ภูมิภาคพะโคดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก

U Ko Ko Latt ผู้อำนวยการคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทประจำภูมิภาคพะโค กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ภูมิภาคพะโคมีโครงการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 1.622 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้อนุมัติธุรกิจต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้เพิ่มเงินลงทุนเดิมจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2566 นอกจากนี้ หน่วยงานระดับภูมิภาคยังมีความกระตือรือร้นที่จะเชิญนักลงทุนภายนอกให้ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร การผลิตปุ๋ย และการจัดตั้งห้องเย็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรแบบอเนกประสงค์และการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 197.117 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศในภูมิภาคพะโค 75,456.275 ล้านจ๊าด ส่งผลให้มีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 11,281 คน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bago-region-attracts-substantial-foreign-investments-approves-additional-funding-for-industrial-business/#article-title

ADB อนุมัติเงินกู้ 50 ล้านดอลลาร์ หนุนการปรับปรุงการจัดการทางด้านการเงินกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนการปรับปรุงระบบการจัดการการเงินสาธารณะ (PFM) ของกัมพูชา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างความร่วมมือทางการเงินร่วมกันในระดับชาติและระดับภูมิภาค นับตั้งแต่ปี 2008 รวมถึงเสริมสร้างการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานในการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงิน และเพิ่มการกำกับดูแลการใช้จ่ายสาธารณะ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501397705/adb-approves-50-mln-loan-to-improve-cambodias-financial-management/

นายกฯ ฮุน มาเน็ต ยันเศรษฐกิจกัมพูชาปีนี้โต 5.6%

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ประกาศคงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ภายในปี 2024 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการก่อสร้างที่เริ่มเห็นการเติบโต ขณะเดียวกันทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพื่อที่จะลดการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักในปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้กัมพูชายังเป็นสมาชิกข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) และข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501397374/pm-hun-manet-reaffirms-cambodias-growth-for-this-year-is-at-5-6-percent/

สนค. เผยปรับค่าจ้างส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากดีกับ ศก.

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_646179/

‘ผลสำรวจ’ ชี้บริษัทเยอรมนีมองเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางธุรกิจ

หอการค้าเยอรมันในต่างประเทศ (AHK) ประจำประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือน ต.ค. บริษัทเยอรมนีได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำธุรกิจในตลาดเวียดนาม ด้วยจำนวนโครงการ ทั้งสิ้น 26 โครงการ มูลค่าราว 221.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของบริษัท ในขณะที่ยังแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของภาคธุรกิจเยอรมนีที่มีความต้องการขยายการดำเนินธุรกิจในเอเชีย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทเยอรมนีส่วนใหญ่ 42% ให้ความสำคัญต่อตลาดเวียดนามในเรื่องของการผลิตที่หลากหลายและกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม รวมถึงกลยุทธ์การกระจายสินค้า รองลงมา 41% มุ่งเน้นไปที่การขายและการตลาด อย่างไรก็ดียังได้ประเมินถึงความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเยอรมนีมองว่าอุปสงค์โลกมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีความกังวลถึงความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในเวียดนามยังคงประสบปัญหาบางอย่าง ได้แก่ ต้นทุนพลังงานและทรัพยากรการเงิน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637075/german-firms-consider-viet-nam-potential-destination-survey.html

‘ดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์’ ดันเวียดนามให้ปรับตัวสู่ดิจิทัล

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์คอมพิวติ้งของเวียดนาม (VNCDC) และสมาคมอินเทอร์เน็ตเวียดนาม (VIA) เปิดเผยว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดคลาวด์คอมพิวติ้ง และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่เติบโตเร็วสุดในอาเซียน และมีผู้ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 50 ราย ซึ่งการประมวลผลระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเวียดนาม พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ทั้งนี้ นายกฯ ได้อนุมัติโครงการ ‘Digital Transformation’ แห่งชาติ จนถึงปี 2568 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 จำแนกออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล ซึ่งมีกลยุทธ์ภายใต้ชื่อว่า “การก้าวสู่ระบบคลาวด์” นับเป็นโอกาสที่ดีของศูนย์ข้อมูลและคลาวด์คอมพิวติ้งของเวียดนาม ตลอดจนยังผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่สำคัญในอาเซียน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637065/data-centre-cloud-computing-potential-as-viet-nam-moving-digital.html