ฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาคจะได้รับเงินกู้ 12 พันล้านจ๊าด เริ่มเดือนมิถุนายน

ตามที่กรมเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตวแพทย์เมืองเนปิดอว์ ระบุว่า จะมีการกู้ยืมเงิน 12,000 ล้านจ๊าด ให้กับฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาค รวมถึงกรุงเนปิดอว์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เขตสภาเนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค อิรวดี มะเกว ตะนาวศรี รัฐฉาน และรัฐมอญ กำลังวางแผนที่จะให้กู้ยืมเงินสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม การเลี้ยงไก่ไข่ และการเพาะพันธุ์แกะและแพะตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งรัฐ และจะมีการเสนอในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีการวางแผนการให้กู้ยืมแบบพิเศษสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนม มีระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมกำหนดไว้ที่ 3 ปี ในขณะที่ระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจโคเนื้อ ฟาร์มไก่ไข่ และธุรกิจฟาร์มแกะและแพะกำหนดไว้ที่ 2 ปี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/livestock-breeding-farms-in-9-states-and-regions-to-get-k12-billion-loans-starting-june/

ADB อนุมัติเงินกู้ 45 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคบริการสุขภาพ สปป.ลาว

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 45 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเสริมสร้างภาคบริการด้านสุขภาพใน สปป.ลาว ให้มีคุณภาพในเขตพื้นที่ 16 อำเภอ ทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ด้าน ADB กล่าวเสริมว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนประมาณกว่า 1.6 ล้านคนต่อปี ที่ต้องการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มรายได้เปราะ และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและด้อยโอกาส ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ADB กล่าวว่า สปป.ลาว มีความก้าวหน้าในการขยายการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการประกันภัย นับตั้งแต่มีโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้เปิดตัวในปี 2015 ที่ให้สิทธิครอบคลุมร้อยละ 94 ของประชากร อย่างไรก็ตาม ADB กล่าวว่า สปป.ลาว ยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในแง่ของการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเป็นเหตุให้ ADB จำต้องสนับสนุน สปป.ลาว ในการพัฒนาภาคส่วนดังกล่าว

ที่มา : https://english.news.cn/20230822/1273f9591bdb4cce9a606291820fdb22/c.html

ทางการกัมพูชาพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในจังหวัดกำปงธม

รัฐบาลกัมพูชากำลังเร่งวางแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในจังหวัดกำปงธม โดยเฉพาะสะพานทอดข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมต่อไปยังจังหวัดกระแจะ รวมถึงถนนและทางด่วนที่ทอดยาวไปจนถึงอำเภอกำปงเหลียงซึ่งตั้งอยู่ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกำปงฉนัง และทางรถไฟสายใหม่จากปอยเปตไปยังบาเวต เพื่อเป็นการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างเวียดนาม ซึ่งจะช่วยปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น กล่าวโดย Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง โดยรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมต่อการทำงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในการให้การสนับสนุนทางด้านเงินกู้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314607/major-infra-boosts-for-kampong-thom/

2022 มูลค่าการค้า สปป.ลาว-ญี่ปุ่น พุ่งแตะ 290.5 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว และญี่ปุ่นในช่วงปี 2022 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 290.5 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการนำเข้าของ สปป.ลาว จากญี่ปุ่นมูลค่า 149.8 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ (ยกเว้นรถจักรยานยนต์และรถแทรกเตอร์) ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แก้วและเครื่องแก้ว รถแทรกเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นใยสังเคราะห์ เครื่องใช้พลาสติก ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย สำหรับการส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 140.6 ล้านดอลลาร์ ได้แก่ รองเท้า ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม เครื่องสำอาง ขนไก่ เกลือโพแทสเซียม กาแฟ ผลิตภัณฑ์เคมี กล้วยและผลไม้อื่นๆ ไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา เมล็ดพืช ฟางและหญ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ Mr. Malaythong Kommasith ระหว่างเข้าพบหารือกับคณะผู้แทนญี่ปุ่น ณ กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งกล่าวเสริมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เขามาช่วยเหลือ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2010 ในการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในนามสวนอุตสาหกรรมเวียงจันทน์ ผ่านความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้การชำระคืนของรัฐบาล สปป.ลาว ให้กับผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดินในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos114.php

ADB อนุมัติเงินกู้ 70 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนกัมพูชาพัฒนาภาคการศึกษา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ ให้แก่กัมพูชาเพื่อสนับสนุนภาครัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างด้านการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งทางด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ทั่วประเทศ หวังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตให้แก่กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา STEM เนื่องจากประเทศมีความต้องการที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งโครงการนี้จะเน้นไปที่การปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเครือข่าย 14 แห่ง และโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโดยทั่วไป 103 แห่ง ด้วยการเสริมห้องเรียน 3 ห้อง ให้กับแต่ละโรงเรียน ประกอบไปด้วยห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 2 ห้อง และห้องสมุดพร้อมอุปกรณ์ สื่อการสอน หนังสือ อุปกรณ์ตกแต่ง และเทคโนโลยีการศึกษาที่จำเป็น เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181091/adb-approves-70-mln-loan-to-cambodia-for-education-reforms/

แบงก์ชาติเวียดนาม ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ในวันที่ 25 ต.ค.

