาย’ นาย Nguyen Hai Minh หุ้นส่วนบริษัท Mzazrs และรองประธานหอการค้ายุโรป กล่าวว่าเวียดนาม ปัจจัยทางด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก และในปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความกังวลว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่เข้ามาทำธุรกิจหรือย้ายออกนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ หอการค้ายุโรปจึงทำการสำรวจในเดือน สิ.ค. พบว่าบริษัทร้อยละ 18 ย้ายฐานการผลิตยางส่วนไปยังประเทศอื่นแล้ว และร้อยละ 16 ยังคงอยู่ในช่วงการประเมิน ทั้งนี้ จากการสอบถามกับหลายๆ บริษัท กล่าวว่าโควิด-19 จะอยู่อีกไม่นาน และคงมองเวียดนามในทิศทางที่เป็นบวกสำหรับด้านการลงทุน ตลอดจนเวียดนามเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/foreign-firms-continue-to-see-vietnam-as-good-investment-location/209497.vnp

 

“Mirae Asset” คาดศก.เวียดนามฟื้นตัวไตรมาส 4

Mirae Asset บริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัว 4% ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และ 2.3% ทั้งปี 2564 หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 หดตัว 6.17% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญของบริษัท มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะประสบความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐและการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมถึงการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามค่อยๆ ที่จะผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและเปิดเศรษฐกิจพื้นที่บางส่วน พร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยอดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องและคงรักษาอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในบรรยากาศทางธุรกิจของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-rebound-in-quarter-4-mirae-asset-896914.vov

 

เดือนส.ค.ของปีงบฯ 63-64 FDI ภาคการเกษตรเมียนมา คิดเป็นเพียง 1% ของการลงทุนทั้งหมด

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย ณ เดือนส.ค. 2564 ของปีงบประมาณ 2563-2564 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคเกษตรของเมียนมามีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2560-2561 มีการลงทุนในภาคเกษตรจำนวน 134.485 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีการลงทุนในปีงบประมาณ 2559-2560 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงสิ้นเดือนก.ย. 2561 มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนกว่า 77.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการลงทุนในภาคการเกษตร กว่า 395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.51% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด .จนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 87.969 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนในภาคการเกษตร เพียง 441.838 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในด้านการปศุสัตว์และการประมงมีการลงทุน 926.218 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/216778

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้เวียดนามอาจดึงดูดเม็ดเงิน FDI ปีนี้ แตะ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่าเวียดนามอาจดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กว่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงสัญญาเขิงบวกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 19.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. ทั้งนี้ คุณ Nguyen Van Toan รองประธานสมาคมผู้ลงทุนในต่างประเทศของเวียดนาม กล่าวว่าแม้จะมีมาตรการเว้นระยะทางสังคม แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยเพียง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะทุนจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 16.3% และการเบิกจ่ายทุน FDI อยู่ที่ 11.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-may-attract-us30-billion-in-fdi-this-year-experts-892505.vov

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479