OECD เสนอแนะ สปป.ลาว พัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนจากการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่รูปแบบอื่นๆ มากขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนะให้ประเทศลาวจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลดภาระหนี้เพื่อสร้างพื้นที่ทางการคลัง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนที่ยั่งยืน และการเพิ่มการลงทุนในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการทางสังคม รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการรวบรวมข้อมูลและขีดความสามารถของประเทศเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจ
‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ชี้บัญชีซื้อขายพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
จากข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เวียดนาม เปิดเผยว่าเดือน พ.ค. มีการเปิดบัญชีใหม่เฉลี่ย 4,265 บัญชีในแต่ละวัน นับว่าเป็นการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นติดต่อกันในรอบ 6 เดือน ทำสถิติสูงสุด 7.82 ล้านบัญชี ในขณะที่ดัชนี VN-Index ปรับตัวขึ้นเป็นจุดสูงสุดในช่วง 2 เดือน มาแตะระดับ 1,280 จุด และคาดว่าตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.-พ.ค. ยอดจัดเก็บงบประมาณของรัฐ โต 7.4%
กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการจัดเก็บงบประมาณของรัฐที่มาจากกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 165.7 ล้านล้านด่อง คิดเป็น 44.2% ของยอดเป้าหมายทั้งปี และขยายตัว 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการนำเข้าและส่งออก เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มูลค่ากว่า 66.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการส่งออกผักและผลไม้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันเวียดนามมีการนำเข้าน้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ กรมศุลกากร รายงานว่าการละเมิดทางการค้าต่างประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. มีจำนวน 6,256 คดี และมูลค่าของสินค้าที่เสียหายสูงถึง 8.4 ล้านล้านด่อง
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/state-budget-revenue-from-trade-activities-grows-7-4-in-jan-may/
ยอดส่งออกพัลส์เมียนมาทะลุ 470,000 ตัน มูลค่า 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐฯ
สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า เมียนมาสร้างรายได้จากการส่งออก 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐจากผลผลิตพัลส์มากกว่า 470,000 ตันในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เดือนเมษายน-พฤษภาคม ของปีการเงินปัจจุบันปี 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แบ่งเป็นการส่งออกพัลส์ทางทะเลกว่า 460,800 ตัน คิดเป็นมูลค่า 397.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านพรมแดนทางบก กว่า 17,000 ตัน มูลค่า 14.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกพัลส์ของเมียนมามีมูลค่ามากกว่า 1.484 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ จากมากกว่า 1.76 ล้านตัน (เมษายน-มีนาคม) ซึ่งประกอบด้วยการค้าทางทะเล 1.6 ล้านตัน มูลค่า 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ และผ่านด่านชายแดน 157,400 ตัน มูลค่า 141.38 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งออกถั่วดำ ถั่วเขียว และถั่วแระไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในจำนวนนี้ ถั่วดำและถั่วแระจะถูกส่งไปยังอินเดียเป็นหลัก ในขณะที่ถั่วเขียวจะถูกส่งออกไปยังจีนและยุโรป นอกจากนี้ ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างเมียนมาและอินเดียที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564 อินเดียจะนำเข้าถั่วดำจำนวน 250,000 ตัน และถั่วลันเตา (tur) จำนวน 100,000 ตันจากเมียนมาเป็นเวลาห้าปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2569 ซึ่งสนธิสัญญา G-to-G นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโควตาประจำปีของพัลส์ที่อินเดียกำหนด และผู้ส่งออกของเมียนมายังมีสิทธิ์ส่งพัลส์ไปยังอินเดียภายใต้โควต้าประจำปีนั้น
ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pulse-exports-cross-470000-tonnes-worth-us412m-in-apr-may/
เวียดนามขึ้นแท่นผู้นำ “ดึงดูดนักลงทุนระยะยาว” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่ากลุ่มนักลงทุนเชื่อมั่นว่า กิจกรรมการลงทุนในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 83% ระหว่างปี 2568-2573 ปัจจุบัน เวียดนามเป็นเสาที่ 3 ของสามเหลี่ยมทองคำ ในแวดวงบริษัทสตาร์ตอัปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน เวียดนามยังเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นนำ และวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ซึ่งดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
‘ข้าวเวียดนาม’ ยังคงครองผู้นำตลาดฟิลิปปินส์ แม้มีการเปลี่ยนนโยบาย
สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ระบุว่าสถานการณ์การค้าข้าวเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับทรงตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA) พิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์การนำเข้าข้าว ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม และการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานเข้ามาแทรกแซงโดยตรงต่อตลาดข้าวและสร้างความมีเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวราคาข้าวดังกล่าว สาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาตรการก่อนหน้านี้ของรัฐบาลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถควบคุมการขึ้นของราคาสินค้าได้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นผู้นำตลาดข้าวของฟิลิปปินส์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ และเวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 72% ของการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรทั้งหมด