ธนาคารกลางเมียนมาขายเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 200 ล้านบาทในตลาดการเงิน

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ขายเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 200 ล้านบาทเข้าสู่ตลาดการเงิน โดยขายเงินเข้าสู่ตลาดฟอเร็กซ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบนแพลตฟอร์มการซื้อขายสำหรับผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าออนไลน์ 5 ล้านดอลลาร์และ 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คิดเป็นมูลค่ารวม 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 250 ล้านบาท โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่กำหนดโดย CBM คือ 2,100 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มีอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดที่ไม่เป็นทางการอยู่ที่ประมาณ 3,500 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ, 99 จ๊าดต่อบาทไทย และ 490 จ๊าดต่อหยวนจีน อย่างไรก็ดี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ธนาคารกลางเมียนมา ขายเงินดอลลาร์ได้ 68.33 ล้านดอลลาร์ ขายเงินบาทได้ 313.5 ล้านบาท และขายเงินหยวนได้ 4.2 ล้านหยวน รวมทั้งยังมีการอัดฉีดเงินลงทุน 22.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ภาคน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-sells-us11m-200m-thai-baht-into-financial-market-on-5-feb/

ราคาอ้างอิงขายส่งน้ำมันปาล์มของย่างกุ้ง แสดงถึงการปรับลดลง

ตามรายงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการนำเข้าน้ำมันบริโภคและ การกระจายสินค้า อัตราอ้างอิงการขายส่งน้ำมันปาล์มสำหรับตลาดย่างกุ้งปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 5,275 จ๊าดต่อviss ในช่วงสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 12 กุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงเล็กน้อยที่ประมาณ 105 จ๊าดต่อviss ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันบริโภคภายใต้กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคา FOB ในมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด โดยเพิ่มค่าขนส่ง ภาษี และบริการทางธนาคาร เพื่อกำหนดอัตราอ้างอิงตลาดขายส่งรายสัปดาห์สำหรับน้ำมันบริโภค อย่างไรก็ตามราคาจริงในตลาดนั้นยังคงสูงกว่าราคาอ้างอิงมาก นอกจากนี้ กระทรวงกำลังพยายามร่วมกันควบคุมความผันผวนสูงของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดค้าปลีก และเสนอราคาที่ยุติธรรมมากขึ้นแก่ผู้บริโภค โดยประสานงานกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันบริโภคแห่งเมียนมาร์และบริษัทนำเข้าน้ำมัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ygn-palm-oil-wholesale-reference-price-shows-downtick/#article-title

สปป.ลาว เปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่แขวงบ่อแก้ว เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมพิธีเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ในแขวงบ่อแก้ว ทางตอนเหนือของประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางในเขตภาคเหนือของประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น นาย Lan Seng-Aphone รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวในพิธีกล่าวว่า สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เป็นการลงทุนของ BOT ทั้งหมด และบริหารจัดการโดย Greater Bay Area Investments and Development Limited สนามบินแห่งนี้ได้รับมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกขนาด Code 4C และมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทได้รับสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ซึ่งสามารถต่ออายุได้หากได้รับอนุมัติจากรัฐบาล สนามบินแห่งนี้อยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีพื้นที่ 314 เฮกตาร์ 5,478 ตารางเมตร และมีรันเวย์ความยาว 2,500 เมตร สามารถขยายได้สูงสุดถึง 3,000 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 และโบอิง 737 อาคารผู้โดยสารสามารถรองรับคนได้ 600 คนในคราวเดียว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_26_International_y24.php

สปป.ลาว ยืนยันการตรวจพบ ‘เชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ในเวียงจันทน์’

ตามการรายงานชองกรมปศุสัตว์และประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของ สปป.ลาว ยืนยันการระบาดของไข้หวัดนก (H5N1) โดยตรวจพบที่ตลาดแห่งหนึ่งในเขตไซธานี นครหลวงเวียงจันทน์ หลังจากเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกประมาณ 30 ตัว จาก 65 ตัวอย่าง ที่เก็บจากตลาดมีผลการทดสอบเป็นบวก หลังจากการค้นพบครั้งแรก มีการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมอีก 11 ตัวอย่าง ซึ่งเผยให้เห็นการมีอยู่ของไวรัส H5N1 ใน 5 ตัวอย่าง และ H9N2 ซึ่งเป็นชนิดย่อยของโรคไข้หวัดนกในอีก 5 ตัวอย่าง เพื่อตอบสนองต่อการระบาด กรมวิชาการเกษตรและป่าไม้ได้ออกคำสั่งให้ภาคปศุสัตว์ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของการติดเชื้อ รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น แยกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินมาตรการ เช่น การทำลายสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ หรือการแบ่งเขตพื้นที่เสี่ยงสูง นอกจากนี้ ประชาชนในท้องถิ่นยังได้รับคำสั่งให้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคอีกด้วย ไข้หวัดใหญ่ H5N1 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่ปกติจะแพร่กระจายระหว่างสัตว์ปีกที่ป่วย แต่บางครั้งสามารถแพร่กระจายจากสัตว์ปีกสู่คนได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้ ไอ น้ำมูกไหล และโรคทางเดินหายใจรุนแรง

ที่มา : https://english.news.cn/20240205/e2c7c6f97eec4f7dac47626c3790a2b1/c.html

ปริมาณสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสก่อน

การขอสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณสินเชื่ออุปเพื่อโภคบริโภคทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะมูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 15.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 1.76 ล้านบัญชี โดยร้อยละ 80.27 อยู่ในหมวดการเงินส่วนบุคคล รองลงมาร้อยละ 11.53 อยู่ในหมวดสินเชื่อจำนอง และร้อยละ 8.20 อยู่ในหมวดบัตรเครดิต ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณบัญชีสินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงสุดในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับคุณภาพของสินเชื่อผู้บริโภคที่วัดด้วยอัตราส่วน 30+ DPD (เกินกำหนดชำระมากกว่า 30 วัน) เพื่อบ่งชี้ความน่าเชื่อถือทางเครดิตและความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 บ่งชี้ว่าคุณภาพสินเชื่อลดลงเล็กน้อย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434280/consumer-loan-applications-go-up-by-5-in-q4-last-year/

IMF รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาโต 5.3% ในปี 2023

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงปี 2023 เติบโตกว่าร้อยละ 5.3 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะการเติบโตที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกของกัมพูชาอีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังคงมีความเสี่ยงในหลายด้าน นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ และระดับหนี้ภาคเอกชนในกัมพูชาที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ ภายใต้ภาวะขาดดุลทางด้านการคลัง โดยคาดว่านับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปการขาดดุลของกัมพูชาจะขาดดุลลดลง ตามความมุ่งมั่นของทางการกัมพูชาที่ได้กำหนดไว้ ภายใต้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างอย่างครอบคลุม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434518/cambodias-economy-projected-to-have-grown-by-5-3-in-2023-imf/