“เอชเอสบีซี” ประเมินศก.เวียดนาม ไตรมาส 2 ปี 66 คงเผชิญความท้าทาย

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) รายงานว่าเศรษฐกิจของเวียดนามได้รับอิทธิผลอย่างมากต่อปัจจัยภายนอกและสถานการณ์การค้าโลก แสดงให้เห็นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ที่หดตัวลง 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตลอดจนยอดการส่งออกที่ลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก โดยจุดอ่อนหลักที่สร้างผลกระทบไปยังวงกว้าง คือ สินค้าที่ทำการซื้อขายระหว่างประเทศ อาทิเช่น สิ่งทอ รองเท้า สมาร์ทโฟนและเฟอร์นิเจอร์ไม้ สินค้าดังกล่าวตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ดัชนี PMI ส่งสัญญาณเริ่มต้นอยู่ในระดับทรงตัว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจนกว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดีถึงแม้การเติบโตเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1531980/viet-nam-continues-to-face-challenges-in-q2-2023-hsbc.html

“เมียนมา” เผยการค้าระหว่างประเทศ ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 เม.ย. เปิดเผยว่ายอดการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา มีมูลค่าอยู่ที่ 1.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกกว่า 606.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการนำเข้า 1.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อด่านชายแดนของเมียนมาและจีนกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดการค้าชายแดนพุ่งสูงขึ้นแตะ 503.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าทางทะเลของเมียนมาที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สัตว์และป่าไม้ แร่ธาตุและสินค้าสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันเมียนมานำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-crosses-us1-bln-as-of-21-april/#article-title

สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 8.3 แสนคน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 831,000 คน หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวยัง สปป.ลาว ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายัง สปป.ลาว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ที่จำนวน 211,898 คน เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยกระทรวงข่าวสาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ระบุว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยกว่า 344,405 คน, มาจากเวียดนามเกือบ 180,000 คน, จากจีน 143,312 คน, จากเกาหลีใต้ 45,756 คน รวมถึง มาจากสหรัฐอเมริกา 16,998 คน, ฝรั่งเศส 11,418 คน และสหราชอาณาจักร 9,880 คน ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าปริมาณนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามายัง สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเปิดทำการรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน และการผ่อนปรนนโยบายป้องกันโควิด-19 ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten86_Laos_welcomes_y23.php

เวียดนาม-กัมพูชา ตกลงร่วมมือส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

Nguyen Van Hung รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา Thong Khon ณ กรุงพนมเปญ เพื่อทบทวนความร่วมมือทวิภาคีในแง่ของการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาระหว่างกัน ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ลงนามระหว่างกระทรวงทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เชื่อมโยงแหล่งมรดกโลกของเวียดนามและกัมพูชา กำหนดนโยบายซึ่งเอื้อต่อภาคการท่อง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285715/vietnam-cambodia-agree-to-promote-tourism-sports-cooperation/

ความต้องการเครื่องแต่งกายของกัมพูชา ในญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.201 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.68 จากปีก่อน ขณะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 มูลค่าการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นพุ่งแตะ 334.145 ล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวของญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรการส่งออก เคหะสิ่งทอ (Home Textile) ไปยังญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปี 2022 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือมูลค่ารวม 17.327 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ด้วยเครื่องมือ TexPro

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285723/japans-demand-for-cambodian-apparel-grows-home-textiles-lose-ground/

World Bank จัดไทยอันดับ 34 ความสามารถโลจิสติกส์โลก พบอันดับต่ำสุดด้านตรงต่อเวลา

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่าธนาคารโลกหรือว่า World Bank ได้มีการจัดอันทำดัชนีขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ใน 139 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2566 พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 34 โดยมีคะแนนทั้งสิ้น 3.5 คะแนน

โดยในส่วนของรายละเอียดคะแนนนั้น พบว่าไทยได้อันดับในส่วนของศุลกากรอยู่ที่อันดับ 31 อันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 25 อันดับด้านการขนส่งไปยังต่างประเทศอยู่ที่ 22 อันดับด้านการแข่งขันโลจิสติกส์อยู่ที่ 38 อันดับเกี่ยวกับการติดตามสินค้าอยู่ที่ 34 และอันดับด้านความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 46

ทั้งนี้มีประเทศอื่นๆที่มีอันดับ 34 เทียบเท่าประเทศไทยได้แก่ประเทศบาห์เรน ประเทศลัตเวีย และประเทศการ์ตา

ส่วนอันดับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้น พบว่ามีสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งของโลกได้ 4.3 คะแนน ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ได้ 3.6 คะแนน ประเทศเวียดนามกับประเทศฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 43 ได้ 3.3 คะแนน ประเทศอินโดนีเซียได้อันดับที่ 61 ได้  3 คะแนน ประเทศลาวและกัมพูชาได้อันดับที่ 115 ได้ 2.4 คะแนน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/118222-isranews-logisticcccc.html

“เวียดนาม” คาดได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนจากตลาดอียู

สำนักงานการค้าเวียดนามในประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่าภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่สหภาพยุโรปได้กำหนดไว้ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าอุตสาหกรรมของเวียดนามที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) บังคับใช้ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ภายใต้กฎระเบียบใหม่นั้น กลุ่มสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้ กลไกดังกล่าวจะเริ่มต้นมาจากกลุ่มสินค้าที่มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) จำนวนมาก ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียมและไฟฟ้า มีสัดส่วนรวมกันราว 94% ของการปล่อยคาร์บอนของทั้งทวีป อย่างไรก็ดี สำนักงานการค้าเวียดนาม ระบุว่าผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์และปุ๋ยของเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-likely-to-be-impacted-by-eu-carbon-tax-post1017645.vov

“สมาคมเหล็กเวียดนาม” เผยเหล็กก่อสร้าง ราคาลดลงต่อเนื่อง

สมาคมเหล็กเวียดนาม (Vietnam Steel Association) เปิดเผยว่าความต้องการเหล็กทั่วโลกได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน นอกจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาว่าอัตราเงินเฟ้อจะถูกควบคุมและอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาลดราคาสินค้า รวมไปถึงราคาวัตถุดิบที่ลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธุรกิจเหล็กในประเทศปรับลดราคาเหล็กก่อสร้างลงมาอย่างต่อเนื่อง ราว 50 – 450 ดองต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 14,720 ดอง (0.62 ดอลลาร์สหรัฐ) – 15,660 ดอง (0.66 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและประเภทสินค้า นับว่าเป็นการลดราคาเหล็กก่อสร้างเป็นครั้งที่ 4 ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดการณ์ว่าตลาดเหล็กก่อสร้างจะเผชิญกับอุปสรรคไปจนถึงสิ้นปี

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/price-of-construction-steel-continues-downwards.htm