อีอีซี ร่วมกับ กต. บีโอไอ ลุยสร้างความเชื่อมั่น ดึงนักลงทุนต่างชาติสู่พื้นที่ อีอีซี ล่าสุด เดินสายโรดโชว์อิตาลี ต่อยอดลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ อีอีซี ร่วมกับ H.E. Paolo Dionisi เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ได้จัดโรดโชว์ชูความพร้อมพื้นที่อีอีซี ณ ประเทศอิตาลี โดยได้เข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอิตาลีกว่า 50 ราย เพื่อให้ข้อมูลศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่พื้นที่อีอีซี ขณะที่ปัจจุบันอิตาลีถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ สำหรับมูลค่าการค้าในปี 2565 อยู่ที่ 4,908 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.34 ส่วนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดกิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถจักรยานยนต์ กิจการผลิตสัตว์น้ำแช่แข็ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256676644

จีนผุดโรงงานรถอีวีในอีอีซี กลุ่ม GAC AION พร้อมทุ่มลงทุนบะละฮึ่ม

คณะผู้บริหาร GAC AION นำโดยนายเสี่ยว หยง (Mr.Xiao Yong) รองประธาน GAC AION ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศจีน ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการแนะนำถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION ที่ปัจจุบันมียอดขายเติบโตเป็น 1 ใน 3 อันดับของผู้ผลิต EV ในจีนและภาพรวมการลงทุนอื่นๆ ด้านนวัตกรรมอัจฉริยะ ระบบ Ai ระบบ Automation การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร โดยเลขาธิการอีอีซีได้รับมอบหนังสือจากคณะ GAC AION ที่สนใจจะขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 6,400 ล้านบาท และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ที่กำลังพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานรวมกว่า 1,000 ไร่ โดยอีอีซีและ GAC AION จะประสานความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการเข้าลงทุนของอุตสาหกรรมอีวีอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ การพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับเพื่อต่อยอดให้พื้นที่อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคต่อไป ด้านนายจุฬา เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การที่ GAC AION ตัดสินใจลงทุนในไทย อีอีซีจะช่วยส่งเสริมพื้นที่การลงทุน การสร้างงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงกฎระเบียบที่จะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุน ไทยเป็นตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตดีที่สุดและรัฐบาลไทยได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/investment/2674061

ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีสูงถึง 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่จำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดก็มีแนวโน้มที่ดี มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น ด้านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯ จะขับเคลื่อนการลงทุนผ่านการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3888145

เคาะเวนคืนที่ดิน ทุ่ม 4.4 พันล้าน สร้างมอเตอร์เวย์เชื่อม ‘สนามบินอู่ตะเภา’ บูมอีอีซี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา โดยสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) และทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (บ้านอำเภอ) และทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ด้วยวงเงินการก่อสร้าง 4,400 ล้านบาท โดยต้องเวนคืนที่ดินมูลค่ารวมประมาณ 107.7 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็น โครงการที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปสู่ภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง และทางอากาศ เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งอย่างไร้รอยต่อ สามารถรองรับการไหลเวียนของการจราจรที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมการให้บริการของโครงการสนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองการบินตะวันออก จะทำให้การพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกกลายเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจที่สำคัญของไทย ตลอดจนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน และประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย ทั้งนี้ ครม.ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3861315

“อีอีซี” จัดทำงบตามแผนบูรณาการปี 67 เสนอ 100 โครงการพัฒนาตามแนวทาง BCG ด้วย 5 แนวทาง

นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คณะที่ 5.1 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานเป็นประธานว่า สกพอ.และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพรองแผนงานบูรณาการอีอีซี ร่วมกับหน่วยงาน 17 กระทรวง 42 หน่วยงาน จัดทำโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีทุกมิติ ผ่านการมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG จำนวน 100 โครงการ ด้วย 5 แนวทางสำคัญได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล 2.การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3.ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน 4.การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ และ 5.การส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดอัตราการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40,000 คน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/418049

