‘เวียดนาม’ เปิดตัวแอปอีคอมเมิร์ซของอุตสาหกรรมเครื่องกล

แอปอีคอมเมิร์ซสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของเวียดนามได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ชื่อว่า “ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครื่องกล” โดยมีเป้าหมายที่จะนำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาสู่ชีวิตของผู้คนมากขึ้นและเป็นศูนย์รวมจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คุณ Nguyen Nhut Minh Tri ตัวแทนของทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น กล่าวว่าแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเวียดนามมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการค้นหาอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งแทบไม่มีสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นั่นคือเหตุผลที่เริ่มต้นแอปนี้ และยังเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแห่งแรกสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องกลในเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-launches-e-commerce-app-for-mechanical-industry-post120183.html

“กิจการเวียดนาม” มีส่วนร่วมจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลก

คุณ Pham Tuấn Anh รองผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีบริษัทผลิตและแปรรูป จำนวน 5,000 รายที่จัดหาชิ้นส่วน อะไหล่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องกล โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 70% เป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ, 8% เป็นผู้ส่งออก และ 17% ทำทั้งสองอย่าง ในขณะที่ผู้ประกอบการเพียง 30% เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกและห่วงโซ่คุณค่า

ทั้งนี้ คุณ Đỗ Thị Thúy Hương รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่อง กล่าวว่าความเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้น ต้องการแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้ประกบอการเวียดนาม นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจในเวียดนามยังมีอยู่อย่างจำกัดและอ่อนแอ เพราะกิจการไม่ได้ตระหนักถึงประโยชน์จากการเชื่อมโยงของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1298262/vietnamese-enterprises-limited-in-global-supply-chain.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าปี 2573 ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก

เวียดนามตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความสามารถการแข่งขันสูงและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ 15 อันดับแรกของโลกภายในปี 2573 โดยตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามตั้งเป้าที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 20 รายการที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ระดับโลกและมีความได้เปรียบในตำแหน่งห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ที่ 70% ของอุปสงค์ในประเทศและกำลังผลิตในประเทศ 45% ทั้งนี้ กระทรวงฯ ร้องขอให้รัฐบาลมุ่งความสำคัญไปยังการพัฒนาเชิงคุณภาพแทนที่จะเป็นเชิงปริมาณ และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนากำลังผลิต ซึ่งหนึ่งเป็นจุดอ่อนหลักของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กระทรวงฯ คาดว่าในปี 2573 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะมีสัดส่วน 40% ของ GDP

 

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1166915/vn-aims-to-become-industrialised-world-exporter-by-2030.html

 

‘บริษัทญี่ปุ่น’ เล็งขยายการลงทุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนาม 700 ราย พบว่าในภาพรวม บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปขยายการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (Non-manufacturing Industries) มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมการปลีก การศึกษา การดูแลสุขภาพ พลังงาน การเงินการประกันภัย การขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ โดยยังพบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ 51.7% วางแผนที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันเมื่อสอบถามถึงกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่ภาคการผลิตส่วนใหญ่ 58.7% ต้องการทำเช่นเดียวกัน เพิ่มขึ้น 12.1% ทั้งนี้ นาย Hirai Shinji หัวหน้าตัวแทนของ JETRO สาขานครโฮจิมินห์ กล่าวว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในเวียดนามดำเนินธุรกิจการผลิตอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันเม็ดเงินทุนจากต่างชาติกำลังไหลเข้าไปยังอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1165354/japanese-firms-in-viet-nam-eye-non-manufacturing-industries.html

 

‘เวียดนาม’ เผยเดือน ม.ค. ดัชนีผลผลิตอุตฯ โต 2.4%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IPI) ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปคิดเป็นสัดส่วน 70% ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศและปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สาขาหรือกิจกรรมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหลายด้านด้วยกันที่ผลักดันให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ เติบโตสูงขึ้น ได้แก่ การขุดเหมืองแร่ (21.9%), การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะสำเร็จรูป (16.8%), หนังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (12.3%), อุปกรณ์ไฟฟ้า (11.5%), การผลิตเสื้อผ้า (11.4%) สิ่งทอ (8.8%), ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (8.1%) ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตเครื่องดื่ม (2.7%), การผลิตยาและเวชภัณฑ์ สมุนไพร (3.6%), อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ (5%), การแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (5.1%), น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (9.7%)

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vietnam-business-news-february-1-813048.html

Digital marketing เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอะโวคาโดในเมียนมา

