เวียดนามนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชา 1.4 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรของกัมพูชา เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวเปลือกมากกว่า 1.4 ล้านตันไปยังเวียดนาม การส่งออกดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกันดาล, ไพรแวง, สวายเรียง, ตาแก้ว, พระตะบองและกำปอต ในขณะที่ การเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2562-2563 กัมพูชาผลิตข้าวเปลือก 10.88 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่ต้องการที่จะหยุดการส่งออกข้าวไปเวียดนาม เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีตลาด ทั้งนี้ ทางเลาขาธิการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าข้าวเปลือกที่ส่งออกไปยังเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ใช้ระยะเวลาในการเติบโต 3 เดือน นอกจากนี้ กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากกว่า 2.7 ล้านเฮกตาร์ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายมากกว่า 213,000 เฮกตาร์ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาไปยังเวียดนามลดลง

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-imports-14-mln-tonnes-of-cambodian-rice-paddy-814397.vov

เวียดนามเผยยอดส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ณ วันที่ 15 ต.ค. เผยว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามสูงถึง 215.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าส่งออกสำคัญ 5 รายการที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องจักร ชิ้นส่วนและรองเท้า ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ อยู่ที่ 34.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดส่งออกของเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ส่งออกไปยังจีน มีมูลค่า 8.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและฮ่องกง ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรและชิ้นส่วน มีมูลค่า 19.568 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 7.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 121 รองลงมาสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://customsnews.vn/exports-of-computers-and-machines-increase-nearly-13-billion-16326.html

เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx

“จุรินทร์” เดินหน้าช่วย SMEs ทำตลาด ผลักดันขายออนไลน์-ส่งออกต่างประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน Smart SME Expo 2020 ว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย คิดเป็น 95% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ให้มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยจะเข้าไปช่วยเหลือทางด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลักสูตรของกระทรวงพาณิชย์มีทั้งหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรธรรมดา ปานกลาง และหลักสูตรเข้มข้น ที่จะอบรมให้เข้าใจจนลึกซึ้ง สุดท้ายจะค้าขายได้และส่งออกได้ และโอกาสการเข้าร่วมการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศจะเปิดพื้นที่ 10-15% เป็นโอกาสให้ SMEsจัดแสดงสินค้าในตลาด CLMV และมาเลเซีย เปิดพื้นที่ให้ SMEs ในภาคต่างๆ ได้มีโอกาสมาแสดงสินค้าในงานของกระทรวงพาณิชย์  ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศไปเจรจากับผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ แล้วจับคู่ธุรกิจในประเทศไทยและลงนามสัญญาซื้อขาย ทำให้ส่งออกได้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับหัวเว่ย ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะช่วยนำเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งเทคโนโลยี 5G , IoT และระบบคลาวด์ มาพัฒนาภาคการผลิตและภาคการตลาดให้กับ SMEs ของไทย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายผลักดันให้เด็ก GenZ เป็น CEO โดยจะช่วยให้มีความรู้ในการทำธุรกิจและการค้าขายออนไลน์ ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะทำให้ได้ 12,000 คน โดยได้เริ่มต้นไปแล้วมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ 7 มหาวิทยาลัย จัดอบรมชุดแรกไปแล้ว 1,500 คน จะทำต่อไปในภาคอื่น เพื่อให้เป็นทัพหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยุคโควิด-19 และหลังโควิด-19 ในอนาคต และกลุ่มนี้ถ้าไม่ไปทำสตาร์ทอัพ ก็ต้องมาทำ SMEs สุดท้ายก็จะมาเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000112238

เวียดนามเผยดัชนี CPI เดือนต.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ ดัชนี CPI เฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559-2563 ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากค่าบริการทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เพิ่งเกิดขึ้นในภาคกลางของเวียดนาม สำหรับสินค้าและบริการ 11 รายการนั้น มีเพียง 6 รายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การศึกษา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 รองลงมาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง, เครื่องดื่มและบุหรี่, เสื้อผ้าและสิ่งทอ, ยาและบริการทางการแพทย์ รวมทั้งบริการบำรุงรักษาและบริการซ่อมบำรุงบ้าน นอกจากนี้ ราคาทองคำในประเทศมีความผันผวนตามดัชนีราคาทองคำโลกในเดือนต.ค. ลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.91 เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/cpi-for-october-records-slight-increase-813722.vov