สัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาลดลง

ส่วนแบ่งการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาลดลงเนื่องจากผู้ผลิตภายในประเทศมีการกระจายสินค้าส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม (IDP) ปี 2015-2025 ที่กำหนดไว้ให้มีการสร้างความหลากหลายในด้านการผลิตสิ่งทอภายในประเทศ ตามร่างรายงาน IDP ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วง 3 ปี ของการดำเนินนโยบายเป้าหมายหลักสามประการของนโยบายนี้ได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกระทรวง สถาบันและหน่วยงานย่อยระดับชาติที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างสุดความสามารถ ซึ่ง IDP เปิดเผยว่าส่วนแบ่งของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 30 ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 71.6 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2015 สู่ร้อยละ 69.2 ในปี 2018 จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าในภาคส่วนเสื้อผ้าและสิ่งทอประจำปี มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ ของกัมพูชาบางส่วน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755470/cambodias-garment-and-footwear-exports-share-declines/

รีสอร์ทในกัมพูชาเกือบ 600 แห่ง พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว

กระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่ามีรีสอร์ทอย่างน้อย 557 แห่งทั่วประเทศเปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุด 5 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมพร้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวได้แนะนำให้รีสอร์ทเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นรวมทั้งเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย แอลกอฮอล์เจล มาส์ก และเจลล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาทำให้โรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร และ บริษัททัวร์บางแห่งปิดกิจการไปแล้วกว่า 3,000 แห่งทั่วกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้มีวันหยุด 5 วันตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 21 สิงหาคม เพื่อทดแทนวันหยุดปีใหม่ของกัมพูชาในช่วงกลางเดือนเมษายน โดยเลื่อนออกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/755525/nearly-600-tourism-resorts-cash-in-on-domestic-tourists-during-five-day-holiday/

สปป.ลาวเผชิญกับการส่งเงินกลับประเทศที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการวางแผนการเงินและตรวจสอบของสมัชชาแห่งชาติและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกล่าวว่าการส่งเงินกลับประเทศในสปป.ลาวคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 50 ในปี 63 อันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด -19 ประธาน การส่งเงินกลับประเทศดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจสปป.ลาวและความพยายามลดความยากจน ซึ่งแรงงานข้ามชาติสปป.ลาวมากกว่า 100,000 คนได้เดินทางกลับบ้านจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่วนใหญ่ทำงานในประเทศไทยส่วนที่เหลือทำงานในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และแรงงานบางส่วนที่ทำงานในประเทศอื่น ๆ แต่มีจำนวนไม่มากนัก ตามรายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเดือนมิ.ย.ปีนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด -19 ส่งผลเสียต่อสปป.ลาวในการส่งเงินเข้าประเทศและอาจผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากถึง 214,000 คนเข้าสู่ความยากจน นับตั้งแต่เกิดการระบาดส่งผลให้มีการส่งเงินกลับประเทศลดลงประมาณ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 0.7% ของ GDP ในปี 63 ครัวเรือนในสปป.ลาวประมาณ 9 % ได้รับการโอนเงินจากต่างประเทศและการส่งเงินคิดเป็น 60% ของรายได้ครัวเรือน ตามรายงานของธนาคารโลกรายได้ครัวเรือนของผู้รับลดลงอย่างมากอาจส่งผลให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 – 3.1 % ในปี 63 อย่างไรก็ตามการหยุดชะงักของประเทศขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเงินในประเทศและรายได้ของคนในท้องถิ่น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_to_159.php

เวียดนามนำเข้าถ่านหินโต 50%

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ปริมาณ 36.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในแง่ปริมาณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งในเดือน ก.ค. เพียงเดือนเดียว ปริมาณนำเข้าถ่านหินอยู่ที่ 5 ล้านตัน ด้วยมูลค่าราว 294 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย รัสเซียและจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเวียดนามนำเข้าถ่านหินจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเพิ่มขึ้นและการผลิตในประเทศมีความยุ่งยาก โดยสมาคมพลังงานเวียดนาม ระบุเสริมว่ารัฐบาลจะพยายามลดการนำเข้าถ่านหิน ไม่ว่ามาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนมีสัดส่วนร้อยละ 36.1 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ คาดว่าในปีนี้ เวียดนามจะนำเข้าถ่านหิน 12 ล้านตัน และในปี 2573 จะนำเข้าถ่านหินสูงถึง 50 ล้านตัน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-coal-imports-jump-50-417417.vov

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ดิ่งลงฮวบ 50% เผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 44,973 คัน ลดลงร้อยละ 47.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการรถยนต์ลดลง ขณะที่ มูลค่าการนำเข้ารถยนต์ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณการนำเข้ารถยนต์ส่วนใหญ่ของเวียดนามร้อยละ 80 มาจากประเทศไทย (19,944 คัน) และอินโดนีเซีย (17,723 คัน) ที่ปลอดภาษีภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน นอกจากนี้ จากรายงานของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณยอดขายอยู่ที่ 131,200 คัน เป็นผลมาจากความต้องการของผู้คนลดลงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/car-imports-plummet-nearly-50-pct-covid-19-blamed-4147657.html

