แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามอยู่ในทิศทางสดใส

ตามผลการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทค้าปลีกเวียดนาม 47% ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก และธุรกิจ 8% ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายหลังจากถูกเลิกจ้างหรือปรับลดเงินเดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนและภาวะหยุดชะงักด้านซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม นาย Vu Dang Vinh ผู้อำนวยการของ Vietnam Report กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์และคนวงในยังคงเชื่อมั่นต่อภาคค้าปลีกอยู่ในทิศทางที่ดี ตลอดจนความสะดวกในการซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้ ‘ล็อตเต้มาร์ท’ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เผยยอดขายออนไลน์เติบโต 100-200% โดยเฉพาะเมืองฮานอยและโฮจิมินห์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/outlook-positive-for-vietnams-retail-market/196355.vnp

เวียดนามเผยยอดผู้โดยสารเดินทางช่วงเทศกาลเต็ด ลดลง 64.8%

ตามรายงานของคณะกรรมการความปลอดภัยการจราจรแห่งชาติ (NTSC) แสดงให้เห็นว่าความต้องการในการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเทศกาลเต็ด ผู้โดยสารชาวเวียดนามมีจำนวน 408,000 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 2,000 ตัน ลดลง 64.8% และ 54.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารและสินค้าที่ทำการขนส่งทางรถไฟต่างก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 9 – 13 ก.พ. มีผู้โดยสารจำนวน 12,792 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 6,035 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 33.56% ของจำนวนผู้โดยสารรวม และ 65.56% ของปริมาณการขนส่งเมื่อเทียบกับเทศกาลเต็ดปีก่อน อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางน้ำยังคงราบรื่น ตลอดจนดำเนินการขนถ่ายสินค้า

  ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/72532/tet-flight-passenger-numbers-plunge-by-64-8-.html

เมียนมา ตัดสัญญาณเน็ต กระทบธุรกิจออนไลน์ยอดขายลดฮวบ

ธุรกิจออนไลน์ของเมียนมากำลังเจอปัญหาจากการประกาศเคอร์ฟิว การปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลทหาร ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ถึง 9.00 น. ร้านค้าออนไลน์กล่าวว่ายอดขายลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมจากการเชื่อมต่อที่หยุดชะงักและความเร็วที่ช้าลง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจหันเหปรับเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอาหารออนไลน์อย่าง Food Panda  หรือธุรกิจอาหารและร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงจากการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/internet-cut-spells-trouble-online-businesses-myanmar.html

อสังหาฯ มัณฑะเลย์ ปรับตัวเน้นให้เช่ามากขึ้น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของมัณฑะเลย์เริ่มเปลี่ยนเป็นให้เช่าแทน ตัวแทนภาคอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่าการระบาดของ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้กระทบตลาดอย่างรุนแรง ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่ตลาดจะฟื้นตัวและต้องอาศัยการให้เช่าเพื่อพยุงในช่วงนี้ไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเน้นเก็บเงินสดงดการบริโภค จากความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/mandalay-real-estate-market-clinging-rentals.html

การสำรวจวิสาหกิจในสปป.ลาว พบ ผู้ประกอบการรายย่อย มีสัดส่วนสูงถึง 94.2 %

ผลสำรวจสปป.ลาวในฐานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ยังคงมีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยสูง ซึ่งคิดเป็น 94.2 % ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ โดยในปี 62 มีวิสาหกิจทั้งหมด 133,997 แห่ง เพิ่มขึ้น 9,124 เมื่อเทียบกับปี 56 จากการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจครั้งที่ 3 จัดทำโดยสำนักงานสถิติสปป.ลาวในปี 62-63 ตัวเลขทั้งหมดประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อย 126,168 แห่ง วิสาหกิจขนาดเล็ก 6,600 แห่ง ( 4.9% ) วิสาหกิจขนาดกลาง 954 แห่ง (0.7%) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ 276 แห่ง (0.2%)  การสำรวจระบุว่าผู้ประกอบการรายย่อยแสดงถึงเปอร์เซ็นต์ที่น้อยที่สุดในแง่ของการเข้าถึงการเงินจากธนาคาร แม้ว่าจะมีจำนวนมากที่สุดในทุกประเภทก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางมีเงินกู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด 29.7% วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กคิดเป็น 27% และ 24.6% ตามลำดับ ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเข้าถึงเงินกู้ เพียงร้อยละ 8.7  ทั้งนี้ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกถือเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนมากที่สุด รองลงมาคือร้านซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีสัดส่วนรวมกัน 61.2% โรงงานแปรรูป 14.7% ในขณะที่ธุรกิจบริการ 10.6%  จากการสำรวจสถานประกอบการมีการจ้างงาน 490,373 คนซึ่งเป็นผู้หญิง 50.1% และ 90.6% ขององค์กรทั้งหมดจ้างคนงานเพียง 1-5 คน ซึ่งในปี 61 มีทุนจดทะเบียนวิสาหกิจทั้งหมด 649,000 พันล้านกีบและมีรายได้รวม 107,584 พันล้านกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Micro34.php

กัมพูชาวางแผนปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวภายในประเทศ

กระทรวงเกษตรกัมพูชากำลังปรับปรุงแผนการพัฒนาการผลิตข้าวระดับชาติ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวภายในประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่าจำเป็นต้องจำแนกพันธุ์และแผนที่เกษตรเชิงนิเวศ ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกข้าวในกัมพูชาเพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาการผลิตข้าว ไปจนถึงการพัฒนาระบบชลประทาน การประกันราคาผลผลิต ตลอดจนการพิจารณาสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ในแต่ละโซนโดยละเอียด เพื่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโต และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้ผลิตข้าวในกัมพูชา โดยเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาปลูกข้าวได้รวม 3,404,131 เฮกตาร์ สร้างผลผลิตรวม 10,935,618 ตัน ซึ่งส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศรวม 690,829 ตัน สร้างรายได้เกือบ 540 ล้านดอลลาร์ รวมถึงส่งออกข้าวเปลือกจำนวน 2,893,750 ตันข้าวเปลือก มูลค่าเกือบ 725 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814769/agricultural-rice-map-updated-to-boost-production/

รัฐบาลกัมพูชาร่วมกับสภาหอการค้ายุโรปส่งเสริมการส่งออก

กระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง (MAFF) ร่วมกับสภาหอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำประเทศกัมพูชา ได้สัญญาว่าจะร่วมมือกันพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชาเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับภาคธุรกิจการเกษตรในวงกว้าง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมเกษตร โครงการสนับสนุนระหว่างประเทศเพื่อการปรับปรุงการเกษตร การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมถึงโอกาสและความท้าทายจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ทางกัมพูชาได้ทำสัญญาร่วมเอาไว้ ซึ่งภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 กัมพูชาถือว่ามีหลักประกันด้านความมั่นคงด้านอาหาร ไปจนถึงการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ จีน เกาหลี และสหภาพยุโรป เน้นไปที่สินค้าส่งออก เช่น ข้าวสาร พริกไทย มันฝรั่งทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กล้วย และมะม่วง เป็นต้น ภายใต้ความร่วมมือกัมพูชาต้องการการสนับสนุนทางเทคนิคด้านการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิต ความสามารถในการแข่งขัน ความครอบคลุมและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแปรรูปสินค้าการเกษตรในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814995/ministry-and-eurocham-to-collaborate-on-exports-to-eu/

การเมืองเมียนมาเสี่ยงสูง กระทบโอกาสผลิตรถในประเทศระยะยาว แต่อุปสงค์ในประเทศที่ชะลออาจทำให้ส่งออกรถจากไทยปี 64 โตเพียง 2%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หลังการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา กระแสความกังวลของนักลงทุนได้กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งต่อสถานการณ์ความสงบในประเทศ รวมถึงทิศทางนโยบายต่างๆที่จะออกมานับจากนี้ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและข้อกฏหมายอยู่หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แม้อดีตเมียนมาจะเป็นตลาดที่น่าสนใจต่อการเข้าไปลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศ จากการที่เมียนมาเป็นตลาดที่กำลังขยายตัว และนโยบายในช่วงที่ผ่านมาก็เอื้อต่อการประกอบรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ รถยนต์เก่าที่ครองตลาดอยู่อีกกว่า 1 ล้านคันในปัจจุบันก็ถึงเวลาต้องทยอยเปลี่ยนเป็นรถคันใหม่หากมีระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่จากความเสี่ยงที่สูงทางการเมืองในปัจจุบัน อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศเมียนมา และทำให้การนำเข้ายังมีความจำเป็น

่เมียนมาเผชิญกับความเสี่ยงในหลายทาง โดยเฉพาะการที่ค่ายรถอาจพิจารณาชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตจากเหตุการณ์การทางการเมืองในปัจจุบัน ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมารองรับต่อตลาดรถยนต์ที่กำลังขยายตัวได้ทันนั้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจเดิมจากโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแม้มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเมียนมาจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มากนักเพียง 2% – 4% หรือส่งออกได้ 86.5 ถึง 88.5 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ส่งออกได้ 84.8 ล้านดอลลาร์ฯในปีที่แล้ว

ในระยะยาว หากสถานการณ์ดีขึ้น และนักลงทุนตัดสินใจเดินหน้าลงทุนขยายโรงงานประกอบรถยนต์ในเมียนมา คู่แข่งที่รถยนต์ส่งออกจากไทยต้องเผชิญในตลาดเมียนมาอย่างแท้จริง คือ รถยนต์ที่ประกอบเองในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันเมียนมาสนับสนุนการนำเข้าชิ้นส่วน SKD เพื่อไปประกอบในประเทศ และในอนาคตมีแผนจะสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศขึ้นด้วย ซึ่งในตอนนั้นไทยอาจได้อานิสงส์จากการเป็นฐานผ​ลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อส่งออกไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในเมียนมาที่กำลังขยายตัวขึ้น แต่ในทางตรงข้าม ย่อมทำให้การนำเข้ารถยนต์ทั้งคันในอนาคตจากไทยลดลงตามไปด้วย​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/AUTO-Indus-z3189.aspx