Digital marketing ได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมอะโวคาโด ปัจจุบันผลอะโวคาโดจำนวนมากจากเขตต่างๆ กำลังไหลทะลักเข้าสู่ตลาด โดยการส่งออกไปตลาดต่างประเทศมีอุปสรรคจากการขนส่งเพราะอยู่ในช่วง COVID-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในประเทศเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งอะโวคาโดคุณภาพดีสามารถขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้และราคาที่เป็นธรรมถูกกำหนดไว้เพื่อป้องการการตั้งราคาที่สูงหรือต่ำจนเกินไป ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์มากขึ้นเมื่อมีผลอะโวคาโดจำนวนมากเข้าสู่ตลาด ซึ่งอะโวคาโดระยะเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสูงจากระดับน้ำทะเล โดยการเก็บเกี่ยวจะอยู่ระหว่างเดือนก.ย.ถึงเดือนก.พ. และอะโวคาโดพันธุ์ Hass เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาด ทั้งนี้ราคาอะโวคาโดอยู่ที่ 9,500-10,000 จัตต่อกิโลกรัมสำหรับเกรด A ส่วนเกรด B อยู่ที่ 8,500 จัตต่อกิโลกรัม ส่วนเกรด C จะอยู่ที่ 6,500-7,000 จัตต่อกิโลกรัม และต่ำกว่าเกรด C จะอยู่ที่ 1,500 จัตต่อกิโลกรัม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/digital-marketing-becomes-trendy-in-avocado-industry/

สศอ. ปรับแผนปี 65 มุ่งพัฒนา 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดงาน OIE FORUM 2021 Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน พร้อมชูแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่โลกวิถีใหม่ ยกระดับความสามารถการแข่งขัน สอดคล้องกับทิศทางของกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดประเด็นในการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับทิศทางภาคการผลิตจากเดิม ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนวิธีการกำกับดูแลสถานประกอบการที่สะท้อนแนวคิดตามโมเดล BCG เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/977650

‘เวียดนาม’ เผยอุตสาหกรรมฟื้นตัวช้าลง เหตุจากผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ตามข้อมูลของ ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า เดือน พ.ย. สถานการณ์ธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงมีความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นายแอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ ผู้อำนวยการของบริษัท กล่าวว่าปัจจุบัน ภาคการผลิตของเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ดี การกลับมาของโควิด-19 คุกคามการฟื้นตัวในระยะสั้นของธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 52.1 ในเดือน ต.ค. ซึ่งส่งสัญญาว่าสภาพธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเดือรที่ 2 หลังจากเวียดนามเริ่มการระบาดระลอกที่ 4 ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/rising-covid-case-numbers-threaten-manufacturing-recovery/

‘เวียดนาม-ญี่ปุ่น’ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและอุตสาหกรรม

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ นายโยชิโนบุ นิซากะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านการค้าและอุตสาหกรรม (MOU) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. รัฐมนตรีเวียดนามมองว่ามีโอกาสอีกมากจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามและญี่ปุ่น โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ด้วยการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาทำการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจของจังหวัดวากายานมะในการเข้าถึงตลาดที่มีประชากร 100 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนราว 600 ล้านคน หรือตลาดที่ใหญ่กว่า อาทิ RCEP และ CPTPP นอกจากนี้ การลงทุนของธุรกิจของจังหวัดวากายามะ จะทำให้เวียดนามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-industry-trade-ministry-japanese-prefecture-seal-cooperation-deal-907375.vov

‘อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม’ มีโอกาสสดใสในปี 65

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะเติบโตและสร้างรายได้จากการส่งออกราว 40 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลงในเวียดนามและทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญและกิจการจำนวนมาก มองว่ามีสัญญาเขิงบวกต่อตลาดและแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอในปีหน้า ทั้งนี้ นายฝ่ามซานห่ง (Pham Xuan Hong) ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่ากิจการต่างๆ มีปริมาณสั่งซื้อค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงสัญญาเขิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของธุรกิจสิ่งทอในเมืองโฮจิมินห์ เช่นเดียวกับกิจการสิ่งทอในภาคใต้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าแห่งชาติของเวียดนาม (Vinatex) กล่าวว่าถึงแม้จะเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่ว่าประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ และความต้องการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของประเทศที่มีขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน เริ่มกลับมาดำเนินการเป็นปกติช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-us-trade-likely-to-reach-100-billion-usd-this-year/215948.vnp