ภูมิภาคพะโคดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก

U Ko Ko Latt ผู้อำนวยการคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทประจำภูมิภาคพะโค กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ภูมิภาคพะโคมีโครงการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 1.622 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้อนุมัติธุรกิจต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้เพิ่มเงินลงทุนเดิมจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2566 นอกจากนี้ หน่วยงานระดับภูมิภาคยังมีความกระตือรือร้นที่จะเชิญนักลงทุนภายนอกให้ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร การผลิตปุ๋ย และการจัดตั้งห้องเย็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรแบบอเนกประสงค์และการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 197.117 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศในภูมิภาคพะโค 75,456.275 ล้านจ๊าด ส่งผลให้มีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 11,281 คน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bago-region-attracts-substantial-foreign-investments-approves-additional-funding-for-industrial-business/#article-title

ADB อนุมัติเงินกู้ 50 ล้านดอลลาร์ หนุนการปรับปรุงการจัดการทางด้านการเงินกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนการปรับปรุงระบบการจัดการการเงินสาธารณะ (PFM) ของกัมพูชา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างความร่วมมือทางการเงินร่วมกันในระดับชาติและระดับภูมิภาค นับตั้งแต่ปี 2008 รวมถึงเสริมสร้างการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานในการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงิน และเพิ่มการกำกับดูแลการใช้จ่ายสาธารณะ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501397705/adb-approves-50-mln-loan-to-improve-cambodias-financial-management/

นายกฯ ฮุน มาเน็ต ยันเศรษฐกิจกัมพูชาปีนี้โต 5.6%

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ประกาศคงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ภายในปี 2024 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการก่อสร้างที่เริ่มเห็นการเติบโต ขณะเดียวกันทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพื่อที่จะลดการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักในปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้กัมพูชายังเป็นสมาชิกข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) และข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501397374/pm-hun-manet-reaffirms-cambodias-growth-for-this-year-is-at-5-6-percent/

สนค. เผยปรับค่าจ้างส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากดีกับ ศก.

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_646179/

‘ผลสำรวจ’ ชี้บริษัทเยอรมนีมองเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางธุรกิจ

หอการค้าเยอรมันในต่างประเทศ (AHK) ประจำประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือน ต.ค. บริษัทเยอรมนีได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำธุรกิจในตลาดเวียดนาม ด้วยจำนวนโครงการ ทั้งสิ้น 26 โครงการ มูลค่าราว 221.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของบริษัท ในขณะที่ยังแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของภาคธุรกิจเยอรมนีที่มีความต้องการขยายการดำเนินธุรกิจในเอเชีย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทเยอรมนีส่วนใหญ่ 42% ให้ความสำคัญต่อตลาดเวียดนามในเรื่องของการผลิตที่หลากหลายและกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม รวมถึงกลยุทธ์การกระจายสินค้า รองลงมา 41% มุ่งเน้นไปที่การขายและการตลาด อย่างไรก็ดียังได้ประเมินถึงความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเยอรมนีมองว่าอุปสงค์โลกมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีความกังวลถึงความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในเวียดนามยังคงประสบปัญหาบางอย่าง ได้แก่ ต้นทุนพลังงานและทรัพยากรการเงิน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637075/german-firms-consider-viet-nam-potential-destination-survey.html

‘ดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์’ ดันเวียดนามให้ปรับตัวสู่ดิจิทัล

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์คอมพิวติ้งของเวียดนาม (VNCDC) และสมาคมอินเทอร์เน็ตเวียดนาม (VIA) เปิดเผยว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดคลาวด์คอมพิวติ้ง และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่เติบโตเร็วสุดในอาเซียน และมีผู้ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 50 ราย ซึ่งการประมวลผลระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเวียดนาม พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ทั้งนี้ นายกฯ ได้อนุมัติโครงการ ‘Digital Transformation’ แห่งชาติ จนถึงปี 2568 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 จำแนกออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล ซึ่งมีกลยุทธ์ภายใต้ชื่อว่า “การก้าวสู่ระบบคลาวด์” นับเป็นโอกาสที่ดีของศูนย์ข้อมูลและคลาวด์คอมพิวติ้งของเวียดนาม ตลอดจนยังผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่สำคัญในอาเซียน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637065/data-centre-cloud-computing-potential-as-viet-nam-moving-digital.html

รัฐบาล สปป.ลาว และองค์กรพันธมิตรเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมสุดยอดทุนมนุษย์ครั้งที่สอง

รัฐบาล สปป.ลาว และองค์กรพันธมิตรเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมสุดยอดทุนมนุษย์ครั้งที่สองในปีหน้า เน้นประเด็นสำคัญด้านโภชนาการ การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน โดยผู้เข้าร่วมได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขที่แสดงให้เห็นว่าภาวะโภชนาการของเด็กชาวลาวลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ทุนมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และสุขภาพที่จำเป็นในการเพิ่มผลผลิตของชาติ เป็นรูปแบบทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตของสังคมในปัจจุบัน สปป.ลาวยังพัฒนาทุนมนุษย์ไม่เพียงพอที่จะก้าวทันประเทศอื่นๆ โดยปัญหาด้านโภชนาการเป็นจุดที่มีความอ่อนแอเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 33 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใน สปป.ลาว มีความสูงต่ำกว่าระดับปกติตามอายุ ในขณะที่ร้อยละ 21 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และร้อยละ 9 สูญเสียน้ำหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนจนและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทและบนที่สูง ตามการระบุของธนาคารโลก จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาล สปป.ลาว มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน การทำให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียนในโรงเรียน และปรับปรุงงบประมาณด้านการศึกษา โดยการประชุมดังกล่าวนี้ จะช่วยดึงความสนใจของสาธารณชนในเรื่องการขาดการศึกษา และการประชุมสมัชชาแห่งชาติที่เพิ่งเสร็จสิ้นได้อภิปรายโดยละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาและเงินทุน หวังว่าการประชุมสุดยอดครั้งที่สองจะมีผลเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_230SecondLao_23.php

สปป.ลาว จัดงานเปิดตัวแคมเปญ Visit Laos 2024 อย่างเป็นทางการ

สปป.ลาว จัดงานเปิดตัวแคมเปญ Visit Laos 2024 อย่างเป็นทางการที่ลานพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีบุคคลสำคัญในรัฐบาล เอกอัครราชทูตต่างประเทศ และสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมงาน โดยนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวเปิดงาน “นี่เป็นปีแห่งการมาเยือนลาว ตั้งแต่ปี 1999 ที่ลาวได้ตั้งชื่อปีแห่งการมาเยือนลาว” โครงการในปีนี้ใช้ธีม “สวรรค์แห่งวัฒนธรรม ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์” โดยมีโลโก้ช้างถือแคนเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง รัฐบาลมองว่าการเยือนลาวเป็นงานที่สำคัญและมีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยนายกฯ ได้กล่าวเพิ่มเติม “ข้าพเจ้าขอเชิญชวนให้พรรคและรัฐทั้งกองทัพ ผู้ประกอบการ และประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศลาวร่วมมือกันจัดงาน Visit Laos 2024 โดยให้ความช่วยเหลือและให้บริการแก่ผู้มาเยือนจากทั่วโลกด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่น นี่เป็นโอกาสในการแสดงวัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานของลาวให้โลกได้รับรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับผู้มาเยือน และกระตุ้นให้พวกเขากลับมาเยือนลาวอีกในอนาคต”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_230VisitLaos_23.php