คาด RCEP-FTA ดึงการลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชา กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคี จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งความตกลงด้านการค้าเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการผลิตให้กับกัมพูชา และส่งเสร้างการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตกว่าร้อยละ 6 ภายในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 2023 จากแรงหนุนด้านการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ร่วมกับการเติบโตที่แข็งแกร่งในด้านคมนาคม รวมถึงการเติบโตในภาคการเกษตร ซึ่งรายงานของรัฐบาลระบุว่าปัจจุบันกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมูลค่าราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 สร้างการจ้างงานประมาณ 130,000 ตำแหน่ง ขณะที่ด้านการค้าประเทศในกลุ่มสมาชิก ASEAN กัมพูชามีการส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากมูลค่า 6.94 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501491953/rcep-ftas-to-help-cambodia-attract-more-fdis-boost-exports/

กัมพูชา-อินเดีย ร่วมแสดงความยินดี สำหรับการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดีย ร่วมแสดงความยินดีต่อกัน สำหรับการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงพนมเปญและกรุงนิวเดลี ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเร็วๆ นี้  โดยคาดว่าเที่ยวบินตรงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกันในระยะถัดไป สำหรับถ้อยคำดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการพบปะระหว่าง Hun Sen ประธานวุฒิสภากัมพูชา กับ Devyani Uttam Khobragade เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ณ วังวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำหรับการประชุมครั้งนี้ Devyani Uttam Khobragade ได้แสดงความคาดหวังต่ออนาคตของความสัมพันธ์ระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ขณะเดียวกันทางการอินเดียมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501491947/cambodia-india-congratulate-the-upcoming-establishment-of-direct-flights/

ค่าจ้างขั้นต่ำใน สปป.ลาว ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาวปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้าน กีบ หรือประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากอัตราก่อนหน้าที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.3 ล้านกีบ หรือประมาณ 61 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานบางส่วนได้สะท้อนว่าไม่สมดุลกับค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำมันและค่าอาหาร รวมๆ กันต้องใช้เงินกว่า 3 ล้านกีบ ทำให้ค่าจ้างที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ สปป.ลาว ยังมีระดับท้ายๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดการไหลออกของจำนวนแรงงาน จนทำให้แรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ยังทำให้จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เรียนจบมีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/17/inadequate-minimum-wage-deepens-economic-woes-in-laos-fueling-labor-shortages-school-dropouts/

‘อีคอมเมิร์ซ’ ดันโอกาสสินค้าเวียดนามสู่ตลาดโลก

จากการประชุมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และ Amazon Global Selling Vietnam เมื่อวันที่ 22 พ.ย. พบว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และผลักดันรายได้ให้กับองค์กรและโซลูชั่นทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่รายได้จากอีคอมเมิร์ซค้าปลีก เติบโตเฉลี่ย 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเวียดนามอยู่ใน 10 ประเทศชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม เร่งดำเนินมาตรการในการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอีคอมเมิร์ซระดับชาติ ปี 2564-2568

นอกจากนี้ สำนักงานยังร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/e-commerce-helps-vietnamese-goods-go-global-conference-post287404.vnp

‘เวียดนาม’ นำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วน ไตรมาส 1/67 เกินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ อันดับที่ 5 ของสินค้านำเข้าของเวียดนาม โดยแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง

ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเกินกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วน อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ อันดับที่ 2 ของสินค้าส่งออกเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลก “Statista” รายงานว่าตลาดสมาร์ทโฟนเวียดนาม จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 1.45% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656013/vn-imports-over-us-3-billion-in-mobile-phones-and-components-in-q1.html

กระทรวงสิ่งแวดล้อมร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ลดการใช้พลาสติกในโรงงานกัมพูชา

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพ และ Eang Sophalleth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) เรื่อง “การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ” ในช่วงวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายยินดีและพร้อมที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ ซึ่งทั้งสองกระทรวงเคยทำงานร่วมกันผ่านกลไกการตรวจสอบโรงงานเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการเหมาะสมต่อการดำเนินงานของแรงงานในสายการผลิต สำหรับการลงนามในครั้งนี้แสดงถึงความร่วมมืออย่างเป็นทางการของทั้งสองกระทรวง ในการส่งเสริมการเติบโต ประสิทธิภาพ และผลผลิต ในทางกลับกันเจตนารมณ์ของบันทึกความตกลงจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบของขยะพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ในสังคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1492077/ministry-of-environment-cooperates-with-the-ministry-of-labour-to-reduce-the-use-of-plastic-in-factories/

สินเชื่อภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาลดลงเหลือ 31% จาก 36% ใน 5 ปีก่อน

โครงสร้างสัดส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรลดลงจากร้อยละ 35.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 31 สำหรับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยภาคการเกษตรยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชาสำหรับในปี 2023 สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยสะท้อนจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ที่ได้กล่าวรายงานว่า ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว รวมถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้สัดส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 22 ของ GDP ประเทศ แม้ในปี 2013 จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของ GDP ก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ การท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ MSMEs ในด้านการผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490959/agricultural-loans-fall-to-31-from-36-in-5-years/