คลังชี้เศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนช่วยหนุน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง”

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.1% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.1% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 32.3%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 6.6%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.7% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จากระดับ 92.6 ในเดือนก่อนหน้าองค์ประกอบที่สำคัญของดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.04% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 60.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ที่มา: https://www.naewna.com/business/713999

จุรินทร์สวนฝ่ายค้าน! ราคาพืชเกษตรดีทุกตัว เงินเฟ้อลดลง ส่งออกยังบวก ลั่น FTA ไทย กำลังไล่แซงเวียดนาม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงฝ่านค้านในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า ประเด็นที่พาดพิงประเด็นแรกที่พูดถึงเงินเฟ้อ และของแพงทั้งแผ่นดิน เป็นประเด็นเดิมที่อภิปรายแล้ว ไทยเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นเป็นลำดับ เงินเฟ้อลดลง ม.ค. เหลือ 5% อัตราเฉลี่ยของโลก IMF คาดว่าปี 66 เงินเฟ้อโลก 6.5% แต่ไทยจะเฟ้อแค่ 2.8% ดีกว่าหลายประเทศ โดยสินค้าราคาปรับตัวลดลงอย่างมากกว่า 58 รายการ จำเป็นที่ติดตามทุกวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการส่งออกไทยตัวเลขส่งออกทั้งปีบวกถึง 5.5% ทำเงินให้ประเทศถึง 9.94 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งรัฐฯ ร่วมมือทำงานกับเอกชนที่จะเดินหน้า ให้การส่งออกโต 1-2% แม้ตลาดสำคัญถดถอย แต่บางตลาดมีศักยภาพ เช่น 1.ตะวันออกกลาง 2.เอเชียใต้ 3.CLMV สุดท้ายเรื่อง FTA ขณะนี้ตามหลังเวียดนามจริง แต่รัฐฯ กำลังไล่กวดให้ทันเวียดนามและอนาคตมีโอกาสแซงหน้าเวียดนาม โดยปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ เวียดนามมี 16 ฉบับ 54 ประเทศ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3826174

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ “ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม” พบว่า นักธุรกิจกิจและสมาชิกหอการค้าไทย มีความกังวลเรื่องไม่มีวัคซีนโควิดตามแผนที่วางไว้มากถึง ร้อยละ 91.67 รองลงมามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อและไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 89.19 และเป็นห่วงเรื่องการ Lockdown มากถึงร้อยละ 78.38 และมีทัศนะต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในเมื่อเทียบกับโควิดระลอกที่ผ่านมา 2 รอบ คิดว่าเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงมากถึง ร้อยละ 48.65

และนอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่อรัฐบาล ได้แก่ อยากให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม ภายใต้การจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม พร้อมกำหนดและออกมาตรการที่ครอบคลุมกับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รายงานภาวะเศรษฐกิจครึ่งปี 63 เศรษฐกิจสปป.ลาวมีแนวโน้มที่ดี

ตามรายงานการประเมินเศรษฐกิจมหภาคที่เปิดเผยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติพบว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจสปป.ลาวบางประการมีแนวโน้มที่ดีในช่วงครึ่งปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงตกต่ำและมีความไม่แน่นอนทั่วโลกจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ด้านการส่งออกพบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเมื่อทางการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างสปป.ลาวและเพื่อนบ้าน ด้านการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติในสปป.ลาวลดลงร้อยละ 60 ในช่วงครึ่งปีนี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตราการเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคต่างๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินได้ชะลอการชำระคืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคธุรกิจ ปัจจุบันถึงแม้สถานการณ์การ COVID-19 ในสปป.ลาวจะดีขึ้นแต่ตัวชี้วัดสำคัญอย่างอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกลับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Study.php