กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา

นายห่า กิม หงอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่าแอฟริกายังคงเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก ในขณะที่เจ้าหน้าของกระทรวงฯ ได้อธิบายถึงข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก หดตัว 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนประชาชนแอฟริการาว 1 พันล้านคน และความพร้อมของเวียดนามที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามควรใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสินค้าเกษตรไปยังตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคาสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-promote-agricultural-exports-to-africa/270581.vnp

‘ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม’ พุ่งแซงไทย

จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 117 เหรียญสหรัฐต่อตัน แซงหน้าข้าวไทย และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ต.ค. พบว่าราคาส่งออกข้าวเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะราคาข้าวหัก 5% ที่เพิ่มสูงขึ้น 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน อยู่ที่ 653 เหรียญสหรัฐ แซงหน้าข้าวไทยที่ 92 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทางการอินเดียห้ามการส่งออกข้าวเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 15 ปี

นอกจากนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 7.1 ล้านตัน มูลค่าราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% และ 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

ราคาถั่วลิสงเมียนมามีแนวโน้มลดลงท่ามกลางความต้องการจากต่างประเทศ

ตามข้อมูลของตลาดค้าส่งมัณฑะเลย์ เมียนมามีการส่งออกเมล็ดพันธุ์น้ำมัน ได้แก่ เมล็ดงา และถั่วลิสง ไปยังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ราคาถั่วลิสงแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 7,550-11,000 จ๊าดต่อ viss เนื่องจากมีอุปสงค์จากต่างประเทศและในประเทศที่แข็งแกร่ง ณ ปัจจุบัน ราคาลดลงอยู่ในช่วงระหว่าง 5,500 จ๊าดต่อ viss ถึง 6,100 จ๊าดต่อ viss ในตลาดภายในประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ของถั่ว ทั้งนี้ หากไม่มีอุปสงค์จากต่างประเทศ ราคาถั่วลิสงจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีถั่วลิสงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใกล้พื้นที่มัณฑะเลย์ และได้เข้าสู่ศูนย์ค้าส่งมัณฑะเลย์แล้ว ในขณะเดียวกันอุปสงค์ของผู้ซื้อรายใหญ่จากจีนก็ค่อนข้างจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาถั่วลิสงจะลดลง แต่ราคาน้ำมันถั่วลิสงก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย และยังคงมีราคาสูงกว่า 15,000 จ๊าดต่อ viss

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/peanut-prices-on-downward-trend-amid-lack-of-foreign-demand/#article-title

‘สมาชิกสภาแห่งชาติลาว’ ขอรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเงินตราต่างประเทศ

สมาชิกสภาแห่งชาติลาว กล่าวในการประชุมสามัญครั้งที่ 6 ขอให้รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ควรทำผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการตรวจสอบการใช้สกุลเงินต่างประเทศโดยผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การชำระค่าสินค้านำเข้าควรดำเนินการผ่านระบบธนาคาร และควรเก็บบันทึกรายรับที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศและการโอนไปยังประเทศอื่น อีกทั้งยังเสนอแนะว่าควรมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบธนาคารให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากร้านแลกเงินเอกชนบางแห่งยังคงเปิดดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อยู่ รวมถึงยังขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ควบคุมการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาและการชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า

ที่มา : https://english.news.cn/20231102/03a14c21757f49faac6caa12a1d0f976/c.html

‘ภาคบริการ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ สปป.ลาว

คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว เผยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ สปป.ลาว ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.4% โดยการค้าส่งและค้าปลีก การขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดีที่สุด ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจภาคบริการขยายตัว 5.6% ซึ่งมีส่วนทำให้ GDP สปป.ลาว ขยายตัวได้ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษี ขยายตัว 3.9%, ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.5% ภาคเกษตรกรรมและการป่าไม้ ขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองที่แข็งแกร่งและความสงบเรียบร้อยทางสังคม ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 5% ตามมาด้วยภาคบริการ ขยายตัว 4.8% ภาษีและศุลกากร ขยายตัว 3.9% และภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.6% หากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ GDP สปป.ลาว ปี 2567 จะมีมูลค่า 293,786 พันล้านกีบลาว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 1,787 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.news.cn/20231102/f12f1f851a9440fc92b266c671b19d89/c.html

‘ศก.ดิจิทัลเวียดนาม’ ปี 68 มูลค่า 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานประจำปีของกูเกิล (Google), เทมาเส็ก (Temasek) และ Bain & Company เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2566-2568 คาดว่าจะขยายตัว 20% ต่อปี และมีมูลค่ารวมประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยการขยายตัวของการชำระเงินทางดิจิทัลในเวียดนาม เป็นผลมาจากการได้รับแรงหนุนจากการส่งเสริมของภาครัฐฯ การลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ และความนิยมในการใช้จ่ายผ่าน QR Code

ที่มา : https://www.reuters.com/article/southeast-asia-digital-economy-vietnam/vietnams-digital-economy-on-track-to-reach-around-45-bln-by-2025-industry-report-idINL4N3C20Y0

‘การท่าเรือเวียดนาม’ ชี้ 10 เดือนแรกปีนี้ ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือฟื้นตัว

กรมเจ้าท่าเวียดนาม (VMA) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเวียดนาม มากกว่า 624.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงเล็กน้อย 1% แต่การนำเข้ามีการเติบโตที่แข็งแกร่งราว 5%

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ผ่านท่า 565 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% การส่งออก 132 ล้านตัน ลดลง 1% ในขณะที่การนำเข้า 165 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5%

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

9 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 2.8 พันล้านดอลลาร์

กรมสรรพากรกัมพูชา (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่มูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากมูลค่า 2.68 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ครอบคลุมเป้าหมายการจัดเก็บภาษีประจำปีที่ร้อยละ 78.5 ของแผนการจัดเก็บภาษี โดยการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากทางการกัมพูชาได้ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ ผ่านการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้อย่างระบบ Tax Administration 3.0 เพื่อให้ทัดเทียมกับระบบที่นานาชาติได้มีการนำมาปรับใช้ สำหรับในปี 2022 GDT จัดเก็บภาษีได้มูลค่า 3.45 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 122 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีประจำปี แต่ถึงอย่างไรก็ตามจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษีประจำปีต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384998/tax-collection-hits-2-8-billion-in-nine-months/

การค้าระหว่าง เวียดนาม-กัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับสามของกัมพูชา และใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ภายในปี 2022 โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.25 สำหรับการนำเข้าของกัมพูชาจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเช่นกันกว่าร้อยละ 26.20 ส่งผลทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้าระหว่างเวียดนามที่มูลค่า 1.799 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 55.25 ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าหลักที่กัมพูชาทำการนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ ผ้าถักที่ทำจากยางเบามูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ ปิโตรเลียมกลั่นมูลค่า 396 ล้านดอลลาร์ และแท่งเหล็กดิบมูลค่า 296 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของเวียดนามไปยังกัมพูชาขยายตัวขึ้นทุกปีจากมูลค่า 217 ล้านเหรียญดอลลาร์ในปี 2000 เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 4.91 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่ารวมกว่า 2.03 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384968/vietnams-trade-with-cambodia-on-upward-swing/