รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง และคณะ เยือนลาวไพพ์ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ

บริษัท ลาวไพพ์ อินดัสเทรียล เทคโนโลยี โซล จำกัด (ลาวไพพ์) ให้การต้อนรับนายเวียงสวัสดิ์ สีพันโดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง และคณะ เยี่ยมชมโรงงานผลิตและจำหน่ายท่อ DD และ LP ในเขตไชธานี เวียงจันทน์ นายบุญลอง กล่าวว่า “บริษัท ลาวไพพ์ อินดัสเทรียล เทคโนโลยี โซล จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 และตั้งแต่นั้นมาก็ได้จำหน่ายและจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้ากว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ” และยังกล่าวเสริมว่ารัฐบาลส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่นเพื่อลดการนำเข้า ท่อและอุปกรณ์ที่ผลิตในโรงงานลาวไพพ์มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากระบบตรวจสอบและทดสอบที่เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับคนในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Minister181.php

สหรัฐฯ สนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนโควิดในสปป.ลาว

รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขด้วยการแจกจ่ายวัคซีนโควิด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการฉีดวัคซีน และช่วยให้แน่ใจว่าผู้มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนทุกคน การสนับสนุนขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) มูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อรัฐบาลลาวในช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายเหล่านี้ การสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะช่วยให้รัฐบาลเอาชนะความท้าทายที่พบในการควบคุมการระบาดของ Covid โดยให้ความช่วยเหลือในการแจกจ่ายวัคซีนและกำหนดเป้าหมายไปยังผู้ที่ต้องการการฉีดวัคซีนมากที่สุด โครงการนี้จะช่วยให้แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนจะดำเนินการอย่างทันท่วงทีตามนโยบายและแผนของฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_USsupports_180.php

รัฐบาลร่วมมือเอกชนในการพัฒนาไอซีที

กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และ บริษัท ลาว เกตเวย์ จำกัด ร่วมมือทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาจะพัฒนาระบบบัญชีบนคลาวด์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาบัญชีที่ถูกต้องได้ และยังจะพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรับรองความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยมุ่งเน้นที่การขยายกลยุทธ์ของเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล นอกจากนี้ บนเส้นทางสู่การพัฒนาระบบดิจิทัลของรัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารและพันธมิตรด้านการพัฒนายังได้เปิดตัวโครงการ Digital Government Transformation ในปีนี้ เพื่อช่วยสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_179.php

พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 สำเร็จไปแล้วกว่า 14 %

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 เชื่อมจังหวัดบริคัมไซกับจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยข้ามแม่น้ำโขงคีบหน้า 14 % ของการก่อสร้างทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าสะพานจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาคอีกแห่งสำหรับสปป.ลาวและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสปป.ลาว 1.38 พันล้านบาท นายเลทอง พรมวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการกล่วว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อสร้างถนนและสะพานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ลาวถูกมองว่าไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป แต่กำลังจะกลายเป็นประเทศศูนย์กลางโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php

National Road 13 ปรับปรุงแล้วสำเร็จไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

การปรับปรุงถนนแห่งชาติ 13 ทางเหนือระหว่างหมู่บ้านสิกขิตในเขตนาไซทองของเมืองหลวงและอำเภอโพนหงในแขวงเวียงจันทน์เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 40 % การปรับปรุงประกอบด้วยการปรับปรุงพื้นผิวถนนและการติดตั้งช่องระบายน้ำสองข้างทางถนนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 58 กม. โครงการนี้ได้รับทุนจากธนาคารโลก กองทุนนอร์ดิก กองทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และกองทุนถนนของรัฐบาล National Road 13 เป็นเส้นทางหลักของประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถนนสายนี้เป็นทางหลวงสายสำคัญที่สุดในประเทศสปป.ลาว เชื่อมกับจีนทางตอนเหนือและกัมพูชาทางตอนใต้ รวมระยะทาง 1,500 กม. นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงด้านลอจิสติกส์ที่สำคัญไปยังเวียดนามและประเทศไทย การปรับปรุงถนนครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการขนส่งระดับภูมิภาคของสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php