‘Generative AI’ สร้างเม็ดเงินให้กับศก.ดิจิทัลเวียดนาม 14 ล้านล้านดอง ปี 2573

Dang Huu Son ผู้ร่วมก่อตั้งเลิฟอินบอต (LovinBot) และรองประธาน AIID กล่าวว่า Generative AI (Gen-AI) คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามอยู่ที่ 14 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 574.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 และมองว่าการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ เพิ่มทักษะส่วนบุคคลให้กับคนหลายช่วงวัย ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัท FPT ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะโครงการ ‘FPT AI Mentor’ ซึ่งเป็นโครงการที่ปรึกษาและทำการฝึกอบรมให้กับองค์กรรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่เลิฟอินบอต เปิดตัวผู้ช่วยเขียนเนื้อหา AI สำหรับบุคคลและธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/genai-to-contribute-14-trillion-vnd-to-vietnams-digital-economy-by-2030-official/275729.vnp

‘ไทย-จีน’ ยกเว้นวีซ่าถาวร หนุนเที่ยวบินฟื้น ค่าตั๋วถูกลง ปลุกจีนเที่ยวไทย

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้พิจารณาจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการยกเว้นวีซ่าของประชาชนสองประเทศอย่างถาวร นโยบายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวระหว่างชาวไทยและชาวจีนอย่างมาก นำไปสู่การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสองประเทศมากขึ้น ทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินที่ปัจจุบันราคาสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 มีราคาลดลงได้ จูงใจให้เกิดการเดินทางมากขึ้น เกิดการกระจายตัว และการเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่และพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะเมืองรองของประเทศจีนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนที่ ททท. ตั้งเป้าปี 2567 อยู่ที่จำนวน 8 ล้านคน หลังจากตลอดปี 2566 มีจำนวน 3.51 ล้านคน พอมีนโยบายยกเว้นวีซ่าแบบถาวรระหว่างไทย-จีนแล้ว ททท.จะเพิ่มเป้านักท่องเที่ยวจีนอีกหรือไม่นั้น ต้องขอหารือกับนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก่อน และ ประชุมผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ในประเทศจีนทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู และกว่างโจว เพื่อทบทวนการจัดทำแผนการตลาดอีกครั้ง ดังนั้น ททท.ต้องเจาะเข้าไปการตลาดในเมืองรองของจีนให้มากขึ้น เนื่องจาก ประชาชนชาวจีนในพื้นที่นั้นยังไม่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการทั้งในด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์

ที่มาภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1106733

‘เวียดนาม’ เผยค่าแรงเพิ่ม 6.9% ในปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในปีที่แล้ว คนงานเวียดนามมีรายได้ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.9% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 7.1 ล้านดอง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแรงงานเพศชายมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แรงงานเพศหญิงมีรายได้ที่ 6 ล้านดองในปี 2566 ทั้งนี้ คนงานในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีความพึงพอใจต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในเขตราบลุ่มปากแม่น้ำโขงที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุด รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.7 ล้านดอง เพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะเดียวกัน แรงงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปรับขึ้นค่าแรงต่ำที่สุดที่ 2.3% อย่างไรก็ดีแรงงานยังคงมีรายได้เฉลี่ย 9 ล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnamese-worker-incomes-rise-by-6-9-in-2023/

การส่งออกของเมียนมาร์มีมูลค่า 266 ล้านเหรียญสหรัฐในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม 2566

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เผยว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาร์อยู่ที่ 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม เมียนมาร์มีการส่งออกสินค้าไปยัง ปากีสถาน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยผ่านเส้นทางทางทะเล ซึ่งอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปที่ผลิตแบบตัด การผลิต และบรรจุภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะเดียวกัน มูลค่าการค้าผ่านด่านชายแดนกัมปติของเมียนมาร์กับประเทศจีนมีมูลค่ารวม 21.381 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม ชายแดนกัมปติมีเป้าหมายทางการค้าเดิมที่ 18.5 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 16 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การค้าชายแดนกัมปติ ณ สัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม เกินเป้าหมายทางการค้าของเดือนนี้ ซึ่งมีมูลค่าการค้ามากกว่า 21 ล้านดอลลาร์ มีการส่งออกมูลค่า 19.029 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามูลค่า 2.352 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกสินค้ากล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แตงโม ฟักทอง ยางพารา พริก และข้าว Emata เป็นหลัก และมีการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าทุน และสินค้าขั้นกลาง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-export-bags-us266m-in-third-week-of-dec-2023/

10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2567

ม.หอการค้าไทย เผย 10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง – ร่วง ปี 2567
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจการจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง – ดาวร่วง ปี 2567

10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2567

1.ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ YouTuber การรีวิวสินค้าและอินฟลูเอนเซอร์
2.ธุรกิจการแพทย์และความงาม ธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณสื่อสารต่าง ๆ
3.โซเชียลมีเดียและออนไลน์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร ฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจคลาวด์เซอร์วิส และธุรกิจบริการไซเบอร์ ซีเคียวริตี้
4.งานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจอีเวนท์ ธุรกิจความเชื่อ เช่น สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย ธุรกิจอัญมณี เช่น ทอง
5.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ธุรกิจEV และธุรกิจเกี่ยวข้อง ธุรกิจ Soft Power เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์
6.ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล
7.ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่โมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ และคลังสินค้า ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ
8. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ
9. ธุรกิจอีสปอร์ต เกมส์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
10. ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง

ส่วน 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2567 ได้แก่

อับดับ 1 โทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ CD-VDO, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์
อันดับ 2 ธุรกิจผลิต CD-DVD ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสไดร์ฟ หรือเมมโมรี่ การ์ด, บริการส่งหนังสือพิมพ์
อันดับ 3 ธุรกิจคนกลาง, เครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
อันดับ 4 ธุรกิจผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม
อันดับ 5 ธุรกิจผลิตสารเคมี
อันดับ 6 ร้านถ่ายรูป
อันดับ 7 ร้านขายเครื่องเล่นเกมส์ แผ่นเกมส์, ธุรกิจทอผ้าจากธรรมชาติ
อันดับ 8 ธุรกิจถ่ายเอกสาร
อันดับ 9 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้
อันดับ 10 ร้านโชห่วย, ธุรกิจผลิตกระดาษ

สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม

ที่มา : https://shorturl.asia/JSjWB

สหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) ระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวม 8,144 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.25 ของปริมาณการส่งออกรวมทั้งหมดที่มีมูลค่าอยู่ที่ 21,292 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ของกัมพูชา ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 23.97 ที่มูลค่า 223 ล้านดอลลาร์ ภายใต้โครงการอย่างสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งหมดอายุไปในช่วงปี 2020 โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ในขณะที่กัมพูชานำเข้ายานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501416446/us-remains-cambodias-biggest-export-destination-2/

นักท่องเที่ยวเดินทางมายังนครวัดกัมพูชาในช่วงปี 2023 แตะ 8 แสนคน

อุทยานโบราณคดีอังกอร์อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังของกัมพูชา ได้รายงานการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 798,069 คน สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นถึง 177% จากปริมาณนักท่องเที่ยว 287,454 คน ในปีก่อน โดยโบราณสถานดังกล่าวสร้างรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมสถานที่กว่า 37.1 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 222% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานจากอังกอร์ เอนเทอร์ไพรซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกัมพูชา ซึ่งอุทยานโบราณคดีอังกอร์ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ บนเนื้อที่ 401 ตารางกิโลเมตร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปี 1992 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของกัมพูชา โดยทางการกัมพูชาเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) แห่งใหม่ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายังนครวัดมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501416584/close-to-800000-foreign-tourists-converged-on-angkor-in-2023/