‘เศรษฐา’ เดินหน้าหาเงินเข้า ปท. อ้อนนักลงทุน เจรจาหลายชาติในเวที ‘เอเปก’

นายเศรษฐา กล่าวถึงการหารือทวิภาคี กับนายคิชิดะ ฟูมิโอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า ได้หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น และกระบวนการจัดการผลิตอยู่ได้ ขณะที่รถไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในประเทศไทย และในระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น ฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอ เพื่อให้นักธุรกิจ ติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/769777

‘เวียดนาม’ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีเม็ดเงินทุนไหลเข้าประเทศและการเบิกจ่ายเงินทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นเก่า ได้แก่ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น มีความไว้วางจและความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น ทั้งนี้ นาย ดอนแลม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท VinaCapital Group กล่าวว่าจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการยกระดับศักยภาพของภาคการบริโภคในเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นับเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-attractive-to-foreign-investors-despite-global-uncertainties-post1051514.vov

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคาร ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ ระบุว่าเวียดนามเป็น 1 ในประเทศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุด เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมถึงประชากรเวียดนาม จำนวน 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ทั้งนี้ หอการค้ายุโรป (EuroCham) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจว่าผู้ประกอบการเลือกเวียดนามเป็น 1 ใน 3 ตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการลงทุน ในขณะเดียวกัน เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเวียดนามเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลง แต่ธนาคารโลกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-poweful-magnet-for-foreign-direct-investment/268452.vnp

‘ซาวิลส์’ เผยเวียดนามเนื้อหอม ยังคงดึงดูดนักลงทุน

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ‘ซาวิลส์ เวียดนาม’ เปิดเผยว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเทรนด์การลงทุนโลกในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุน เนื่องมาจากความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความยืดหยุ่นของประเทศ ทั้งนี้ นาย Troy Griffiths รองผู้จัดการบริษัท Savills สาขาเวียดนาม กล่าวว่าถึงแม้จะเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อระยะสั้น รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังคงหดตัว แต่ทิศทางของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลางน่าจะเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้กู้และสถาบันสินเชื่อ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-for-investors-savills/266738.vnp

คาดรัฐบาลชุดใหม่กัมพูชา ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศเพิ่มขึ้น

คาดหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาจะนำมาซึ่งการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการอยู่ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ตลอดจนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ เป็นส่วนทำให้กัมพูชามีศักยภาพในการลงทุนมากยิ่งขึ้น กล่าวโดยรัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุเสริมว่า ปัจจุบันในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 113 โครงการ นับเป็นสินทรัพย์ถาวรเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงานใหม่ประมาณกว่า 122,000 ตำแหน่ง โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501347755/new-government-formation-to-bring-more-new-investments/

‘ซีไอเอ็มบี’ ชี้ไทยแห่ลงทุนนอก หวัง ‘ขยายตลาด-ดันรายได้โต’

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศของลูกค้ารายใหญ่ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้รูปแบบของการออกไปขยายตลาดต่างประเทศมีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ เช่น การสร้างโรงงาน ,การร่วมลงทุนกับพันธมิตร และการทำ M&A ซึ่งปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงการเมืองไทย เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รูปแบบ M&A อีก 3-4 ดีล มูลค่าการลงทุนต่อรายเฉลี่ย 500 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป หรือราว 1,700 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้ธนาคารมีโอกาสปิดดีล M&A ได้ราว 2-3 ดีล  ซึ่งเป็นส่วนผลักดันสินเชื่อการลงทุนต่างประเทศใกล้แตะระดับ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากการทำงานของธนาคารที่เป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดหรือขยายธุรกิจ คือ 1. ด้านกฎระเบียบ กฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1082568

คาดการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ จีน-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจโต

หลังจากการร่วมทุนกันระหว่างภาคธุรกิจจีนและกัมพูชา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ที่ปัจจุบัน มีขนาดกว้างถึง 11.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 175 แห่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือ Belt and Road Initiative โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 139 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 เป็นเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดธุรกิจจากประเทศเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้เปิดคลินิกสุขภาพ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโปลีเทคนิคมิตรภาพพระสีหนุกัมพูชา-จีน และสถาบันธุรกิจและเทคโนโลยีสีหนุวิลล์-จีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501319228/chinese-cambodian-joint-venture-changes-lives-for-the-better/

คาดเขตพัฒนานครเวียงจันทน์หนุนการลงทุนภายใน สปป.ลาว

คาดเขตพัฒนาเวียงจันทน์สร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้แรงจูงใจ อาทิเช่น ลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด โดยเขตพัฒนาดังกล่าวถือเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง สปป.ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและการส่งออก และเมื่อระยะเวลายกเว้นภาษีสิ้นสุดลง จะมีการเสนอนโยบายการลดภาษีลงในรูปแบบขั้นบันได ด้าน Xiong Jun ผู้จัดการทั่วไปของ Lao-China Joint Venture Investment Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไร ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งก่อสร้างและวัตถุดิบนำเข้า ไปจนถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นศูนย์ สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ ในเขตไขยเชษฐา โดยเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันผู้พัฒนาได้ลงนามข้อตกลงกับ 127 บริษัท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำธุรกิจในโซนนี้ ในจำนวนนี้ บริษัท 64 แห่ง ได้เปิดสายการผลิตและดำเนินการแล้ว สร้างงานได้มากถึง 6,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten124_Vientiane_y23.php

“ฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ” เล็งโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตามรายงาน ‘Vietnam Fintech’ ฉบับใหม่โดย Switzerland Global Enterprise (S-GE) เปิดเผยว่าฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ ควรใช้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมนโยบายและรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะสนับสนุนให้มีการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทค ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญ 5 ประการที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) ธนาคารเวียดนามพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 2) ระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่นับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศ ด้วยสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใช้การชำระเงินทางดิจิทัลเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรเวียดนามทั้งประเทศ หรือราว 57.62 ล้านคนในเดือน ม.ค.66 3) การกู้ยืมแบบ P2P ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4) การเงินส่วนบุคคลและการลงทุน และประการสุดท้าย คือ บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในภาคส่วนของฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-swiss-fintech-startups-numeral-in-vietnam-report/255380.vnp

เวียดนามจัดโครงสร้างแหล่งพลังงานใหม่ หวังดูดเงินลงทุนต่างชาติหลายพันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า แหล่งข่าวจากวงการพลังงานเวียดนามระบุว่า รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่าภายในปี 2030 โดยมีแผนลดเป้าหมายสำหรับพลังงานลมนอกชายฝั่งลง และจะพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 กิกะวัตต์ จากแผนเดิมปี 2020 อยู่ที่ 21.4 กิกะวัตต์ และยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งคิดเป็น 19% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานหลักอันดับ 2 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และพลังงานลม ส่วนแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยมีการคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 158 กิกะวัตต์ในอีก 7 ปี เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 69 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาหลายพันล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการปลดล็อกกองทุนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมูลค่า 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ให้คำมั่นไว้ในเดือนธันวาคมโดยกลุ่ม 7 ชาติและประเทศที่ร่ำรวย แต่การอนุมัติยังล่าช้าไปหลายปี ท่ามกลางความขัดแย้งภายในและการปฏิรูปที่ซับซ้อน

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-new-energy-resource-structure/