ไทยเนื้อหอมต่างชาติจ่อลงทุนเพียบ เน้นทำเลทองอีอีซี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 หรือ ก.ย. 64-ต.ค. 65 กนอ. มียอดขาย เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งที่ร่วมดำเนินการและที่ดำเนินการเอง 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้น 65.1% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 1,770 ไร่ แบ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 1,716.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 299.25 ไร่ เนื่องจากไทยได้ประกาศเปิดประเทศเป็นทางการ รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักของไทยมีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนปี 66 กนอ. ตั้งเป้ายอดขาย หรือเช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ เนื่องจากได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว และปัจจัยบวกจากทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย และล่าสุดการปฏิรูปการเมืองในประเทศจีน ทำให้หลายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ จัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายส่วน ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายบริษัท เล็งเข้ามาลงทุนในไทย สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอันดับแรกที่เข้ามาลงทุน คือ กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 22.6%, อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 11.06%, อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 9.33%, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.85% และอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 8.36 % โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 31.25% รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 18.75 และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย 6.25%

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1669249/

ราคาประเมินที่ดินใหม่พุ่ง 8% อีอีซีอ่วม 30% ธนารักษ์จ่อประกาศรอบใช้ 1 ม.ค.66

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ จะประกาศใช้ บัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ของปี 2566-2569 เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 เนื่องจาก เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และประเทศไทยได้กลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่แล้ว โดยการประกาศราคาประเมินที่ดินจะทำทุก ๆ รอบ 4 ปี แต่ราคาประเมินที่ดินรอบปี 2566-2569 จะนำตัวเลขที่เคยมีการประเมินไว้ช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้มาใช้ โดยไม่มีได้มีการทบทวนราคาประเมินใหม่แต่อย่างใด สำหรับโดยภาพรวมราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ปีหน้าจะมีมูลค่าปรับขึ้นเฉลี่ย 7-8% ส่วนการปรับใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2566 อาจส่งผลแก่ประชาชน ที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการเก็บภาษีที่ดินจะใช้ราคาประเมินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์มาเป็นฐานประเมินในการคำนวณภาษี ส่วนจะมีมาตรการบรรเทาภาระผู้เสียหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา อนึ่ง ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีการประเมินราคาที่ดินแบ่งทั้งหมดเป็น 33 ล้านแปลง โดยภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/article/news/land-price-raise-eec-280965

“อีอีซี” ทุ่มงบ 1.8 ล้านล้าน หนุนอุตสาหกรรมยุคใหม่

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือนายคณิศ แสงสุพรรณ ออกมาเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 ในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้มีการรับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561–2565) โดยเกิดความสำเร็จและการเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ ผลประโยชน์ตรงถึงประชาชน แบ่งได้ดังนี้ 1.เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี 2.สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ 3.สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน และ 4.ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/122232/

จับตาน้ำมันพ่นพิษถล่ม “อีอีซี”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถึงกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการลงทุนต่างๆ ที่ได้ทำเอาไว้เดิมก็ยังคงเดินต่อ ยังไม่มีนักลงทุนถอนการลงทุน และการลงทุนเทคโนโลยีทั้ง 5G หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังเดินตามแผนอยู่ แต่ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาจนกระทบกับเศรษฐกิจโลก ตอนนั้นก็คงเป็นผลที่จะเกิดขึ้นกับอีอีซี อาจต้องรอประเมินสถานการณ์ 1 เดือน ในเบื้องต้นยังคงเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีไว้เหมือนเดิมคือเฉลี่ยปีละ 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สกพอ.ร่วมกับกองทัพเรือ, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยจะเปิดตัวอย่างในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่ามีผู้ร่วมงาน 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงาน 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงาน 1,240 ราย และมีการจัดงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง ในปี 2566-2570 จำนวน 28 งานในอีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด สามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ 8,200 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/oil/2337446

กนอ.ตั้งนิคมฯใหม่ในอีอีซีรองรับอุตฯเป้าหมายชาติ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด ) เห็นชอบให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง โดยร่วมดำเนินงานกับบริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวีนออก (อีอีซี) ในการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve , New S-Curveและอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการ อีอีซี โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับของ กนอ.

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946123