การส่งออกยางของเมียนมาร์เพิ่มขึ้นเป็น 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 8 เดือน

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 1 ธันวาคม ในปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมาร์ส่งออกยางกว่า 99,660 ตันไปยังต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 123.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ราคาทั่วไปของยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 1,580 จ๊าดต่อปอนด์ และยางตากแห้ง 1,560 จ๊าดต่อปอนด์ ในตลาดยางของรัฐมอญ ซึ่งราคายางของเมียนมาร์จะได้รับอิทธิพลจากความต้องการยางทั่วโลก การผลิตยางของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุปทานในตลาดเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เป้าหมายการส่งออกยางพาราของสมาคมยางเมียนมาร์ที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณนี้คือ 300,000 ตัน ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าการผลิตยางในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมา ที่มีการผลิตเกิน 360,000 ตัน และมีการส่งออกยางมากกว่า 200,000 ตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-rubber-exports-swell-to-us123-mln-in-8-months/#article-title

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมาร์มีมูลค่าสูงถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ เผยสถิติ มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการตัด ผลิตและบรรจุหีบห่อ (CMP) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 1 ธันวาคม ในปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ามากกว่า 2.966 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาสินค้าส่งออกหลัก 10 รายการ ในขณะที่ มูลค่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติมีมูลค่า 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วดำ 474.126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกข้าวและข้าวหัก 378.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกข้าวโพด 271.312 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกปลา 220.418 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วเขียว 185.983 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกยางธรรมชาติ 123.691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วมะแฮะ 101.952 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการส่งออกโลหะและแร่ 79.404 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในบรรดาประเทศคู่ค้าสิบอันดับแรกของเมียนมาร์ ประเทศไทยถือเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าการค้ากว่า 2.472 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สเปน สาธารณรัฐเกาหลี และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังพยายามเพิ่มการส่งออกภาคการผลิต และไม้วีเนียร์และไม้อัด ผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูป เสื้อผ้า น้ำตาล และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากชายแดนแล้ว เมียนมาร์ยังส่งออกสินค้าทางทะเลและทางอากาศอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/garment-exports-top-us2-9-bln-in-past-eight-months/#article-title

สรท.ลุ้นส่งออกพลิกบวก 1-2%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกปี 2566 ว่า จะขยายตัวติดลบ 1% มีมูลค่า 284,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากดัชนีภาคการผลิต PMI ประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวช้า และบางประเทศหดตัวลง อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะยุโรปทรงตัวต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตเป็นบวก 1-2% มีมูลค่า 286,500-289,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผลไม้ ยานยนต์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังเติบโตต่อเนื่อง เป็นอุตสาหกรรมเรือธงที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกปีหน้า รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบทิศทางการอ่อนค่า อยู่ในกรอบ 34.9-35.10 บาท/เหรียญสหรัฐ ช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าไม่กดดันต่อราคาค่าระวางเรือให้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคีในการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากมีการหารือและวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างรอบด้านแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายนโยบาย หากปรับขึ้นตามมติคณะกรรมการไตรภาคีเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก เพราะจะไม่ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้า

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_8006429

คาดอุตสาหกรรมเกษตรจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันการเติบโตของกัมพูชา

หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคอุตสาหกรรมหลักอย่าง การผลิต ก่อสร้าง และท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นภาคส่วนสำคัญของกัมพูชา อย่างไรก็ตามภาคเกษตรกรรมกลับเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงหลังโควิด กล่าวโดยนาย Lawrence Lennon กรรมการผู้จัดการ CBRE กัมพูชา ซึ่งการเติบโตในภาคส่วนดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ยังล้าหลังของกัมพูชา โดยยังมีหลายช่องทางในการพัฒนาภาคส่วนดังกล่าว ด้วยความคาดหวังที่จะลดการขาดดุลการค้าของกัมพูชาในภาพรวม ขณะที่รายงานของ Asian Development Outlook (ADO) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่เผยแพร่ในช่วงเดือนกันยายน 2023 ได้ระบุเสริมว่าภาคเกษตรกรรมยังคงเติบโตเล็กน้อยในปีนี้ แม้สภาพอากาศจะเลวร้ายและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตามรายงานล่าสุดจากสมาคมผู้เพาะปลูกอ้อย กัมพูชา และกรมการยางพารา ซึ่งคาดการณ์ว่าทั้งสองภาคส่วนจะมีมูลค่ารวมขยายตัวขึ้นเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501405272/agro-industries-to-be-engine-of-future-gdp-growth/

กัมพูชาส่งออกแตะ 2.05 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เผยว่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.049 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมหลักอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง กลับมาขยายตัว โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 8.14 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกไปยังเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.8 สู่มูลค่า 2.61 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.89 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงการส่งออกไปยังจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 18.5 คิดเป็นมูลค่า 1.31 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวมีโรงงานและสถานประกอบการรวมกว่า 1,133 แห่ง ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน และด้วยความตกลง RCEP และ FTA ร่วมกับจีนและเกาหลีใต้ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2022 มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมสินค้าของกัมพูชาและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501405278/cambodias-exports-touch-20-5-billion-in-jan-nov/

‘เวียดนาม’ เล็งนำเข้าไฟฟ้ามากขึ้นจากสปป.ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ร้องขอให้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) พิจารณาสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ เพื่อที่จะนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาวมากยิ่งขึ้น โดยแผนงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากยังไม่มีโครงการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่จนถึงปี 2568 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้อนุมัตินโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว เนื่องจากต้นทุนที่ดีหากเทียบกับแหล่งอื่นในภูมิภาค

นอกจากนี้ ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ เวียดนามนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาวและจีน ราว 4 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 1.5% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-mulls-importing-more-electricity-from-laos/