นายกฯ สปป.ลาว จะนำประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวในระหว่างเข้าร่วมประชุมณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 80 ถึงการนำนวัตกรรมดิจิทัลที่เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งปัจจุบันยังดำเนินไปอย่างช้าๆ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันการปฏิบัติตาม SDGs นั้น เป็นไปตามแผนเพียง 15% เท่านั้น ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเร่งการดำเนินการ SDG ในประเทศลาว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2030 เพื่อสร้างขีดความสามารถในด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยพัฒนาเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_76_PM_y24.php

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ ชี้แบงก์พาณิชย์ เดินหน้าลงทุนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย ฝั่ม แอง ต๋วน (Pham Anh Tuan) ผู้อำนวยการฝ่ายระบบการชำระเงินของธนาคารแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ จะมีส่วนช่วยการลดการใช้เงินสดและส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลในทุกรูปแบบ มุ่งสู้เป้าหมายของโครงการการชำระเงินแบบไร้เงินสดในปี 2564-2565 ซึ่งตั้งเป้าประชากรเวียดนาม อายุ 18 ปีขึ้นไป กว่า 85% เปิดบัญชีธนาคารในปี 2568

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้บริการดิจิทัล ช่วยให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการโอนเงินที่ผิดกฎหมายและกลุ่มเงินกู้นอกระบบ ในขณะที่นาย Nguyen Quoc Hung รองประธานและเลขาธิการสมาคมธนาคารเวียดนาม กล่าวว่าในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รัฐบาลและธนาคารกลางให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/commercial-banks-invest-nearly-630-million-usd-in-digital-transformation-sbv/266649.vnp

ทางการกัมพูชาพร้อมเสนอนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน ครม.

กระทรวงพาณิชย์พร้อมนำส่งร่างนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปี 2023-2028 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณา นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้เปิดเผยแผนดังกล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากเมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของผลงาน ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัมพูชา รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังแนะนำให้ NCIPR รับรองร่างกฤษฎีกาย่อยที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการตามนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317275/national-intellectual-property-policy-ready-for-council-of-ministers-review/

กัมพูชาตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 5.6 ล้านคน ภายในปี 2024

กัมพูชาคาดการณ์ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 5.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวภายในประเทศอีกกว่า 16.4 คน ภายในปี 2024 ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว พัฒนาสนามบินแห่งใหม่ ทางด่วน การจัดงานแข่งขันกีฬา และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ตามแผนโรดแมปของกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวโดย Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ในระหว่างการสัมนาสรุปแผนส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลตกลงที่จะสนับสนุนผ่านกลยุทธ์เพิ่มความยืดหยุ่นและการฟื้นตัว เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมกัมพูชาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับแผนสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่จุผู้ชมได้ประมาณ 10,000-20,000 คน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันกีฬาและการท่องเที่ยวในจังหวัดเสียมราฐ  ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดตัวแคมเปญ “IBEST” เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ การจอง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเทคโนโลยี เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314073/cambodia-eyes-over-5-6m-international-tourists-by-2024/

ทางการกัมพูชารายงานการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงโทรคมนาคมกัมพูชา รายงานถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนมือถือในกัมพูชา ที่มีจำนวนกว่า 19.5 ล้านหมายเลข มากกว่าจำนวนประชากรในปัจจุบันที่ 16 ล้านคน ภายใต้การสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลกัมพูชา ด้าน Chhin Ken ประธานสมาคมเทคโนโลยีดิจิทัลกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ชาวกัมพูชาเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟนนำไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการท่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงเพื่อการศึกษา และช้อปปิ้งออนไลน์ โดยรัฐบาลกัมพูชามียุทธศาสตร์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งและขยายโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และเพื่อวางรากฐานสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501246252/cambodia-sees-internet-mobile-phone-subscriptions-surpass-population/

‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ส่งเสริมความร่วมมือโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล

นายเหงวียน แมง ฮุ่ง (Nguyen Manh Hung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม และนายเจีย วันเดค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมหารือส่งเสริมความร่ววมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล โดยภายใต้กรอบการประชุมนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายฝ่าม มิงห์ จิ๋ง และหน่วยงานกระทรวงของทั้งสองประเทศได้บรรยายถึงสถานการณ์ นโยบายการบริหาร แนวคิดเชิงกลยุทธ์ โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งนี้ รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเห็นด้วยที่จะแชร์มุมมองหรือความคิดริเริ่มในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมองว่าควรสร้างบรรยากาศการดำเนินธุรกิจที่อำนวยความสะดวกในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสอง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-cambodia-foster-partnership-in-post-telecoms-digital-transformation/243531.vnp

‘ไทย-ลาว’ ร่วมมือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่ววมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล กับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 8 ปี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าความร่ววมือดังกล่าวจะกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาทางเทคนิคและการขยายตลาด ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านบริการไปรษณีย์ โทรคมนาคมและดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้  นายบอเวียงคำ วงดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อประโยชน์ของคนไทยและชาวลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2432310/thailand-laos-ink-mou-covering-post-digital-tech

รัฐบาลสปป.ลาวพันธมิตรสำคัญ Star Telecom ในการพัฒนาดิจิทัลในประเทศ

ศูนย์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และสตาร์ เทเลคอม (ยูนิเทล) ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อเร่งรัดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาลและปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลสปป.ลาว ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยอธิบดีศูนย์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวง ดร.ทวีศักดิ์ มโนธรรม และรองอธิบดี Star Telecom นายบุญมี มาลาวงษ์ ภายใต้ข้อตกลงนี้ พันธมิตรจะทำการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อประยุกต์ใช้กับบริการที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปใช้ พวกเขายังจะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินและการค้าดิจิทัลเพื่อรวมเข้ากับระบบดิจิทัลของรัฐบาลและระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (แพลตฟอร์มลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์) ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การจัดการและบริการที่ได้รับการปรับปรุงรวมถึงบริการภาครัฐและสังคมจะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การร่วมมือดังกล่าวจะนำพาสปป.ลาวไปสู่การพัฒนาที่สำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govtstar_163.php