“เวียดนาม” เผยเดือน ม.ค. ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการ พุ่ง 20%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกสินค้าและบริการของเวียดนามในเดือนมกราคม อยู่ที่ราว 23.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนของรายได้จากการค้าปลีก พบว่ายอดค้าปลีกสินค้ามีสัดส่วนมากที่สุด 27% ของรายได้รวม และมีมูลค่าอยู่ที่ 435.4 ล้านล้านดอง เพิ่มขึ้น 18.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมารายได้จากบริการห้องพักและบริการจัดเลี้ยงอาหาร อยู่ที่ 56 ล้านล้านดอง โดยเฉพาะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอง เพิ่มขึ้น 113.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-sales-of-goods-services-up-20-in-january-post998752.vov

“คนเวียดนาม” มีสัดส่วนประชากรแรงงานต่างชาติมากที่สุดในญี่ปุ่น

กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) เปิดเผยว่าข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2565 พบว่าพลเมืองเวียดนามมีสัดส่วน 25.4% ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมดในญี่ปุ่น โดยจากจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมดข้างต้นนั้น มีชาวเวียดนาม 462,384 คน, ชาวจีน 385,848 คน และชาวฟิลิปปินส์ 206,050 คน นับว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่น และข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนสถานที่ทำงานที่รับจ้างแรงงานต่างชาติ อยู่ที่ 298,790 คน เพิ่มขึ้น 4.8% อีกทั้ง ด้านสถานะการอยู่อาศัย พบว่าจำนวนผู้ถือวีซ่าประเภทผู้เชี่ยวชาญและวิศวกร เพิ่มขึ้น 21.7% อยู่ที่ 479,949 คน และผู้ถือวีซ่าทำงาน เช่น ผู้พำนักถาวรและคู่สมรสของชาวญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 2.6% อยู่ที่ 595,207 คน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-account-largest-proportion-of-japan-s-foreign-worker-population-2104439.html

“ไฮฟอง” ตั้งเป้าศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

เมืองไฮฟอง (Hai Phong) ประเทศเวียดนาม ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายประการในฐานะที่เป็นฮับการขนส่งสินค้าทั้งทางทะเล ทางถนน ทางราง ทางอากาศและทางแม่น้ำ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาการให้บริการทุกมิติของเมืองและโลจิสติกส์ พร้อมกับวิสัยทัศน์ระยะยาวถึงปี 2045 ทั้งนี้ นาย Tran Luu Quang รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเมืองไฮฟองจะทำการปฏิรูปการบริหารและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ ตลอดจนส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการค้า และยกระดับห่วงโซ่บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1455789/hai-phong-aims-to-become-an-international-logistics-centre.html

จับตา “ค้าปลีกเวียดนาม” มีแนวโน้มขยายตัว ปี 2566

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) เปิดเผยว่าขนาดของตลาดค้าปลีกเวียดนาม อยู่ที่ 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยายตัวสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วน 59% ของ GDP ถึงแม้ว่าในปีนี้ สถานกาณณ์ทางเศรษฐกิจจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองว่าในปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มฟื้นตัวของภาคค้าปลีกเวียดนาม หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีสัญญาการกลับมาของนักลงทุนและความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Vietnam Report พบว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ 53.8% มองว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในระดับเท่าเดิมและดีขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ได้อัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีก 852.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังตลาดเวียดนามในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-market-predicted-to-bustle-in-2023/246819.vnp

“สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยมในเวียดนาม

สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในแวดวงสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดที่กำลังพัฒนานั้น ต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอีคอมเมิร์ซ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 72.1 ล้านคน คิดเป็น 73.2% ของประชากรทั้งประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2565 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปีที่แล้ว ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 16.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.5% ของรายได้ของประเทศจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/innovative-start-ups-in-the-e-commerce-sector-2103908.html

“ผู้ประกอบการ SMEs เวียดนาม” ก้าวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

แม้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กว่า 90% ในเวียดนาม ยังเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ บริษัท CNS AMURA Precision Company ได้ดำเนินธุรกิจสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบดิจิทัลและบริษัทมีคำสั่งซื้อใหม่กับพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศ นับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่ หลังจากที่บริษัทกลายเป็นซัพพลายเออร์เทียร์ 1 ของซัมซุง นอกจากนี้ Mr. Tran Ba Linh ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท Dien Quang Lamp Joint Stock Company กล่าวว่านวัตกรรมสายการผลิตโดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร

ที่มา : https://www.sggpnews.org.vn/vietnamese-small-medium-sized-firms-carrying-out-digital-transformation-post99855.html

นักท่องเที่ยวจีนไฟล์ทแรก เดินทางเข้าจ.คั้นห์หว่า ประเทศเวียดนามในช่วงปีใหม่

เที่ยวบิน VJ5317 ของสายการบินเวียดเจ็ทแอร์ (Vietjet Air) เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติคัมรัน จังหวัดคั้นห์หว่า (Khanh Hoa) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของเทศกาลตรุษจีน และนับเป็นเที่ยวบินแรกที่นำนักท่องเที่ยวชาวจีนไปยังจังหวัดคั้ญหว่า หลังจากหายไปนานถึง 3 ปี อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หน่วยงานจังหวัด เปิดเผยข้อมูลสถิติว่าในปีที่แล้ว จังหวัดทำรายได้จากนักท่องเที่ยวกว่า 13.8 ล้านล้านดอง (600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากกว่า 2.5 ล้านคน อีกทั้ง ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดได้ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 4 ล้านคนในปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ 21 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/first-flight-carries-chinese-tourists-to-khanh-hoa-in-new-year-post122030.html

“เวียดนาม” ประกาศลดภาษี VAT เหตุช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจ

กรมจัดเก็บภาษีอากร (GDT) เปิดเผยว่าทางหน่วยงานประสบความสำเร็จในการจัดเก็บงบประมาณรายได้ของรัฐบาล อยู่ที่ 1.692 ล้านล้านดอง หรือคิดประมาณ 20% ของงบประมาณรายได้รวม ซึ่งการจัดเก็บงบประมาณดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานสามารถจัดเก็บรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากกว่า 85% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง ประมาณ 18% ของ GDP ส่งผลให้ธุรกิจ ประชาชนและเศรษฐกิจ เผชิญกับความยากลำบากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเวียดนามจึงดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2% หรือประมาณ 51.4 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vat-reduction-helps-economic-recovery-2101467.html