‘อุตฯ เมียนมา’ เผยเดือน เม.ย. ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการของเมียนมา (DICA) เปิดเผยข้อมูลทางสถิติในเดือน เม.ย. 2566 ว่าภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับเพิ่มเงินลงทุนจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการจีนรายหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของเมียนมา ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งสิ้น 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มี.ค.) การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 271.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีโรงงานผลิตกว่า 541 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-manufacturing-sector-attracts-3-7-mln-in-april/#article-title

VinaCapital มองเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนจากต่างประเทศ

Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุน Vinacapital กล่าวว่าการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังเวียดนาม เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าแรงจูงใจทางด้านภาษีไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัจจัยในการดึงดูดให้มีการตั้งโรงงานในเวียดนาม ตามการวิเคราะห์บ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยง 2 ประการที่อาจมีผลกระทบต่อการไหลเข้าของ FDI ในอนาคต ดังต่อไปนี้ ประการแรก เวียดนามอาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในฐานะจุดหมายปลายทาง FDI เมื่อเทียบกับประเทศอินเดีย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ประการที่สอง คือ อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกฉบับใหม่ที่จะลดความน่าดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยจำกัดการจูงใจทางด้านภาษีแก่นักลงทุน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

‘เวียดนาม’ เป็น 1 ใน 6 ตลาดท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของไทย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย จีน อินเดียและเวียดนาม เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในปีนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 5.3 ล้านคนในปีนี้ ตามมาด้วยชาวซาอุดีอาระเบีย 150,000 คน และชาวยุโรป 6 ล้านคน นอกจากนี้ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองว่าการททท. กล่าวในงาน “Amazing Thailand Festival 2023” ที่จัดขึ้น ณ นครโฮจิมินห์ ว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 6 ตลาดท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แสดงให้เห็นจากข้อมูลพบว่าไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.47 ล้านคน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม 84,221 คน และหากพิจารณาข้อมูลสะสมตั้งแต่ต้นปีนี้ ประเทศไทยทำรายได้จากการท่องเที่ยว อยู่ที่ราว 391 พันล้านบาท (11.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-six-largest-thai-tourism-markets-2146203.html

‘Apple’ มองเวียดนามขึ้นแท่นตลาดร้อนแรงในเอเชีย

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีสหรัฐฯ ‘แอปเปิล’ (Apple) ได้เปิดตัวร้านค้าออนไลน์ในเวียดนาม เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของเวียดนามที่มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลโดยตรง การเปิดตัวในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดร้านค้าปลีกแห่งแรกในอินเดีย ทำให้บริษัทรับทราบถึงความต้องการของตลาดเกิดใหม่ โดยตลาดต่างๆ ได้แก่ เวียดนาม อินเดียและอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นแก่แอปเปิล เนื่องจากตลาดจีนชะลอตัวลง ทั้งนี้ คุณ Chiew Le Xuan นักวิเคราะห์ของ Canalys มองว่าการเปิดร้านค้าออนไลน์ของแอปเปิลในเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ต้องการที่จะเชื่อมโยงกับตลาดเกิดใหม่มากขึ้น และยังมุ่งมั่นในการเข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งการส่งเสริมการจัดจำหน่ายและเครือข่ายผู้ค้าปลีก โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-emerges-as-a-rising-market-for-apple-post1021861.vov

‘อาเซียน’ จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับเมียนมา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม การประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาร์ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด เห็นได้ชัดว่ารู้สึกผิดหวังที่ความพยายามของผู้นำอาเซียนไม่ได้มีผลตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดี นางเริตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย มองไปในทิศทางที่ดีมากกว่าถึงความคืบหน้าในการเข้าช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและอยู่ในช่วงเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่บทเรียนสำคัญของประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ การจัดการกับความขัดแย้งในเมียนมา ทั้งการใช้กำลัง ความกล้าหาญ สติปัญญาและวิสัยทัศน์ของกลุ่มไปพร้อมๆ กัน ซึ่งช่วยให้สามารถเล่นบทเบาหรือหนักได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เมียนมาล้มเหลวในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ (5PC) ดังนั้น กลุ่มอาเซียนจึงยืนหยัดที่จะป้องกันไม่ให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมทางการเมือง ตลอดจนอาเซียนเรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงทุกรูปแบบ

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2576274/asean-must-reengage-with-myanmar

แห่ขอบีโอไอไตรมาสแรก 1.8 แสนล้าน เพิ่ม 77% “เกาหลีใต้” ลงทุนมากสุด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่าสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตัวเลข FDI ในช่วงไตรมาสแรก มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่เลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสแรก มีจำนวน 431 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% เงินลงทุนรวม 123,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1298638