การใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสปป.ลาวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่สปป.ลาวกล่าวว่าการใช้ไฟฟ้าในสปป.ลาวในปีนี้อาจสูงถึง 9,401 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 7.7% ต่อปีและจะเพิ่มขึ้นจนถึง 13,621 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2568 ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในสปป.ลาวใช้ไฟฟ้าร้อยละ 47 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 52 ในปี 2568 ปัจจุบันสปป.ลาวมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 78 แห่งกำลังการผลิตรวม 9,972 เมกะวัตต์ โรงงานต่างที่ผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของภาคเอกชนหรือเป็นการร่วมทุนกันระหว่างรัฐบาลสปป.ลาวกับบริษัททำให้ราคาไฟฟ้าในประเทศสูง เพื่อลดปัญหานี้รัฐบาลจะดำเนินการเรียกคืนโรงไฟฟ้าต่างๆภายในปี2573 มาบริหารจัดการเองเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลได้พัฒนาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงปานกลางและแรงต่ำกว่า 65,563 กิโลเมตรรวมถึงสถานีจ่ายไฟฟ้า 74 แห่งขณะที่เก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั่วประเทศเชื่อมต่อกับไฟฟ้าแล้ว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2020/10/07/domestic-electricity-consumption-on-the-rise-in-laos/

เวียดนามจะซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากเพื่อนบ้านรวมถึงลาว: รายงาน

เวียดนามคาดว่าจะซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว กัมพูชาและจีนเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นของประเทศ นับจากนี้จนถึงปี 2573 เวียดนามอาจซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว 14GW (14,000MW) จากจีน 3.8GW และ 4GW จากกัมพูชาตามรายงานของไซง่อนไทม์ส กระทรวงพลังงานและการเหมืองแร่ของสปป.ลาวกล่าวว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อที่จะวางแผนเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาว 5,000 เมกะวัตต์ในปี 2569-2573 ไฟฟ้าส่วนใหญ่นำเข้าจากพื้นที่ทางตอนเหนือ – กลางภาคกลางและพื้นที่ที่ราบสูงตอนกลาง โดยคาดว่าภูมิภาคเหล่านี้จะขาดแคลนไฟฟ้าหลังปี 2568 ทำให้รัฐบาลเวียดนามเพิ่มแหล่งจ่ายไฟจากภาคใต้และจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งหนึ่งในปัญหาของการขาดแคลนไฟฟ้ามาจากการขาดแคลนน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้านั้นเอง เวียดนามเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่สปป.ลาวขายไฟฟ้าให้เยอะที่สุด ปริมาณไฟฟ้าที่สปป.ลาวส่งออกในช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2559-2563 สูงถึง 129,605 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงมูลค่า 7,203 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 164 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ จุดนี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สปป.ลาวหันมามุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อก้าวสู่การเป็น แบตเตอรี่แห่งเอเชี่ยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vietnam_195.php

การค้าระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 7.42

การค้าทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับกัมพูชาลดลงร้อยละ 7.42 อยู่ที่ 1.346 พันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามสถิติที่เปิดเผยโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 5.3 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 1.045 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 ในขณะที่การนำเข้าจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกจากกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้การส่งออกจาก PPSEZ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งนักลงทุนต่างชาติได้ขอให้รัฐบาลกัมพูชาลดค่าใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (CO) ที่ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770683/two-way-cambodia-japan-trade-dips-by-7-42-percent/

คาดกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จาก 3 โครงการใหม่ ภายใต้โครงการ EEC ของไทย

คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อนุมัติการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง EEC และอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการใหม่ทั้ง 3 โครงการคือท่าเรือบก 3 แห่ง มูลค่ารวม 24 พันล้านบาท ในขอนแก่น นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา ซึ่งท่าเรือบกทั้ง 3 แห่งจะได้รับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยง EEC กับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งคณะกรรมการคาดว่ากลยุทธ์การเชื่อมโยงจะมีส่วนเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของตู้คอนเทนเนอร์อีกกว่า 2 ล้านตู้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งเป้าที่จะศึกษาท่าเรือบก ณ ฉะเชิงเทรามูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาทภายในปี 2021 โดยใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี และศึกษาท่าเรือบกอีก 2 แห่ง ในขอนแก่นและนครราชสีมามูลค่ารวม 16 พันล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770836/cambodia-stands-to-benefit-from-thai-eec-panels-approval-for-feasibility-studies-on-three-new-projects/

พาณิชย์โชว์ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไทยโตต่อเนื่อง 8 เดือน เพิ่มขึ้น 7.9% พาณิชย์ดันเจ้าตลาดด้วยเอฟทีเอ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวในการสัมมนา โครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วยเอฟทีเอ” ว่าโครงการดังกล่าวกรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 สามารถขยายการส่งออกสินค้านม UHT นมอัดเม็ด ไอศกรีม และโยเกิร์ต ไปตลาดคู่ค้าเอฟทีเอ โดยเฉพาะจีน และอาเซียน (สิงคโปร์ กัมพูชา เมียนมา) และผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้อุตสาหกรรมโคนมและนมโคแปรรูปของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพในตลาดโลก และพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมโคในภูมิภาค ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมโคและนมโคแปรรูปไปตลาดโลก 382 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่ม UHT นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนมจืด ตลาดส่งออกหลักคือ อาเซียน (กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สปป.ลาว และสิงคโปร์) 82.7% จีน 5.4% และฮ่องกง 3.4% ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทยที่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและนมโคแปรรูปให้ไทยแล้ว ทั้งนี้ ไทยจึงมีความได้เปรียบในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กันและประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน จึงเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_5067398