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 25 ตุลาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยรับช่วงซื้อลด 4.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคาร 7% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขั้นสูงสุดแบบไม่มีระยะเวลาที่กำหนดและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 เดือน จำกัดไว้ที่ 1% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นนั้น สถาบันสินเชื่อเตรียมเงินทุนเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านภาคเศรษฐกิจ 5.5%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-bank-revises-up-interest-rates-by-1-from-october-25/240638.vnp

SMEs กัมพูชากว่า 1,834 ราย ได้รับเงินกู้รวมกว่า 221 ล้านดอลลาร์

ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) แห่งกัมพูชา ระบุว่ามี SME กว่า 1,834 ราย ได้รับประโยชน์จากการปลอยเงินกู้ ภายใต้กรอบโครงการทางด้านการเงินระยะที่ 1-2 (SCFS I & II) ของธนาคาร ซึ่งได้ทำการปล่อยเงินกู้วงเงินรวม 221 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 92 ของกรอบวงเงินกู้ทั้งหมดที่ 240 ล้านดอลลาร์ โดย SCFS ครั้งที่ 1 มีงบประมาณรวม 100 ล้านดอลลาร์ (50 ล้านดอลลาร์ จาก SME Bank และอีก 50 ล้านดอลลาร์จาก PFI) ซึ่งได้จัดสรรให้กับ SME ราว 753 ราย ในระหว่างเดือนเมษายน 2020 ถึงตุลาคม 2020 ในขณะที่ SCFS ครั้งที่ 2 ได้มีการจัดสรรวงเงินกู้รวม 140 ล้านดอลลาร์ (70 ล้านดอลลาร์ จากธนาคาร SME และอีก 70 ล้านดอลลาร์จาก PFI) ซึ่งเริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501089865/over-1834-smes-benefit-from-221-million-loans/

1 ปี กัมพูชาปล่อยเงินกู้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไปแล้ว 38 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินในกัมพูชาได้ปล่อยเงินกู้รวมจำนวน 38.1 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ภาคธุรกิจกว่า 377 แห่ง ในประเทศ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามรายงานของ Credit Guarantee Corporation of Cambodia (CGCC) ซึ่ง CGCC ได้ดำเนินการภายใต้การควบคุมของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) โดยได้ออกหนังสือค้ำประกันเงินกู้รวม 377 ฉบับ (LG) ระหว่างเดือนเมษายน 2021 ถึงเมษายน 2022 หลังเปิดพรมแดนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง ซึ่งในจำนวนข้างต้นคิดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 364 แห่ง และบริษัทขนาดใหญ่ 13 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักสามประการ ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียน การลงทุน หรือการขยายธุรกิจ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501082204/38-million-uncollateralised-loans-released-in-one-year/

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศและช่วยเหลือโครงการด้านทุนที่เชื่อมโยงกับการผลิตไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน และภาคส่วนสำคัญอื่นๆ โดยรัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อสังคมในปีนี้ เพื่อช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปี 2022 รัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.6 โดยคาดว่าจะกลับไปขยายตัวร้อยละ 7 ภายในปี 2024 ทางด้านอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารที่สูงขึ้น เนื่องจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนในการขนส่งที่สูงขึ้น บวกกับต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดย NBC คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 2.6 ในปีนี้ และอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ประมาณ 4,075 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501030711/government-wise-in-testing-the-market-with-300m-debt/

ทางการกัมพูชาวางแผนสนับสนุน SMEs และ ภาคการเกษตร

ทางการกัมพูชาจัดตั้งโครงการเงินกู้ฉุกเฉินพิเศษมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs และภาคการเกษตรเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเงินกู้ดังกล่าวจะออกให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชาและธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท ภายใต้การส่งเสริมภาคการเกษตรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็น 2 ภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจกัมพูชา ทั้งในแง่ของการสร้างงานและในการปรับปรุงการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501029437/cambodia-to-support-smes-and-the-agriculture-sector/