H1 กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 70% ของเป้าหมายการจัดเก็บประจำปี 2022

กรมภาษีอากร (GDT) กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชากล่าวถึงรายงานการจัดเก็บภาษีเงินได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 70 ของกรอบการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,973 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 2,819 ล้านดอลลาร์ ที่ได้มีการกำหนดไว้ รวมถึง GDT ยังคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ หลังจากได้ทำการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ ในขณะที่กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าและออก ได้รายงานถึงการจัดเก็บภาษีศุลกากรในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่มูลค่า 1,293 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 50.1 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501112847/h1-tax-income-collection-reaches-70-of-2022-plan/

ท่าเรือพนมเปญกัมพูชา รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี

ท่าเรืออิสระพนมเปญ (PPAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีรายรับที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 หรือคิดเป็นมูลค่า 19.76 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายนของปีนี้ โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.02 หรือคิดเป็น 209,176 TEU (หน่วยเทียบเท่า 20 ฟุต) ซึ่งในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว ท่าเรือมีรายรับสูงถึง 3.59 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ารายรับที่เพิ่มสูงขึ้นของท่าเรือสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และเพื่อให้สอดรับกับการฟื้นตัวทางฝั่งผู้บริหารท่าเรือได้เตรียมสร้างท่าเรือตามแม่น้ำอีก 7 แห่ง เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางการเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501113592/phnom-penh-autonomous-port-sees-h1-revenue-surging/

แนวโน้มส่งออก มะม่วง-กล้วย ของกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น

กัมพูชาส่งออกกล้วยเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 168 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เทียบกับการส่งออกในปี 2020 ที่มูลค่า 112 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกกล้วยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เร่งตัวขึ้นมูลค่าแตะ 59 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกมะม่วงในปี 2021 ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานทางเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ในด้านของการผลิตข้าวกัมพูชาก็ปรับตัวดีขึ้นโดยในปี 2021 การผลิตข้าวทั้งหมดของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 หรือคิดเป็นปริมาณ 12.2 เมตริกตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501109912/mango-banana-most-promising-for-export/

 

ครึ่งปีแรก กัมพูชาจัดเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าแล้วกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้รายงานถึงการจัดเก็บภาษีศุลกากรในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,293 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 50.1 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 ด้าน Khun Nhim อธิบดี กล่าวเสริมว่า รายรับจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรและสรรพสามิต ส่วนใหญ่มากจากภาษีรถยนต์และเครื่องจักร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 43 ของการจัดเก็บทั้งหมด โดยหากรวมทั้งภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าและขาออกแล้ว กัมพูชาสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอยู่ที่ 1,726 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นการพลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้อีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501108599/cambodia-2022-first-half-customs-income-at-1-2-billion/

นักท่องเที่ยวต่างชาติ เยือนกัมพูชาพุ่ง 394% ในช่วงครึ่งปีแรก

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 394 หรือคิดเป็นจำนวน 506,762 คน ในช่วงครึ่งปีแรก รายงานโดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ เวียดนาม ไทย จีน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เป็นสำคัญ โดยปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งกัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 700,000 คน ภายในปี 2022 ในขณะเดียวกันกัมพูชาได้มีการบันถึกถึงนักท่องเที่ยวขาออกอยู่ที่ 181,246 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,600 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501109007/foreign-tourist-arrivals-increase-394-percent-in-first-half-of-2022/

CDC ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจมาเลเซียในกัมพูชา

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) พร้อมที่จะให้บริการและสนับสนุนแก่นักลงทุนชาวมาเลเซียในกัมพูชา เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังกัมพูชามากขึ้น ด้าน Sok Chenda Sophea เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา กล่าวในการประชุม ‘การเจรจาระดับสูงอาเซียน-อิตาลีว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ’ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเลขาธิการ CDC กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชาได้ออกกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักลงทุนและเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุนมากขึ้น ในการเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนกัมพูชาจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจากมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น อันเนื่องมาจากข้อตกลงทางการค้า อาทิเช่น EBA, GSP, FTA กัมพูชา-จีน และ RCEP ที่ถือเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ โดยในช่วง มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมาเลเซียอยู่ที่ 244 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 44 ล้านดอลลาร์ ไปยังมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501108010/cdc-offers-support-for-malaysian-businesses-in-cambodia/

กัมพูชาจ่อออก Golden Visa ให้กับนักลงทุนไทย

กัมพูชาเปิดตัวโครงการ “My 2nd Home” เพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในกัมพูชา โดยโปรแกรมนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างนึงว่า “Golden Visa” ซึ่งจะให้วีซ่ากับนักลงทุนเป็นเวลา 10 ปี โดยไม่จำกัดการเข้าออกประเทศ ควบคู่ไปกับสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ทางการกัมพูชาจะมอบให้ ซึ่งผู้ที่ต้องการที่จะสมัครวีซ่าดังกล่าว จะต้องเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ในกัมพูชา และเป็นบุคคลที่รัฐบาลกัมพูชารับรอง โดยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาหรือความสามารถทางภาษา ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าข้างต้นจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงประกันและการรักษาพยาบาลแบบวีไอพี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501108375/cambodia-goes-head-on-with-thailand-in-implementing-10-year-golden-visa/

สหภาพแรงงานกัมพูชาเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 204-214 ดอลลาร์

ก่อนการเจรจากับทางกระทรวงแรงงานกัมพูชา สหภาพแรงงานกำหนดหัวข้อในการเจรจาขอปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในช่วง 204-214 ดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า และสินค้าการเดินทาง ภายในปี 2023 หลังจากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ 194 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลและการวิจัยทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขัน สถานการณ์ตลาดแรงงาน และผลกำไรของภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501107632/labour-unions-in-cambodia-want-minimum-wage-of-204-214-ahead-of-talks/

ไทย-กัมพูชา ลงนาม MoU ปราบแก๊ง Call Center

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงไปรษณีย์ และโทรคมนาคมของกัมพูชา ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค รวมถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทั้งสองประเทศได้แต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานระหว่างกัน ไปจนถึงการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยและกัมพูชา เพื่อให้สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างทันท่วงที ประสานงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ไปจนถึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา และ ความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501107583/thai-cambodian-mou-on-suppression-of-cyber-scams-approved/

จีนให้คำมั่นกัมพูชา สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง

Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ให้คำมั่นต่อกัมพูชาในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านการส่งออกและการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-10 ทุกปี ในด้านการลงทุน Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึง 206 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง จีน-กัมพูชา ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนมีมูลค่าถึง 4,990 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต ในขณะที่กัมพูชาส่งออกไปยังจีนมูลค่ารวมอยู่ที่ 519.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,470 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501106399/china-pledges-continuous-support-for-cambodias-economic-development/