CDC ยอมรับข้อเสนอ UK ในการจัดตั้ง Green SEZ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เห็นชอบต่อคำขอจากเอกอัครราชทูตอังกฤษให้จัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษสีเขียว (Green SEZ)” และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะโดยคณะผู้แทนซึ่งนำโดย Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เข้าพบ Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานลำดับที่ 1 ของ CDC เพื่อปรับปรุงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยเน้นไปที่การให้ลำดับความสำคัญ คือการปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5, การก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-บาเว, การตรวจสอบบนทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต รวมถึงการปรับปรุงทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ (PPSV) และโครงการฟูนันเตโช ซึ่งจะเป็นโครงการประวัติศาสตร์ของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501436295/cdc-consents-to-uk-proposal-for-establishing-green-sez/

EXIM BANK ร่วมกับหอการค้ากัมพูชาส่งเสริมการค้าการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และหอการค้ากัมพูชา (CCC) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และเนก โอคนา คิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา เป็นผู้ลงนาม โดยทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/13414

‘วีเอ็นจี’ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากเวียดนาม ยกเลิกแผนเข้าสู่ตลาดโลก

จากรายงานทางการเงินของบริษัทวีเอ็นจี (VNG) เปิดเผยว่าบริษัทขาดทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 291 พันล้านดอง นับเป็นการขาดทุนไตรมาสที่สามติดต่อกัน และหากพิจารณาทั้งปีจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนรวมกันทั้งสิ้น 756 พันล้านดอง รวมถึงการขาดทุนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง ‘Tiki’ สูญเสียเงินกว่า 510 พันล้านดอง ถึงแม้ว่าทางบริษัทขาดทุนอย่างมาก แต่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากธุรกิจหลักของบริษัทจากเกมส์ออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนราว 75% ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทวีเอ็นจีได้วางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 จากการเสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และมีแผนจดทะเบียนในตลาด Nasdaq Global Market

อย่างไรก็ดี ต่อมาได้ขอแจ้งถอนการเสนอขายหุ้น IPO โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสาเหตุที่ถอนการเสนอขายดังกล่าวมาจากสถานะในปัจจุบันของตลาดหุ้นโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/tech-giant-vng-cancels-plan-to-enter-global-market-but-keeps-ambitious-goals-2247956.html

‘เวียดนาม’ เผยตลาดรถจักรยานยนต์อ่อนแอ ก่อนเทศกาลเต็ด

ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงเทศกาลเต็ด (ตรุษจีน) เผชิญกับสถานการณ์ที่ผิดปกติ โดยแทนที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า กลับกันผู้แทนจำหน่ายปรับลดราคาสินค้าพร้อมกัน เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะปรับลดราคาลง แต่สถานการณ์ของตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามยังคงอ่อนแอ

ทั้งนี้ คนวงในของอุตฯ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ทั้งจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ลดลง ทำให้ธุรกิจต่างๆ ใช้กลยุทธ์การลดราคา เพื่อกระตุ้นการซื้อ

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 อยู่ที่ 2,516,212 คัน ลดลง 16.21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแบรนด์ฮอนด้า (Honda) ยังคงมีสัดส่วนของยอดขายมากที่สุดกว่า 83% ของยอดขายทั้งหมดในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/domestic-motorcycle-market-sees-poor-demand-before-tet-2248076.html

อัตราแลกเปลี่ยนจ๊าด-ดอลลาร์ในตลาดลดลงอยู่ที่ 3,500 จ๊าด

ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจ๊าดเทียบกับดอลลาร์ชะลอตัวลงที่ประมาณ 3,500 จ๊าดที่ตลาดซื้อขายที่เคาน์เตอร์อย่างไม่เป็นทางการหลังจากแตะ 3,560 จ๊าด เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) เข้ามาแทรกแซงตลาดสกุลเงินโดยการอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในตลาดฟอเร็กซ์ โดยในวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา CBM อัดฉีดเงินตราต่างประเทศ รวมมูลค่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 250 ล้านบาท ในแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของธนาคารกลางเมียนมาที่กำหนดไว้อยู่ที่ 2,100 จ๊าด/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ธนาคารกลางแห่งเมียนมาได้อนุญาตให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ธนาคารเอกชน) ดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างอิสระตามอัตราตลาดที่กำหนดโดยกลไกของตลาดอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ CBM ยังได้แจ้งว่าการโอนเงินไปต่างประเทศจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyat-dollar-exchange-rate-dips-to-k3500-in-market/#article-title

MRF เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นทะเบียนโกดังข้าว หนุนเสถียรภาพตลาด

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) รายงานว่าโกดังเกือบ 300 แห่งได้ลงทะเบียนบนแพลตฟอร์ม MyRO (Myanmar Rice Online) ซึ่งช่วยในการคำนวณอุปทานข้าวที่เหลืออยู่ในประเทศ ทั้งนี้ สหพันธ์ระบุว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในท้องถิ่นโดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของข้าวสำรอง และยังคาดว่าจะแก้ไขปัญหาการเก็งกำไรราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าจะต้องลงทะเบียนใน MyRO หากเก็บข้าวได้มากถึง 50 ตันหรือตะกร้าข้าว 5,000 ตะกร้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ตามประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มกราคมกรมกิจการผู้บริโภคยังได้ออกการแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า สั่งให้จดทะเบียนโกดังถ้าขายข้าวในศูนย์การค้า นอกจากนี้ สหพันธ์ได้ประกาศข้อกำหนดให้ลงทะเบียนในวันที่ 12 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mrf-launches-online-platform-for-rice-warehouse-registration-bolstering-market-stability/