ผู้เชี่ยวชาญเผยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชายังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

Craig Dodge ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของ Phare Circus กล่าวกับ Khmer Times ว่า ปัจจุบันยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมแก่การทุ่มเททรัพยากรไปกับการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทราบว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่จัดขึ้นภายในประเทศอย่างในเสียมราฐ พนมเปญ เมืองชายฝั่ง และเกาะต่างๆ โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าทางการควรเสริมการโปรโมทเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้เกิดการรับรู้ที่มากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่โดยไม่ทำการตลาดจะไม่เป็นผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงเทศกาลทะเลครั้งที่ 10 ณ จังหวัดเกาะกง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ได้เปิดเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่ 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 180 จากจำนวน 1.57 ล้านคนในช่วงปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501402448/kingdoms-tourism-potential-yet-to-be-fully-tapped-say-insiders/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นร้อยละ 26

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวมูลค่ารวม 6.45 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 จากมูลค่ารวม 5.1 พันล้านดอลลาร์ของช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกสินค้าส่งของกัมพูชาร้อยละ 33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิก RCEP กลับลดลงร้อยละ 7.6 เหลือมูลค่า 2.41 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับความตกลงการค้าเสรี RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิก 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501402454/cambodias-exports-to-rcep-countries-up-26-percent/

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ผู้ส่งออกเวียดนามควรเดินหน้าขยายไปยังกลุ่มประเทศยูเรเซีย

จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากร เปิดเผยว่าจากวิกฤตความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ยอดการค้าเวียดนามและยูเรเซีย มีมูลค่าสูงถึง 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ลดลง 9.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นาย Ta Hoang Linh ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดยุโรป-อเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าตลาดยูเรเซียยังคงมีศักยภาพอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามส่งออกไปยังตลาดนี้ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีการจัดตั้งหน่วยงานและจัดทำกรอบความร่วมมือทางการค้าต่างๆ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU), ตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) รวมถึงคณะกรรมการร่วม จำนวน 14 คณะ และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eurasia-a-promising-market-for-vietnamese-exporters-experts/272378.vnp

‘เวียดนาม’ เผยยอดส่งออกข้าวทำสถิติสูงสุดในรอบ 34 ปี

การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณส่งออกราว 7.8 ล้านตัน ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2534 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีนี้จะสูงถึง 8 ล้านตัน ทำรายได้ราว 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นายเหวียง เวินโด่น ผู้อำนวยการบริษัท เวียดฮุง กล่าวว่าความต้องการบริโภคข้าวในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและราคาส่งออกข้าวที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีราคาข้าวเวียดนามไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตขาดแคลน รวมไปถึงผู้ส่งออกข้าวเวียดนามกำลังรอฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ นอกจากนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 632 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งสูงกว่าช่วงกลางเดือนที่แล้วประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-rice-exports-hit-record-high-since-1989/272379.vnp

ลาวแอร์ไลน์และเวียตเจ็ท ยกระดับความร่วมมือพร้อมถ่ายทอดวิทยาการในธุรกิจการบิน

สายการบินลาวแอร์ไลน์ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับเวียตเจ็ท สายการบินราคาประหยัดชั้นนำของเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ เทคนิควิทยาการด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน การขยายธุรกิจครั้งนี้สัญญาว่าจะมีการยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติการของทั้งสองสายการบินให้สูงขึ้น และทำข้อตกลงสำหรับร่วมบริการผู้โดยสารแบบข้ามสายการบินให้มีความราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำหรือจัดการสัมภาระระหว่างการหยุดพักระหว่างทาง ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการใช้รหัสร่วมกันจะทำให้สายการบินสามารถให้บริการเที่ยวบินในนามของกันและกันได้ โดยใช้รหัสเที่ยวบินของสายการบินพันธมิตร ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไปตามสัญญาการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินที่ลงนามระหว่างสองสายการบินเมื่อดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเวียตเจ็ทมอบหมายให้สายการบินลาวซ่อมเครื่องบินถึง 17 ครั้ง

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/05/lao-airlines-vietjet-elevate-collaboration-in-passenger-comfort-technical-assistance/