“เงินเฟ้อเวียดนาม” คาดพุ่งสูง 4.8% ปี 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ลดลง 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. แต่เพิ่มขึ้น 3.4-3.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 3.9-4.8% ในปี 2566 ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 4.5% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงสูงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจ้งกับที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลราคาสินค้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เลมิงค้าย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาผลของการคำนวณราคาที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ได้แก่ ปิโตรเลียม ธัญพืช อาหาร อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน วัสดุการก่อสร้าง การศึกษา การดูแลสุขภาพและค่าเช่าที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้แนะนำให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุที่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบและผลผลิต เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการด้านราคา

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-inflation-forecast-to-reach-4-8-in-2023/

เงินเฟ้อ ก.พ. 66 ขยายตัว 3.79% ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน พาณิชย์คาดครึ่งปีหลังอาจแตะ 0%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 108.05 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น 3.79% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนม.ค.66 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงาน และอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 104.17 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.93% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.48% โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสจะได้เห็นเงินเฟ้อลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 0% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมทั้งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/27512/

“เวียดนาม” เผย CPI เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ. 2566 เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบรายเดือน และ 4.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การปรับขึ้นของดัชนี CPI เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้น เหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น หลังจากเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการหลัก มี 5 กลุ่มจาก 11 กลุ่มที่ผลักดันให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบรายเดือน ได้แก่ กลุ่มขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 2.11% จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการขนส่งสาธารณะ ค่าบริการรถไฟโดยสาร ค่าที่อยู่อาศัยและการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น และราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 4.96% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-edges-up-in-february/

“เวียดนาม” เผยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไตรมาสแรก

การลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในเดือน ก.พ. และไตรมาสแรกของปีนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 2566 ยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกและเศรษฐกิจมหภาคยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 4.89% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดการเงิน สินเชื่อขยายตัว 0.65% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ รายรับงบประมาณในเดือน ม.ค. สูงถึง 11.3% ของประมาณการรับรายรับต่อปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐฯ เร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://ven.vn/q1-economic-growth-drivers-46867.html

‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 0.18%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน ขยายตัว 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุโภคบริโภคและบริการ จำนวน 11 รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนี CPI พบว่าวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.7%, ราคาก๊าซ เหล็กและวัสดุสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในขณะเดียวกัน การบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิงและการท่องเที่ยว และบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ขยายตัว 1.8% และ 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเติบโตในเดือนก่อนหน้า อันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cpi-inches-up-0-18-in-april/

‘เวียดนาม’ เผยไตรมาสแรก ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.92%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำนักงานฯ ชี้ว่าในเดือนมี.ค. ขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบเดือนก่อน ซึ่งจะเป็นระดับการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ทั้งนี้ คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่แล้ว นอกจากนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-inches-up-192-percent-in-q1/224223.vnp

‘เวียดนาม’ เผย CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.68%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ.65 เพิ่มขึ้น 1.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้น 0.67% ถือว่าต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ย สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-up-168-percent-in-first-two-months-of-2022/222733.vnp

 

‘เวียดนาม’ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนแรกของปี 64 เพิ่มขึ้น 1.84%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้เงินเฟ้อในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.11% จากเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นตัวเลขเงินเฟ้อต่ำสุดตั้งแต่ปี 2554

อย่างไรก็ตาม นาย Nguyen Bich Lam อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าทั้งราคาน้ำมัน ข้าวและอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นสุดเทศกาลวันตรุษญวน รวมถึงมีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ดัชนี CPI ปีนี้ อาจอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 4%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1088337/cpi-increases-by-just-184-per-cent-in-11-months.html

‘เวียดนาม’ เผย 10 ด.แรก ดัชนี CPI ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. ลดลง 0.2% จากเดือน ก.ย. ส่งผลให้ดัชนี CPI ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 โดยแนวโน้มของดัชนีฯ ในอีกสองเดือนข้างหน้าอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือน ต.ค. ราคาอาหารและบริการจัดเลี้ยง ลดลง 1.28% จากเดือน ก.ย. เนื่องจากราคาข้าวและเนื้อหมูลดลง 0.25% และ 9.38% ตามลำดับ อีกทั้ง ราคาบ้านและวัสดุก่อสร้างในเดือนเดียวกัน ลดลง 0.26% เป็นผลจากค่าเช่าบ้านลดลง เพื่อช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ต.ค. ลดลง 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1068688/cpi-in-first-ten-months-is-lowest-in-last-five-years.html

 

เศรษฐกิจเวียดนาม ตามแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากกำลังซื้อที่ตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 โดยทางดร. Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2% ราคาอาหารปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้ง เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างสมบูรณ์ ราคาอาหารจะปรับตัวลดลงอีกครั้ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลงและเมื่อกำลังซื้อต่ำ ราคาดังกล่าวจะไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ ดร. Pham The Anh มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าดัชนี CPI ที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่จากการได้รับผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/national-economy-under-inflationary-pressure-900562.vov