พนักงาน 63 คน ถูกพักงาน เหตุลุกฮือต้านคณะรัฐประหารเมียนมา

หน่วยงานด้านการลงทุนของเมียนมาซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารได้สั่งพักงานพนักงาน 63 คนรวมทั้งรองผู้อำนวยการซึ่งมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลพม่า ข้าราชการต่อต้านต้องเผชิญกับการสอบสวนภายใต้กฎระเบียบราชการหลังจากปฏิเสธที่จะทำงานให้กับรัฐบาลทหารและเรียกร้องให้คืนอำนาจให้กับพลเรือน  ข้าราชการหลายพันคนหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านระบอบทหารแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายและการข่มขู่จากผู้บังคับบัญชาก็ตาม ขบวนการอารยะขัดขืนได้รวมบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานธนาคาร ทนายความ ครู วิศวกร และตำรวจทั่วประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ไล่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศออก 56 คน ด้านพนักงานของ Electric Power Generation Enterprise ราว 150 คน กล่าวว่าพวกเขาได้รับโทรศัพท์ขู่จะฟ้องร้องหากพวกเขาไม่กลับไปทำงาน ภายใต้กฎระเบียบข้าราชการพลเรือนการดำเนินกาลงโทษขั้นสูงสุดคือการเลิกจ้างและไม่สามารถใช้โทษจำคุกได้

ที่มา: https://www.irrawaddy.com/news/burma/63-striking-myanmar-investment-staff-suspended-junta.html

ยูเอ็นชี้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ ชี้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในเมียนมา ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนฐานะยากจน ในขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เผยว่าราคาอาหารเพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น 20% ในบางพื้นที่รอบเมืองย่างกุ้ง และราคาข้าวเพิ่มขึ้น 4% ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ตลอดจนในบางพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น ราคาข้าวปรับตัวพุ่ง 35% โดยปัจจัยที่ทำให้ราคากลุ่มอาหารและเชื้อเพลิงสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากภาคธนาคารเป็นอัมพาต ทำให้ส่งเงินกลับเข้าประเทศเป็นไปอย่างล่าช้าและปัญหาการขาดแคลนเงินสด

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/troubling-signs-of-myanmar-food-price-rises-since-coup-un-agency

5สัญญาณรัฐประหารทุบเศรษฐกิจเมียนมา

การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1ก.พ.ที่ทำให้ดินแดนนี้ตกอยู่ในสภาพวุ่นวาย มีการชุมนุมประท้วงทุกวันและมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและทหาร-ตำรวจแทบทุกวัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ที่สำคัญกว่านั้น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของเมียนมา จากข้อมูลของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)บ่งชี้่ว่าเมียนมา ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลกแต่การที่เมียนมาค่อยๆปรับเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็สร้างความหวังแก่โลกว่าในไม่ช้าเศรษฐกิจของเมียนมาจะเติบโตเหมือนเพื่อนบ้านในอาเซียน ขณะที่ ตั้งแต่สิงคโปร์ ประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยตรงในเมียนมารายใหญ่สุด จนถึงญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายังมองไม่เห็นอนาคตของเมียนมา เนื่องจากคนงานจำนวนมากในเมียนมา ถ้าไม่ผละงานออกไปร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐประหารก็หนีกลับบ้านเกิดในช่วงที่ทางการใช้กำลังเข้าปราบปราม สิ่งเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจสะดุ ทั้งนี้ 5 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ 1) ดัชนีพีเอ็มไอร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 2) การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลง86% 3) การลงทุนหดหาย 4) ปริมาณการค้าหุ้นดิ่ง60% 5) ความสามารถในการตรวจโควิดลด90%

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927525

ญี่ปุ่นพิจารณาตอบโต้การรัฐประหารของเมียนมา

หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลกำลังติดตามสถานการณ์การรัฐประหารภายในเมียนมาและจะพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ในเมียนมาอย่างไร ในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและนโยบายโดยติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบจากประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคำกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้กล่าวว่าจะระงับการแลกเปลี่ยนทางด้านกลาโหมกับเมียนมาและทำการห้ามส่งออกอาวุธเข้าประเทศหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว จากการกระทำของรัฐบาลเมียนมาในการจัดการผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138 คน ในเมียนมานับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตอ้างอิงจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/japan-says-considering-response-to-myanmars-military-coup

วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ

มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921209

เวิลด์แบงก์เตือนรัฐประหารเมียนมากระทบพัฒนาประเทศ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากกองทัพได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาล โดยเวิลด์แบงก์เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย และจะสร้างความเสียหายต่อแนวโน้มการพัฒนาประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์และบรรดาพันธมิตร เราได้รับผลกระทบจากการถูกปิดช่องทางการสื่อสารทั้งภายในเมียนมาและกับต่างประเทศ ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวานนี้ พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย ขณะที่สัญญาว่าจะจัดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเมียนมา จะลดลงเพียง 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 จากระดับ 0.68% ของปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวรุนแรงถึง 2.5% หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/920433