บริษัทในพื้นที่ลงทุนเพื่อพัฒนาท่าเรือพาณิชย์แห่งใหม่ในอิระวดี

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 63  Ever Flow River Public Co (EFR) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งและ Ayeyar Hinthar Holdings (AHH) จะร่วมมือกันพัฒนาท่าเรือ Ayeyarwaddy International Industry Port (AIIP) โดย EFR  Unison Choice Services ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของ EFR จะร่วมมือกับ AHH เพื่อจัดตั้ง A Logistics Co Ltd ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสำหรับโครงการ โดย AIIP Unison Choice Service จะถือหุ้นร้อยละ 60 ใน A Logistics ขณะที่ AHH จะถือร้อยละ 40 AIIP จะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าที่ผลิตในเมียนมาและการนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์เสริมที่จำเป็น นอกจากนี้ยังจะเปิดใช้เส้นทางเดินเรือที่เชื่อมต่อโดยตรงกับท่าเรือในและต่างประเทศ EFR ให้บริการโลจิสติกส์รวมถึงการขนส่งการขนส่งทางอากาศ คลังสินค้า การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และการกระจายสินค้า จนถึงช่วงการระบาดของ COVID-19 EFR ได้พัฒนาโครงการที่สำคัญ 2 โครงการ Hlaing Inland Terminal และ Logistic Center มีมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐในย่างกุ้งจะประกอบไปด้วยศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้าทัณฑ์บน (bonded warehouse ) คลังสินค้าภายในประเทศและอาคารสำนักงาน 7 ชั้นบนพื้นที่ 40 เอเคอร์ และกำลังสร้างศูนย์กระจายสินค้าในมัณฑะเลย์อีกด้วย

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/local-firms-develop-new-commercial-port-ayeyarwady.html

บริษัทในย่างกุ้งทั้งหมดต้องชำระภาษีอิเล็กทรอนิกส์ภายในเดือนตุลาคมนี้

จากข้อมูลของกรมสรรพากร (IRD) บริษัททั้งหมดในย่างกุ้งจะต้องยื่นภาษีทางออนไลน์ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีการค้าหรือภาษีสินค้าพิเศษผ่านระบบการชำระเงินผ่านมือถือโดยเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 63 ผู้เสียภาษีจะสามารถชำระภาษีผ่านบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต แอปธนาคารบนมือถือ และบัตรเดบิตขององค์กรที่ออกโดยสมาคมระบบการชำระเงินของเมียนมา (MPU) โดยได้เชื่อมต่อกับธนาคาร 5 แห่ง เช่น  CB Bank และ KBZ ปัจจุบันมีการนำส่งรายได้จากภาษี 50,000 ล้านจัต ผ่านระบบออนไลน์ ผู้ที่จ่ายภาษีเงินได้ ณ สำนักงานสรรพากรจะต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการโอนบัญชีธนาคาร ธุรกิจต่างๆ จะนำระบบการชำระภาษีบนมือถือมาใช้แทนสมุดบัญชีเงินฝากแบบเก่า

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/all-yangon-firms-must-use-e-tax-payment-october.html

โควิดฉุดยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน ครึ่งปี หด 9.18% พาณิชย์ เร่งสปีดเปิดด่านเพิ่ม

กรมการค้าต่างประเทศ เผยสถิติการค้าชายแดน-ผ่านแดน 6 เดือนของปี 2563 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 627,480 ล้านบาท ลดลง 9.18% จากปัญหาโควิด-19 พร้อมจากนี้ กรมฯดันเปิดด่านค้าชายแดนให้เพิ่มจากปัจจุบัน 40 จุด มาเลเซียยังครองแชมป์ค้าชายแดนสูงสุด สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) ในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 63 พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการค้ารวม 109,401 ล้านบาท (ลดลง 26.81%) รองลงมาคือ สปป.ลาว มูลค่า 92,285 ล้านบาท (ลดลง 7.09%) เมียนมา มูลค่า 86,744 ล้านบาท (ลดลง 13.65%) และกัมพูชา มูลค่า 82,023 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.27%) เรียงตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้า สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่นๆ เมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล และปูนซีเมนต์ และกัมพูชา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าปศุสัตว์ และรถยนต์นั่ง ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านแดนประเทศเพื่อนบ้านไปยัง จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในช่วง ม.ค.- มิ.ย. 63 พบว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 109,896 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16.00%) รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 41,694 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.70%) เวียดนาม มูลค่า 29,900 ล้านบาท (ลดลง 23.89%) และประเทศอื่นๆ มูลค่า 75,537 ล้านบาท (ลดลง 16.78%) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สดฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และยางพารา สิงคโปร์ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และแผงวงจรไฟฟ้า และเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นฯ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ ปัจจุบันไทยได้เปิดจุดผ่านแดน (จุดผ่านแดนถาวร/จุดผ่านแดนชั่วคราว/จุดผ่อนปรนการค้าและการท่องเที่ยว/จุดผ่อนปรนพิเศษ) 40 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จังหวัดสระแก้วได้มีประกาศเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านตาพระยา และบ้านหนองปรือ รวมทั้งได้มีมาตรการผ่อนคลายจุดผ่านแดนที่เปิดอยู่แล้วอีก 2 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ และจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อ.คลองหาด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา จุดผ่อนปรนการค้าบ้านยักษ์คุ จังหวัดอำนาจเจริญ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการร่วมกันผลักดันให้มีการกลับมาเปิดทำการจุดผ่อนปรนการค้ากิ่วผาวอก อ.เชียงดาว และบ้านหลักแต่ง อ.เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ปัจจุบันจุดผ่อนปรนการค้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าวปิดทำการเนื่องจากฝ่ายเมียนมาไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกด้วยเหตุผลความมั่นคงภายใน

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-506891